แบงก์เผยมนุษย์เงินเดือนต่ำกว่า 2 หมื่นเผชิญปัญหาหนี้บาน กู้ซื้อบ้านไม่ผ่านเพียบ "เครือสหพัฒน์" คาดปีนี้โตต่ำสุดในรอบ10ปีจากกำลังซื้อหด
ชื่อ:  B991BC7C175D43E1BEEBD8838FDAA92D.jpg
ครั้ง: 1736
ขนาด:  124.5 กิโลไบต์

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในห้วงซบเซา เพราะกำลังซื้อในประเทศหดตัวอย่างหนัก ขณะที่สถานการณ์ต่างประเทศก็กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะฟื้นหรือทรุด

ผลที่ตามมาคือบรรดามนุษย์เงินเดือนต่ำกว่า 2 หมื่นบาทของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้บาน กู้ไม่ผ่านเพียบ

วิชิต พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารยังคงยึดเงื่อนไขการกู้บ้านอย่างเดิม ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้มงวดขึ้นหรือปล่อยง่ายขึ้น แต่การที่ลูกค้าที่กู้เงินซื้อบ้านไม่ผ่านส่วนใหญ่เป็นผลจากภาระหนี้ของลูกค้าที่มากขึ้นเอง ทำให้ธนาคารไม่สามารถปล่อยกู้ได้

ช่วงนี้มีความเป็นไปได้ที่ลูกค้าจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาท สะท้อนได้จากโครงการบ้านระดับกลางลงล่างที่ออกมายอมรับว่าลูกค้าไม่สามารถซื้อบ้านได้ เพราะมีหนี้เพิ่ม

สำหรับลูกค้าของธนาคารกู้บ้านเฉลี่ยหลังละ 3 ล้านบาท ซึ่งต้องมีเงินเดือนเฉลี่ย 4 หมื่นบาทขึ้นไป เพราะอัตราการผ่อนบ้านกู้ 1 ล้านบาท ต้องผ่อนเดือนละ 6,000-7,000 บาท
ขณะที่ ชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาท หากมีภาระหนี้ผ่อนรถ และหนี้อื่น จะกู้บ้านได้ยากขึ้น เพราะธนาคารส่วนใหญ่จะพิจารณาภาระหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ เท่ากับหากมีรายได้เดือนละ 2 หมื่นบาท ต้องมีหนี้รวมทุกอย่างไม่เกินเดือนละ 8,000 บาท

ทั้งนี้ หากมีรายได้เดือนละ 2 หมื่นบาท จะกู้บ้านได้ในราคา 1 ล้านบาท อัตราการผ่อนจะอยู่ที่เดือนละประมาณ 8,000 บาท เท่ากับลูกค้าไม่สามารถก่อหนี้อื่นได้อีก

ฉะนั้นหากผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่แล้วระหว่างนี้ก็ไม่สามารถกู้ซื้อบ้านได้

“กลุ่มคนที่ซื้อรถยนต์คันแรกกับกลุ่มที่อยากมีบ้านหลังแรกจะเป็นคนกลุ่มเดียวกันคือ เพิ่งทำงาน ฉะนั้นก็ต้องผ่อนรถให้หมดก่อนถึงซื้อบ้านได้ กู้รถก็เลยอาจกู้บ้านไม่ผ่าน”ชาติชาย กล่าว

ชาติชาย กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทลงมาจะเป็นกลุ่มที่ถูกปฎิเสธการปล่อยกู้มากที่สุดประมาณ 40% เพราะรายได้ที่จะนำมาผ่อนบ้านไม่พอ ปัจจุบันธนาคารปล่อยกู้บ้านเฉลี่ยหลังละ 2.5 ล้านบาท เงินเดือนเฉลี่ย 5 หมื่นบาท

ด้าน บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ในเวลานี้รัฐบาลหรือภาคเอกชนต้องลดความเสี่ยงไว้ก่อน การใส่เกียร์รถเร็วและขับเคลื่อนเร็วเกินไปจะเสี่ยงต่อการทำธุรกิจหรือบริหารประเทศ ซึ่งขณะนี้มีปัจจัยลบจากภาวะการผันผวนของค่าเงินบาท ที่เกิดจากเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าและออกอย่างรวดเร็ว
บุณยสิทธิ์มองภาวะค่าเงินบาทของไทยที่ผันผวน เพราะตกอยู่ในเบี้ยล่างของอเมริกามากจนไป และไม่มีมาตรการป้องกันเงินไหลเข้าจากนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งต้องให้แบงก์ชาติเข้ามาเป็นพ่อค้าหรือผู้ดำเนินธุรกิจเองจะได้รู้ว่าควรทำอย่างไร โดยขณะนี้เอสเอ็มเอสและโอท็อปเป็นธุรกิจที่ประสบกับปัญหาสูง

“โครงการรับจำนำข้าวของภาครัฐจะประสบความสำเร็จได้ ค่าเงินบาทจะต้องอ่อนค่า เพื่อผลักดันให้ส่งออกได้ราคามากขึ้น ซึ่งค่าเงิน 31 เหรียญต่อเหรียญสหรัฐ ถือว่าจะให้ส่งออกได้ดีค่าเงินที่เหมาะสมควรเป็น 33 เหรียญต่อเหรียญสหรัฐ แต่แบงก์ชาติ ไม่เมคเซนส์กับนโยบายบริหารค่าเงินบาท” บุณยสิทธิ์ กล่าว 

บุณยสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือสหพัฒน์ ได้รับผลกระทบค่าเงินบาท ทำให้ส่งออกลำบาก ขณะเดียวกันในประเทศกำลังซื้อลดลง โดยมีหลายโรงงานต้องปิดตัวลง อาทิ โรงงานรองเท้า และโรงงานผลิตถุงเท้า ขณะที่รายได้ส่งออกเสื้อผ้าหรือสิ่งทอลดลง ทำให้รายได้ส่งออกลดลงเหลือ 20%

ขณะที่รายได้ทั้งเครือปีนี้ตั้งเป้าโต 4-5 % ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี จากปกติเติบโต 10% เนื่องจากธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะของใช้ในชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบจากกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง และหากย้อนไปเมื่อหลายปีทีผ่านมาเครือสหพัฒน์มีรายได้เติบโต 20%


ที่มา POSTTODAY