วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หุ้นเอเชียร่วง! หวั่นสภาพคล่องจีนตึงตัว ฉุดหุ้นเข้าสู่ภาวะหมี QE ป่วนตลาดบอนด์ทั่วโลก

หุ้นเอเชียร่วง! หวั่นสภาพคล่องจีนตึงตัว ฉุดหุ้นเข้าสู่ภาวะหมี QE ป่วนตลาดบอนด์ทั่วโลก

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2556 เวลา 16:52:20 น. 
ผู้เข้าชม : 1131 คน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ (24 มิ.ย.) ล่าสุด ณ เวลา 16.42 น. ตามเวลาไทยส่วนใหญ่ปรับตัวลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลงมากกว่า 5% ตลาดหุ้นฮ่องกง 2.22% ฟิลิปปินส์ 3.41% และไทยก็ปรับตัวลง 2.6% ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปเปิดมาก็ปรับตัวลงเช่นเดียวกันประมาณ 1%
บลูมเบิร์ก ระบุว่า ตลาดหุ้นปรับตัวลงเนื่องจากตลาดหุ้นจีนได้เข้าสู่ภาวะหมีจากความกังวลเรื่องปัญหาสภาพคล่องตึงตัว (cash crunch) จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่บอนด์ปรับตัวลงทั่วโลกจากการคาดการณ์ว่าสหรัฐอเมริกาจะเริ่มลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลง และค่าเงินดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้น
รอยเตอร์ระบุว่า มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ออกแถลงการณ์ในวันนี้ระบุว่าในสัปดาห์ที่แล้วธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ทำให้ตลาดเงินจีนประสบภาวะขาดแคลนเงินทุนในช่วงที่เกิดภาวะตึงตัวตามปัจจัยด้านฤดูกาล และการทำเช่นนี้ก็ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร ณ ตลาดเซี่ยงไฮ้ (SHIBOR) ระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารที่เสนอโดยธนาคารพาณิชย์ 18 แห่งของจีน พุ่งขึ้นสู่ระดับ 13.4 % ในวันพฤหัสบดี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะ 7 วันในตลาดเงินจีนทะยานขึ้นสู่ 11.2 % ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ย SHIBOR ระยะ 1 วัน ร่วงลงสู่ 8.49 % ในวันต่อมา แต่อัตราดอกเบี้ยก็ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมักจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 5 % ในช่วงก่อนเกิด
ภาวะสภาพคล่องหดตัว ซึ่งมูดี้ส์ตีความเหตุการณ์นี้ว่า เป็นผลมาจากการตัดสินใจของธนาคารกลางจีนที่ไม่ต้องการผ่อนคลายภาวะตลาดเงินในช่วงเวลาที่เกิดภาวะตึงตัวตามปัจจัยด้านฤดูกาล โดยถือเป็นแนวทางหนึ่งในการควบคุมการเติบโตของสินเชื่อในจีน
ในขณะที่ตัวเลขสถิติของธนาคารกลางจีนแสดงให้เห็นว่า สินเชื่อขยายตัวอย่างรวดเร็วมากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มูดี้ส์ก็มองว่าเป็นสิ่งที่รอบคอบแล้วที่จีนได้จำกัดการเติบโตของสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสกัดกั้นการก่อหนี้ในระดับที่มากเกินไป และด้วยเหตุนี้ มูดี้ส์ จึงมองว่าความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนถือเป็นปัจจัยบวกต่อความน่าเชื่อถือของระบบธนาคารจีนโดยรวม
อย่างไรก็ดี วิธีการที่ธนาคารกลางจีนเลือกใช้ในการทำให้ระบบธนาคารประสบภาวะขาดแคลนสภาพคล่องนั้น เป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงตามมาเช่นกัน และอาจส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือได้ โดยเฉพาะต่อธนาคารขนาดกลางและขนาดย่อมที่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดอินเตอร์แบงก์มากกว่าธนาคารขนาดใหญ่
ทั้งนี้ ธนาคารขนาดกลางและขนาดย่อมมีแนวโน้มที่จะตั้งเป้าหมายในการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สภาพคล่องของตนเอง โดยใช้วิธีแข่งขันกันอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นในการดึงดูดเงินฝาก เพื่อจะได้ลดการพึ่งพาตลาดอินเตอร์แบงก์ อย่างไรก็ดี การทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ นอกจากนี้ ธนาคารกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มที่จะชะลอการปล่อยสินเชื่อลงด้วย และถึงแม้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตรงกับเป้าหมายที่ธนาคารกลางจีนได้ตั้งไว้ แต่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็มีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ในขณะที่ลูกหนี้ที่มีสถานะอ่อนแอพบว่าการกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้เก่า (รีไฟแนนซ์) เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากยิ่งขึ้น
มูดี้ส์ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งก็คือ มาตรการของธนาคารกลางจีนจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีความกังวลมากยิ่งขึ้นต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารด้วยกันเอง โดยถึงแม้ภาวะสภาพคล่องหดตัวในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากนโยบายของธนาคารกลางจีน แทนที่จะเกิดจากการที่ธนาคารพาณิชย์สูญเสียความเชื่อมั่นในความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งอื่นๆ แต่ก็มีข่าวลือออกมาในสัปดาห์ที่แล้วว่า  ธนาคารบางแห่งได้ชำระหนี้อย่างล่าช้า ซึ่งถ้าหากตลาดเงินจีนประสบภาวะผันผวน อย่างต่อเนื่องเหมือนกับในสัปดาห์ที่แล้ว สิ่งนี้ก็อาจสร้างความเสียหายในระยะยาวต่อความเชื่อมั่นในตลาดอินเตอร์แบงก์
ทั้งนี้ มูดี้ส์ตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารกลางจีนยังคงมีอำนาจควบคุมเป็นอย่างมากต่อความสามารถในการชำระเงินของธนาคารพาณิชย์ เพราะธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องนำเงินฝาก 18-20 % มาฝากไว้ที่ธนาคารกลางจีนในฐานะทุนสำรองและธนาคารกลางจีนอาจจะอนุญาตให้มีการใช้เงินดังกล่าวได้ถ้าหากมีความจำเป็น นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังถือครองสินทรัพย์จำนวนมากที่สามารถนำมาใช้ ขอสภาพคล่องจากธนาคารกลางจีนได้ในทางทฤษฎีด้วย ถ้าหากธนาคารกลางจีนเลือกที่จะทำเช่นนั้น ซึ่งมูดี้ส์คิดว่าไม่มีแนวโน้มที่ธนาคารกลางจีนจะเปิดโอกาสให้ธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบประสบปัญหาด้านสภาพคล่องอย่างร้ายแรงและยั่งยืน
ข่าวล่าสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น