วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มีอะไรใน CPALL?

มีอะไรใน CPALL?

7-112
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นที่ถูกคนในตลาดหลักทรัพย์จับตามองมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “CPALL Super Stock ยอดนิยมของวีไอ และนักลงทุนไทยหลายคน
ประเด็นที่เกิดขึ้นกับ CPALL ตลอดทั้งสัปดาห์ อาจกล่าวได้ว่าล้วนเป็นประเด็นลบ สืบเนื่องจากการกู้เงินเตรียมเข้าซื้อ MAKRO ด้วยราคาสูงลิบลิ่ว ถึง 787 บาท ต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 188,880 ล้านบาท
แต่แล้ว บริษัทค้าปลีกชื่อดังก็เหมือนโดนแจ็คพ็อตเข้าอย่างจัง เมื่อสหรัฐฯ ประกาศว่าเตรียมจะลดมาตรการ QE และอาจจะยกเลิกในปีหน้า ซึ่งทำให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมหาศาล ส่งผลให้หุ้นตกระเนระนาด ค่าเงินบาทอ่อนลง และเก็งกันว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะกลายเป็นขาขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยในเมืองไทยคงหนีไม่พ้นต้องปรับขึ้นเช่นกัน แม้ กนง.เพิ่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ก็ตาม
ไม่แจ็คพ็อตได้ไงครับ CPALL เพิ่งไปกู้เขามาเป็นดอลล่าร์ โดย Fix อัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 28.618 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์ ในวันที่ 23 เม.ย. ขณะทำสัญญา (ภายใต้เงื่อนไขบางประการ) อยู่ๆ บาทที่แข็งอยู่เป็นปีๆ ก็อ่อนยวบ จาก 28 ปลายๆ กลายเป็น 31 กว่าๆ ก็เท่ากับว่าต้องใช้หนี้มากขึ้น ไหนจะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอีก
ซึ่งทำให้หลายคนเป็นกังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะมือใหม่ที่เพิ่งเข้าไปซื้อหุ้นตัวนี้ได้ไม่นาน หรือคนที่มีหุ้นตัวนี้อยู่ในพอร์ตมากๆ!!
ในเรื่องเหล่านี้ ผมขออรรถาธิบายให้ชัดเจนไปทีละประเด็นนะครับ
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า เงินกู้ที่ CPALL ใช้ซื้อ MAKRO นั้น เรียกว่า “Bridging Loan”
Bridging Loan เป็นเงินกู้ก้อนแรกที่ “ผู้ซื้อ” กู้จากสถาบันการเงินเพื่อเอาไปซื้อกิจการ เป็นเงินกู้ “เฉพาะหน้า” เพื่อเอาไปจ่ายให้ผู้ขาย (ถ้าไม่มีเงินจ่ายเขาก็ไม่ขายให้) จึงมักตกลงระยะเวลากันเพียงสั้นๆ เช่น 1 ปี ทั้งนี้ ดอกเบี้ยสำหรับ Bridging Loan มักจะแพง เพราะเป็น “เงินด่วน”
จากนั้น พอครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา เช่น เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ผู้ซื้อก็จะ “Refinance” เงินกู้ก้อนนี้ หมายถึงการไปกู้จากสถาบันการเงินอื่น มาใช้หนี้สถาบันการเงินเดิม ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการตกลงเงื่อนไขกันใหม่หมด
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ CPALL “เงินกู้ก้อนแรก” หรือ Bridging Loan ที่กู้มาซื้อ MAKRO นั้น ยังไม่ทราบว่าได้ Fix อัตราดอกเบี้ยไว้หรือไม่ ดังนั้น ในระยะสั้น เรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสกลับเป็นขาขึ้น จึงบอกไม่ได้ว่าจะส่งผลลบต่อ CPALL ขนาดไหนอย่างไร
ทว่าในระยะยาว หลังจากได้เงินกู้ก้อนใหม่มาแล้ว หากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจริง อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้น ต้องรับภาระหนักขึ้นแน่นอน เมื่อ “ดอกสูง” ก็ต้อง “จ่ายแพง” เป็นเรื่องธรรมดา (นี่ยังไม่พูดถึงค่าเงิน)
ต้องไม่ลืมนะครับว่า สมัยที่เงินฝรั่งไหลเข้า เงินทองเป็นของหาง่าย จะกู้จากไหนก็ไม่ยาก มีคนพร้อมจะปล่อยกู้ให้เต็มไปหมด แต่หากวันใดฝรั่งถอนเงินออก เงินที่เคยหาง่ายก็ย่อมหายากขึ้น คนที่เคยปล่อยกู้ให้ง่ายๆ ก็ย่อมเพิ่ม “เงื่อนไข” และเพิ่ม “ราคา” ในการให้ยืมเงินนั้น
เอาล่ะ..ทีนี้ มาว่ากันถึงอีกประเด็นหนึ่งที่คนค่อนข้างห่วงกันมาก คือเรื่องของ “ค่าเงิน”
ปัญหาของ CPALL ที่เกิดขึ้นคือ มีข่าวว่า CPALL ทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับ Bridging Loan ข้างต้นไว้ไม่หมด บ้างก็ว่าประกันไว้เพียง 60% (ข้อมูลนี้ไม่ยืนยัน เป็นเพียง “เขาว่ากัน”) ซึ่งย่อมทำให้บริษัทเกิดการ “ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน” อันเนื่องมาจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว จาก 28 บาทปลายๆ กลายเป็น 31 บาทกว่าๆ ในระยะเวลาไม่กี่เดือน
ตามมาตรฐานบัญชีปกติ หากมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทจะบันทึกรายการเป็น “รายได้” ในงบกำไรขาดทุน แต่หากมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จะต้องบันทึกรายการเป็น “ค่าใช้จ่าย” ในงบกำไรขาดทุน
คำถามที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือ CPALL สามารถที่จะไม่บันทึกรายการ “ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน” ลงไปในงบกำไรขาดทุน โดยเอาผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไปหักออกจาก “ส่วนของผู้เป็นเจ้าของ” ในงบแสดงฐานะการเงินโดยตรง ไม่ต้องผ่านงบกำไรขาดทุน ได้หรือไม่?
