ชื่อ:  001.PNG
ครั้ง: 2109
ขนาด:  626.3 กิโลไบต์

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เสี่ยใหญ่แห่งเครือสหพัฒน์ ชื่นชอบการขับเครื่องบินเป็นชีวิตจิตใจ ขับมานานมากกว่า 20 ปี จนทุกวันนี้ แม้อายุทะลุเพดานตัวเลข 75 เสี่ยยังขับเครื่องบินไปดูงาน พานักธุรกิจเยี่ยมชมสวนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสวนอุตสาหกรรมที่ศรีราชา กบินทร์บุรี ลำพูน แม่สอด รวมถึงการเดินทางไปเยี่ยมคู่ค้าในช่วงวันหยุดยาว สะสมชั่วโมงบินนับหลายพันชั่วโมง

ทั้งความชอบ ความหลงใหล และประสบการณ์การขี่นกเหล็กบนเวิ้งฟ้า บุณยสิทธิ์เปรียบเทียบ ทุกนาทีไม่ต่างอะไรจากการทำธุรกิจ เพราะทุกช่วงจังหวะต้องรอบคอบ อาศัยมุมมองหลายมิติ ไม่ใช่แค่ 2 มิติ และที่สำคัญ “พลาดไม่ได้”

“การขับเครื่องบินต้องระมัดระวังที่สุด เมื่อเครื่องบินเมื่อขึ้นสู่ท้องฟ้าจะหยุดเหมือนรถยนต์ไม่ได้ ต้องไปให้ถึงที่หมาย การค้าขายทำธุรกิจก็เหมือนกัน ต้องศึกษาทุกอย่าง เพราะถ้าทำแล้วไม่ดีก็คือพัง ถ้าเราขับเครื่องบิน ต้องเตรียมพร้อม ต้องไปให้ทัน ไปถึงที่หมาย การทำการค้าขายต้องทำให้สำเร็จ ถึงปลายทางให้ได้ ไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆ ทำไม่ได้ ก็คือ เจ๊ง นี่คือทฤษฎี” บุณยสิทธิ์กล่าวกับ ผู้จัดการ360 ํ

และนั่นต้องถือว่า ทฤษฎีการบินแท้ที่จริงเป็นเคล็ดลับสำคัญข้อหนึ่งนอกเหนือจากคำสอนของพ่อที่ทำให้ทุกย่างก้าวของการสร้างอาณาจักรแสนล้านของเครือสหพัฒน์เดินไปอย่างมั่นคง ขยายบริษัทในเครือมากกว่า 300 บริษัท และฝ่าวิกฤตได้ทุกรอบ

บุณยสิทธิ์กล่าวว่าในฐานะนักบินส่วนตัว รักการบิน อยากให้นักธุรกิจมีโอกาสขับขี่เครื่องบินเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เข้าใจทฤษฎีได้อย่างลึกซึ้ง และส่งเสริมวงการบินให้เติบโตมากขึ้น จึงริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนการบินศรีราชาในสวนอุตสาหกรรมศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2547

ในปีแรกๆ เป็นเพียงการเปิดสอนกลุ่มเล็กๆ ระดับนักบินส่วนบุคคล หรือ PRIVATE PILOT LICENCE (PPL) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจระดับเศรษฐี มีฐานะทางการเงิน และต้องการฝึกบินเป็นงานอดิเรก

กระทั่งปี 2550 เกิดความคิดว่า โรงเรียนการบินศรีราชามีความพร้อม ทั้งสนามบิน เครื่องบิน อุปกรณ์การบินและครู น่าจะเปิดหลักสูตรการสอนนักบินอาชีพ เพื่อส่งเสริมธุรกิจการบิน ซึ่งทั่วโลกกำลังเกิดวิกฤตการขาดแคลนนักบิน ดูจากยอดการผลิตเครื่องบินของแอร์บัสและยอดสั่งจองพุ่งพรวดหลายเท่า โดยเฉพาะแถบเอเชีย อย่างสายการบินไลอ้อนแอร์ของอินโดนีเซีย ล่าสุดสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส 200 กว่าลำ โบอิ้ง737 อีก 200 กว่าลำ และในหลายประเทศ รวมทั้งไทยต้องใช้กลยุทธ์ซื้อตัวในอัตราค่าจ้างสูงลิบลิ่ว

