วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จากนี้ไปไม่เหมือนเดิม

จากนี้ไปไม่เหมือนเดิม

คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 10 คน 

การขายทิ้งหุ้นแบบเทกระจาดของกองทุนเก็งกำไรทั่วโลกในสามสัปดาห์ที่ผ่านมา จากลมปากของผู้ว่าเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟของสหรัฐ เบนจามิน เบอร์นันเก้ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดวาทะกรรมในบรรดานักลงทุนทั้งรายใหญ่ ผู้จัดการกองทุน และนักวิเคราะห์ทั้งหลายว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการปรับฐานแรงกว่าปกติ หรือขาลงกันแน่ แต่ยังทำให้เกิดคำถามใหญ่กว่านั้นว่า บทบาทและอำนาจที่เกินเลยของเฟด ในการจับตลาดเงินและตลาดทุนของโลกเป็นตัวประกันนั้น กำลังเลยจุดสูงสุดแล้วหรือไม่
                วาทะกรรมแรกสุดนั้น ขึ้นอยู่กับการตีความถูกหรือผิด ซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้ทันที ต้องการเวลา
                ข้อเท็จจริงแรกสุดที่ต้องยอมรับกันก็คือ มาตรการ QE ซึ่งมีสาระหลักที่การโอนย้ายภาระหนี้การเงินของเอกชนเป็นหนี้สาธารณะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ย่อยยับ วิธีการก็ง่ายมากและไม่ได้ยั่งยืนถาวร นั่นคือ การที่เฟดพิมพ์ธนบัตรมหาศาลเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (โดยถืออภิสิทธิ์จาการที่เฟด เป็นธนาคารกลางแห่งเดียวในโลกที่พิมพ์ธนบัตรมากน้อยตามใจโดยไม่ต้องมีทองคำสำรองหนุนหลังเหมือนธนาคารชาตื่นในโลก) แล้วเอาเงินดังกล่าวเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ฯลฯ จากธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินของเอกชนทั้งในประเทศและนอกประเทศ
                มาตรการ QE มีเป้าหมายชั่วคราว (แต่ใช้นานมากจนเกือบเคยตัว) เพื่อให้เม็ดเงินใหม่ๆ ที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบการเงินผ่านตลาดเงินและตลาดทุน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ สถาบันการเงินและบริษัทเอกชนเจ้าของตราสารหนี้ ซึ่งขาดสภาพคล่อง สามารถมีสภาพคล่องระลอกใหม่ เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อ หรือนำเม็ดเงินอัดฉีดไปลงทุนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งลงเอยที่การจ้างงานใหม่นั่นเอง ตามสูตร (อุ้มคนรวย เพื่อช่วยคนจน ที่ชอบอ้างกัน)
                ในมุมของการเงินสาธารณะ นี่คือการเพิ่มเพดานหนี้ภาครัฐ ที่อาจจะทำให้เฟดล้มละลายได้ (ข้อมูลล่าสุดคือ เฟดมีส่วนทุนติดลบมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ในมุมมองตลาดเงินตลาดทุน มันคือการเพิ่มปริมาณเงินส่วนเกิน ที่ทำให้มูลค่าหุ้นและตราสารหนี้ในตลาดเฟื่องฟูขึ้นมาในลักษณะฟองสบู่ รวมทั้งทำให้ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราผันผวนรุนแรง
                หลายคนเชื่อว่า การแพร่กระจายของเงินล้นโลกจากสหรัฐทำให้เกิดผลพวง 2 ด้านพร้อมกันคือ ด้านแรก ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ในเอเชียซึ่งมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่าที่อื่นๆ ในโลกกลายเป็นภาวะกระทิงยาวนานหลายเดือนและพุ่งสู่จุดโดดเด่นในไตรมาสแรกของปีนี้ ด้านที่สองทำให้เกิดสงครามค่าเงิน ที่บรรดาขาติมหาอำนาจต่างๆ พากันเร่งพิมพ์ธนบัตร หรือลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อหาทางทำให้ค่าเงินของตนไม่แข็งค่าจนเกินขนาด
                ภาวะกระทิงและความปั่นป่วนจากเงินล้นโลกของ QE จึงเป็นปลายเหตุของปัญหาฐานรากจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐมีวิกฤติจากซับไพร์มเมื่อหลายปีก่อน จนต้องเข้าห้องไอซียู. จนกระทั่งคนตกงานมากกว่า 20 ล้านคน  หรือคิดเป็นอัตรา 7.7 ของจำนวนแรงงานรวมของประเทศ ดังนั้น หากฐานรากอันง่อนแง่นของเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มพลิกกลับ จนไม่จำเป็นต้องนอนไอซียู.อีกต่อไป ประเด็นการดำรงอยู่ขิง QE ก็ต้องปรับตามเป็นเรื่องปกติ
