กลุ่มทุนค้าปลีกเคลื่อนทัพ ยึดพื้นที่ทำเลทอง เตรียมปักธงศูนย์การค้าบิ๊กไซซ์ เดินเกมประกาศชัด "จองแล้ว" ยุทธศาสตร์หลักตีกันคู่แข่งไม่ต้องเข้ามา "อิเกีย" ไล่เก็บที่ดินกว้านซื้อแปลงใหญ่ยึดกรุงเทพฯตะวันตกและกรุงเทพฯตอนเหนือเบ็ดเสร็จ เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-ทุนอสังหาฯเร่งสปีดปักธง ถึงก่อนมีสิทธิ์ก่อน

การเปิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ครบวงจรด้วยสินค้าและบริการเต็มรูปแบบ ชนิด "วันสต็อปช็อปปิ้ง" กลายเป็นโมเดลที่กลุ่มทุนค้าปลีกรายใหญ่ รวมทั้งกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ที่พยายามจะขยายอาณาจักรเข้ามายังธุรกิจศูนย์การค้าต่างก็สนใจและเลือกจะลงทุนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย

ความเคลื่อนไหวในการเปิดแผนการลงทุนดังกล่าวนอกจากจะเป็นการชิงภาพความเป็นผู้นำในธุรกิจ แล้วอีกด้านหนึ่งการประกาศ "ปักธง" เพื่อจับจองทำเลทองของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ยังเป็นเสมือนการปักหมุดที่ต้องการสื่อไปถึงคู่แข่งว่า
"ที่ตรงนี้...จองแล้ว"

นายนพพร วิฑูรชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือเอสเอฟ กล่าวว่า จากนี้ไปภาพการลงทุนของสยามฟิวเจอร์ฯอาจนิ่ง ๆ ไม่มีความเคลื่อนไหวลงทุนโครงการใหม่ ๆ นัก เนื่องจากตอนนี้ทีมงานได้เทน้ำหนักไปยังโครงการใหม่ที่เป็นการร่วมกับพาร์ตเนอร์ "อิคาโน่" สำหรับการเตรียมการเปิดอิเกียสาขา 2 และ 3 ซึ่งขณะนี้ได้ซื้อที่ดินสำหรับการลงทุนรอบใหม่ไว้แล้ว โดยพื้นที่ดึงกล่าวอยู่ในย่านกรุงเทพฯฝั่งตะวันตกและกรุงเทพฯตอนเหนือ

นายนพพรระบุด้วยว่า ปีหน้าการลงทุนของสยามฟิวเจอร์ฯมีเปิดเพียงแห่งเดียว คือ นวมินทร์ซิตี้ อเวนิว เฟส 2 และเตรียมพัฒนาศูนย์การค้าขนาด 6,000 ตร.ม. บนเนื้อที่ของโครงการลุมพินี (แอลพีเอ็น) ที่รังสิต คลอง 1 ซึ่งจะเปิดในปี 2557 เท่านั้น เนื่องจากทรัพยากรทั้งหมดของบริษัทนำไปใช้สำหรับการลงทุนโครงการใหม่ อิเกีย และรายได้กว่า 50% เอสเอฟมาจากการร่วมทุนกับอิเกีย

สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ นายอีเจ มิดล์โฮเวน ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารและออกแบบตกแต่งภายใน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง อิเกีย เอเชีย ภายใต้บริษัท อิคาโน จำกัด ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า บริษัทแม่ได้อนุมัติเงินเพื่อขยายอิเกีย สาขา 2 ในฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ใกล้นครปฐม ซึ่งขนาดที่ดินและมูลค่าลงทุนประมาณ 12,500 ล้านบาท และคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2559

นายชายนิด โง้วศิริมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ฉายภาพแผนการแตกไลน์ธุรกิจที่โดดเข้ามาลงทุนในโครงการค้าปลีกครั้งแรกว่า จะมีทั้งคอมมิวนิตี้มอลล์ขนาด 1-1.5 หมื่น ตร.ม. 2 แห่ง และศูนย์การค้าอีก 2 แห่ง ขนาด 3 แสน ตร.ม. บนถนนรัชดาภิเษก และบนถนนรามอินทรา กม.7 ขนาด 1.5 แสน ตร.ม. ด้วยเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะพร้อมเปิดภายใน 3 ปีจากนี้ ด้วยเป้าหมายภายใน 5 ปีจะมีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีก 5 แสน ตร.ม.

"ขนาดพื้นที่ของโครงการและร้านค้าที่เป็นแม็กเนตถือเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความต่างเหนือคู่แข่ง และที่สำคัญคือการชิงประกาศเปิดตัวก่อนว่าเราจะมาเปิดในย่านดังกล่าว ด้วยศูนย์การค้าขนาดบิ๊กไซซ์ เพื่อบอกคู่แข่งว่าไม่ต้องมาแล้ว มันเต็มแล้วในตอนนี้ เหมือนเรามีที่ดินในย่านบางนา 28 ไร่ เราเตรียมที่จะขึ้นค้าปลีกเหมือนกัน แต่พอคุณแอ๊ว (ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธาน เดอะมอลล์กรุ๊ป) จะมาและมาด้วยโครงการขนาดใหญ่ เราก็ต้องถอย เหมือนตอนนี้ ผมประกาศปักธงในย่านรามอินทรา ด้วยศูนย์การค้า 3 แสน ตร.ม."