ขณะเดียวกัน การใช้ประโยชน์จากเครื่องบินอย่างคุ้มค่า ต้องบินตลอดเวลาและหยุดพักเครื่องเฉพาะการซ่อมบำรุงเท่านั้น หรือเฉลี่ยแล้ว เครื่องบิน 1 ลำ ต้องการนักบินมากกว่า 12-16 คน เนื่องจากนักบินต้องหยุดพัก ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกเจอปัญหานักบินจนทำให้การใช้เครื่องบินยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแท้จริง

ปี 2555 โรงเรียนการบินศรีราชาเริ่มเปิดสอนหลักสูตร COMMERCIAL PILOT (CPL) เป็นใบขับขี่นักบินพาณิชย์ตรี สามารถทำการบินกับเครื่องโดยสารได้ในระดับหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่าเป็น “นักบินที่สอง” โดยสามารถถือใบอนุญาตไปสมัครงานตามสายการบินต่างๆ ได้ทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีบริการรับฝากเครื่องบิน บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน บริการรับซ่อมเครื่องบิน (Repair Station) และบริการชิ้นส่วน โดยได้รับใบอนุญาตเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินขนาดเล็กจากกรมการบินพลเรือน บริการเป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Taxi) ประเภทเช่าเหมาลำพร้อมนักบิน และบริการร่วมสอนโดดร่ม (Sky Diving)

ชูโต จิระคุณากร สถาปนิกรุ่นบุกเบิกสวนอุตสาหกรรมศรีราชาและผู้จัดการฝ่ายโครงการโรงเรียนการบินศรีราชากล่าวว่า โรงเรียนการบินศรีราชาวางแผนเปิดหลักสูตรเต็มเวลา 9 เดือน ชั่วโมงบิน 190 ชั่วโมง ปีละ 3 รุ่น เพื่อผลิตนักบินให้ได้ปีละ 40-50 คน แม้อัตราค่าเรียนเฉลี่ยประมาณ 1.8 ล้านบาทต่อหลักสูตร แต่ถือเป็นอัตราไม่สูงมากเมื่อเทียบกับโรงเรียนแห่งอื่น เนื่องจากมีความพร้อมด้านสนามบินรองรับการฝึก 2 แห่ง ที่ศรีราชา จ.ชลบุรี กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และกำลังขอฝึกที่สนามบิน จ.ขอนแก่น

ที่สำคัญ นักบินที่จบหลักสูตรส่วนใหญ่มีงานทำแน่นอน บางส่วนเป็นนักบินฝึกหัดที่บริษัทสายการบิน เช่น การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส ส่งมาเรียน ซึ่งถือเป็นพนักงานที่มีรายได้ประจำ สามารถผ่อนชำระเงินที่กู้มาเรียนได้ทันที

สำหรับตัวเครื่องบินรองรับการฝึกในปัจจุบันมี 12 ลำ และอยู่ระหว่างสั่งเพิ่มอีก 2 ลำ รวมทั้งอุปกรณ์การบิน โดยลำล่าสุดใช้ชื่อ “BSC” ซึ่งเป็นทั้งชื่อธุรกิจในเครือสหพัฒน์และชื่อรุ่น Bravo Sierra Charlie

ส่วนลำประจำตัวของบุณยสิทธิ์เป็นเครื่องบินใบพัด เครื่องยนต์เดียว CESSNA172RG เป็นลำที่ 2 ของชีวิต ซึ่งเสี่ยใช้ขับบินประจำในช่วงวันหยุดยาว โดยเฉพาะช่วงนี้ถ้ามีเวลาจะบินไปดูสวนอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่อำเภอแม่สอด จ.ตาก และเยี่ยมคู่ค้าแถบอีสาน จ.ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี บินต่อเที่ยวประมาณ 3-3 ชั่วโมงครึ่ง

ทิ้งท้ายคำถามกับเสี่ยบุณยสิทธิ์ว่า ขับเครื่องบินในยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรอบด้าน รู้สึกอย่างไร

เสี่ยบุณยสิทธิ์ตอบชวนให้คิดวิตกว่า ประเทศไทยกำลังเจอมรสุมและตกหลุมอากาศ แต่น่าจะผ่านจนลงจอดได้ ส่วนจะลงแบบตายยกลำ เหลือครึ่งลำหรือรอดหมดแบบปาฏิหาริย์ ใช้เวลาอีกไม่นานคงได้รู้กัน

Category: Cover StoryTags: บุณยสิทธิ์ โชควัฒนาเครือสหพัฒน์aviationโรงเรียนการบินศรีราชา