                สิ่งที่เฟดและนายเบอร์นันเก้ พยายามส่งสัญญาณบอกกับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกคือ เศรษฐกิจสหรัฐกำลังออกจากห้องไอซียู.แต่ยังไม่หายป่วย และหากคาดว่าหายป่วยดีแล้ว QE ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งว่าไปแล้วคือสัญญาณดี แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ญาติและคนไข้ซึ่งคุ้นเคยกับการตั้งหน้าตั้งตารอบริเวณห้องไอซียู.มานานมากกว่า 4 ปีแล้ว กลับเกิดมีสภาพจิตสำนึกไม่คุ้นเคย เกิดความกลัวว่า หากออกจากห้องไอซียู.มาแล้ว อาจจะต้องมีปัญหาการดแลมากขึ้นไปอีก
                การขายหุ้นทิ้งเพื่อปรับพอร์ตของกองทุนเก็งกำไรทั้งหลาย โดยอ้างสาเหตุของการชะลอ หรือยกเลิก QE  จึงเป็นการแสดงความกลัวล่วงหน้าที่เปรียบได้กับปริวิตกของญาติคนป่วยห้องไอซียู. ซึ่งเป็นจินตนาการที่ตรงกันข้ามกับสถานการณ์จริงที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวจากเขตอันตรายอย่างช้าๆ เหลือแต่ปัญหาการว่างงานที่ยังคงสูงอยู่ ทำให้ยังไม่หายป่วยเสียทีเดียว ต้องการการดูแลและให้ยาอีกระยะ ก่อนจะออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่บ้าน
                การพ้นอันตรายทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งหมายความว่าจากนี้ไป ภาระหนี้เอกชนจะกลับคืนสู่ต้นทาง รัฐไม่ต้องแบกเหมือนใน 4 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นข่าวดี มากกว่าข่าวร้าย ดังนั้น การเคลื่อนย้ายทุนเก็งกำไรจากตลาดหนึ่งไปยังอีกตลาดหนึ่งจึงเป็นการเคลื่อนตัวที่ไม่มีผลต่อฐานรากทางเศรษฐกิจ ไม่บ่งบอกเลยว่านี่คืออาการเศรษฐกิจพังทลาย ดังนั้น จึงเป็นการปรับฐานแรง ไม่ใช่ภาวะขาลงหรือภาวะหมีของตลาดทุนแต่อย่างใด
                ในทางกลับกัน มันกลับสะท้อนอีกมุมหนึ่งว่า ราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่ถูกเทกระจาดขายในสามสัปดาห์นี้ มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน และจะต้องปรับรับราคาขึ้นอย่างแน่นอนอีกไม่นาน อาจจะปรับมากกว่าราคาสูงสุดที่เคยขึ้นไปมาแล้วก็ได้ เพราะการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัว ย่อมหมายถึงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่พ้น
                ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้อีกด้านหนึ่งของการเทขายหุ้นเทกระจาดรอบนี้ สะท้อนว่า ภาวะที่เฟดจับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกเป็นตัวประกันนั้น ได้เกินเลยเส้นพรมแดนที่ยอมรับได้มากเกินไปแล้ว ดังนั้นปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จึงจะต้องมีการสร้างเกราะกำบังหรือ financial firewall เพื่อหาทางบรรเทาผลพวงจากการเคลื่อนย้ายทุนเก็งกำไรในปริมาณมหาศาลดังที่เกิดเกิดขึ้นในหลายปีนี้อย่างจริงจัง
                ตลาดเงินของชาติกำลังพัฒนา (หรือตลาดเกิดใหม่) ที่มีขนาดเล็ก และมีเกราะกำบังป้องกันตัวเองต่ำเพราะขาดประสบการณ์ อาจจะยังมะงุมมะงาหราในระยะสั้นเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการรับมือการไหลเข้าและไหลออกของทุนเก็งกำไรโดยไม่ให้ป่าเถื่อนตามวิธีการ “หักดิบ” หรือ “หน่อมแน้ม” เหมือนบางชาติชอบกระทำในอดีต จากประสบการณ์ขายเทกระจาดครั้งนี้
                นั่นย่อมหมายความว่า จากนี้ไป จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีก เว้นเสียแต่จะเป็นคนจำพวกเจ็บแล้วไม่จำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น