ทั้งนี้ หากทำได้ ก็จะทำให้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ไปกระทบตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานปกติ อันจะทำให้ตัวเลข “กำไรต่อหุ้น” หรือ EPS ไม่ลดลง
พูดง่ายๆ ก็คือ ใช้เทคนิค ทำให้ตัวเลขกำไรออกมาสวยๆ
คำตอบก็คือ ที่จริงแล้ว มีเทคนิคในการบันทึกบัญชีหลายวิธี ที่สามารถ “ตีความ” ให้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน กลายเป็นรายการประเภทอื่นได้ แต่หากทำเช่นนั้น ย่อมจะถูกเขียนเครื่องหมายคำถามตัวเบ้อเริ่ม ต่อ “ธรรมาภิบาล” ของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่า CPALL ต้องการจะทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ และหากต้องการ จะทำได้หรือไม่ ที่พูดๆ กันอยู่ยังเป็นเพียงกระแสข่าว คือกระทบนั้นกระทบแน่ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะแก้อย่างไร และสำหรับเงินกู้ในระยะยาว บริษัทจะมีนโยบายเฮดจ์ค่าเงินไว้แค่ไหนอย่างไร
teetak3
ส่วนประเด็นสุดท้าย คงหนีไม่พ้น “ข่าวลือชวนหัว” ที่ว่า ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นแบบวีไอไทย“ขาย CPALL หมดพอร์ต”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด เมื่อเช้าวันที่ 24 มิ.ย. อาจารย์นิเวศน์ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุทาง FM 96.5 โดยปฏิเสธชัดเจนแล้วว่า เป็นเพียง “ข่าวลือ” ที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ท่านยังถือโอกาส “เลคเชอร์” สอนนักลงทุนด้วยว่า ไม่ควรตื่นตกใจไปกับข่าวลือ เพราะเรื่องของข่าวลือนั้น ต่อให้เป็นเรื่องจริงก็ตาม ในเวลาที่เราได้ยินมัน ก็มักจะช้าไปเสียแล้วที่จะ Take Action ใดๆ การ React ต่อข่าวลือ จึงไม่มีประโยชน์อันใดเลย
และนี่คือการวิเคราะห์ประเด็นข่าวเกี่ยวกับ CPALL ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แบบ “ชี้ชัด” และ “ใช้เหตุผล” มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับหลายๆ ท่านนะครับ
สุดท้าย ที่ต้องเตือนกันก็คือ ในภาวะที่หุ้นตกอย่างน่ากลัว ทำให้นักลงทุนตื่นตกใจได้ง่าย ธรรมชาติของปุถุชน เดินอยู่ในป่าช้าคนเดียว แม้เห็นเงาตัวเองยังอกสั่นขวัญหาย พอมีข่าวลือมากระทบหูกระทบใจก็ยิ่งเตลิดเปิดเปิง
นักลงทุนตัวเล็กๆ อย่างเราๆ เมื่อพายุพัดมารุนแรง ยิ่งต้องตั้งสติให้มั่น จะ “ขาย” จะ “ถือ” หรือจะ “ซื้อเพิ่ม” ก็ตามแต่ ต้องเป็นการกระทำจากการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองเท่านั้น
แม้รายย่อยอย่างเราจะเป็นเพียง “ต้นหญ้า” ก็ขอให้เป็นหญ้าที่เป็น “รากแก้ว” ตัวเล็กไม่ว่า แต่ต้องหนักแน่น มั่นคง อย่าเอาแต่ซื้อขายตามข่าว ทำตามฝูงชน พอหุ้นตกก็โทษดินโทษฟ้า โทษเซียน แบบนั้นไม่ได้เรื่องแน่
จงยืนหยัดอยู่กับเหตุผล รู้จักค้นคว้าหาข้อมูล ที่สำคัญคือ ต้อง “ไม่ท้อ” จึงจะเอาตัวรอดได้อย่าง “วีไอพันธุ์แท้” ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น