แหล่งข่าวในวงการค้าปลีกกล่าวว่า การประกาศแผนลงทุนใหญ่ ๆ มีพื้นที่ขายปริมาณมาก ๆ ของบรรดายักษ์ใหญ่ จะปิดโอกาสคู่แข่งที่จะพัฒนาโครงการขึ้นมาแข่งไปในตัว เพราะผู้เช่าจะเลือกลงทุนเปิดสาขาแห่งเดียวเท่านั้น โดยพิจารณาจากทำเลและชื่อเสียงของผู้ประกอบการเป็นลำดับแรก ตัวอย่างเซ็นทรัลเวสต์เกต บางใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่หลายแสนตารางเมตร คงไม่มีใครกล้าเข้ามาแข่งอย่างแน่นอน

"พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย ศูนย์การค้าใหญ่ ๆ จะดึงลูกค้าได้ดีกว่า ทำให้ทุกรายต้องสร้างสาขาให้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ" แหล่งข่าวกล่าว

ยุทธศาสตร์ "เลือกที่จะสู้"

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ภาพความเคลื่อนไหวทางการลงทุนของค้าปลีกเริ่มเห็นการจับจองพื้นที่โครงการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบการประกาศอย่างเป็นทางการและการซุ่มเงียบเก็บที่ดินลงทุน และเกือบทั้งหมดล้วนเป็นภาพของโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ เซ็นทรัลพัฒนา (ซีพีเอ็น) ที่เตรียมปั้นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ 2 แห่ง บนที่ดินแปลงงาม เซ็นทรัล เฟสติวัล สมุย 37 ไร่ ริมหาดเฉวง และ 70 ไร่ สำหรับเซ็นทรัล พลาซา ศาลายา พุทธมณฑลสาย 5 รวมถึงโครงการเซ็นทรัลเวสต์เกต บนที่ดิน 100 ไร่ บนถนนรัตนาธิเบศร์-บางบัวทอง

นายกอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า ทุกทำเลในเมืองไทยยังคงเป็นโอกาสสำคัญในการเติบโต อยู่ที่ว่าทำเลตรงไหนพร้อมก่อนก็ลงทุนก่อน ตอนนี้ศูนยการค้าที่เปิด 20 กว่าสาขา ส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะใน 10 กว่าจังหวัดเท่านั้น ยังเหลืออีก 60 กว่าจังหวัดที่เป็นโอกาสและเป็นตลาดใหม่ ๆ ของการลงทุน

เช่นเดียวกับการลงทุนของค่าย "เดอะมอลล์ กรุ๊ป" ที่แม้ว่าจะมีภาพการลงทุนโครงการใหม่ ๆ ไม่มากนัก แต่ทุกโครงการล้วนแต่เป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ อาทิ โครงการซุ่มเงียบไล่เก็บที่ดินย่านบางนา อย่างที่คนในวงการรับทราบกัน หรือการร่วมทุนในโครงการบลูพอร์ต หัวหิน ที่เปิดตัวร่วมทุนกับตระกูลลิปตพัลลภ นอกจากนี้ยังมีแผนการลงทุน "เอ็มโพเรียม 2-3" ที่เตรียมปั้นเข้ามาเสริมเอ็มโพเรียม 1 เพื่อทำให้สุขุมวิทเป็นย่านค้าปลีกแห่งใหม่

ก่อนหน้านี้ นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ฉายภาพการลงทุนของกลุ่มเดอะมอลล์ว่า หลักในการทำงานทุกสาขาที่จะไปลงทุน ต้องมั่นใจว่าชนะ อาจด้วยข้อจำกัดของเรื่องทีมงานบุคลากร บวกกับสไตล์การลงทุนที่ระมัดระวังตัว แต่เมื่อได้ตัดสินใจไปแล้ว ทุกสังเวียนการแข่งขันที่ไปต้องมั่นใจ แต่ถ้าสังเวียนไหนรู้ว่าไปแล้วชนะยากก็ไม่จำเป็นต้องไปพร้อมยกตัวอย่างการตัดสินใจลงทุนสาขาหัวหิน เนื่องจากมองเห็นช่องว่างตลาดที่ยังไม่มีคู่แข่ง บวกกับการขยายตัวของหัวหินที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวกว่า 5 ล้านคนต่อปี และหลังจากลงพื้นที่ไปดูทำเลใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน ทำเลสวยมาก หาไม่ได้อีกแล้วที่ดินผืนใหญ่ 25 ไร่ใจกลางเมือง ด้านหน้าติดทะเล ด้านหลังเป็นภูเขาและล้อมรอบถนนหลักทั้ง 4 ด้าน

"หัวหินเป็นการตัดสินใจที่เร็วมาก ถ้าเราไม่มา คู่แข่งก็ต้องมาอย่างแน่นอน และหัวหินเปิดขนาดใหญ่ได้เพียง 1 ก็รองรับตลาดเพียงพอแล้ว ที่สำคัญเป็นตลาดที่กำลังซื้อมีคุณภาพ พอคุณสุวัฒน์ชวนและลงมาดูพื้นที่ก็ไม่ลังเลเลย"

ด้านนางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ และพัฒนาโครงการก่อสร้าง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนาเตรียมลงทุน 1,400 ล้านบาท เปิดโซนพื้นที่ส่วนต่อขยายสำหรับลานแฮงเอาต์ นำร่อง 3 สาขาหลัก คือ Groove @ CentralWorld, The Port @ CentralFestival Samui และ The Blossom @ CentralFestival Chiangmai รวมพื้นที่ 3.8 หมื่น ตร.ม. เพื่อตอบโจทย์คนเมืองและนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงที่ชื่นชอบกระแสไลฟ์สไตล์ ไดนิ่งและการสังสรรค์




โดย ประชาชาติ