วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มิตซูเทนเดอร์BAY40บ. ญี่ปุ่นทุ่มเงิน1.27แสนล. จับตาแบงก์ทหารไทยจองคิวต่อไป

มิตซูเทนเดอร์BAY40บ.
ญี่ปุ่นทุ่มเงิน1.27แสนล.
จับตาแบงก์ทหารไทยจองคิวต่อไป

ข่าวหน้าหนึ่ง วันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 9 คน 

มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล หรือ MUFG เทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้น BAY ที่ราคา 40 บาท ธนาคารญี่ปุ่นทุ่ม 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.27 แสนล้านบาท ซื้อจากกลุ่มจีอีและรายย่อย  หลังควบรวมพอร์ตโต 52%  ด้านโบรกฯแนะจับตามองดีลแบงก์ทหารไทยรายต่อไป

                แหล่งข่าววงการธนาคารพาณิชย์  กล่าวว่า ราคาทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นแบงก์กรุงศรีอยุธยา หรือ BAY ที่กลุ่ม Mitsubishi UFJ Financial Group หรือ MUFG จากประเทศญี่ปุ่น จะซื้ออยู่ที่ 40-41  บาทต่อหุ้น ซึ่งคำนวณจากเม็ดเงินที่ใช้ลงทุน 1.271 แสนล้านบาท (อิงกับอัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและมูลค่าเงินลงทุน 4,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัดส่วนที่ MUFG เข้าซื้อ BAY ที่ 51%) โดยราคาซื้อขายที่ 40-41 บาทนั้นเทียบเท่ากับ P/BV ปี 56 ที่ 2.0 เท่า และ P/E ปี 56 ที่ 12.9 เท่า หลังจาก Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ของญี่ปุ่นเข้าซื้อ BAY จากกลุ่ม GE ประมาณ 25.33% และจากผู้ถือหุ้นรายอื่นรวมเป็นอย่างน้อย 51% โดยใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.27 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะประกาศการเข้าซื้ออย่างเป็นทางการในต้นเดือนก.ค. 56 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของสัดส่วนสินเชื่อของ BAY ปัจจุบัน MUFJ มียอดสินเชื่อในประเทศไทย 2.1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ประกอบด้วยสินเชื่อบรรษัทเกือบทั้งหมด โดยสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย และบริษัทร่วมของบริษัทไทยและญี่ปุ่น
                “พอร์ตสินเชื่อของ  BAY มีจำนวน 5.8 หมื่นล้านบาท โดยมากกว่า 45% เป็นสินเชื่อรายย่อย และประมาณ 20% เป็นสินเชื่อ SME สำหรับ MUFJ มีความเชี่ยวชาญสินเชื่อบรรษัท และสินเชื่อ SME ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ  BAY เป็นธนาคารที่เก่งด้านคอนซูเมอร์ และรายย่อย ส่วนโฮเซลล์ยังมีน้อย ซึ่งการเข้ามาของผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญอาจทำให้ BAY เป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม” แหล่งข่าว กล่าว
                นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า เป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในการเข้าซื้อกิจการของธนาคารญี่ปุ่นในเอเชีย โดยเมื่อเดือนก่อน Sumitomo Mitsui Financial Group เข้าซื้อธนาคาร BTPN ในอินโดนีเซีย 40% มูลค่าเงินลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง MUFG น่าจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ของ BAY ตามที่คาดไว้ โดยฝ่ายวิจัยเชื่อว่าตระกูลรัตนรักษ์จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BAY ต่อไป ซึ่ง MUFG จะซื้อหุ้น 25.33% จากกลุ่ม GE ก่อนแล้วค่อยทำการเสนอซื้อ หรือเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ หุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยในราคาเดียวกันกับที่ซื้อจากกลุ่ม GE โดยเป็นลักษณะทำเทนเดอร์บางส่วนเพื่อให้มีสัดส่วนการถือหุ้นอย่างน้อย 51%
                อย่างไรก็ตาม การถือหุ้นเกิน 49% ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง และต้องทำเทนเดอร์ทั้งหมด ซึ่งหากดีลได้รับการอนุมัติจากทางการ MUFG ก็ต้องทำเทนเดอร์หุ้นที่เหลือทั้งหมด โดยในส่วนนี้จะมีหุ้นที่ตระกูลรัตนรักษ์ถืออยู่ด้วยซึ่งราคาเข้าซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 41.03 บาทต่อหุ้น โดยคำนวณจากเม็ดเงินที่ใช้ลงทุน 1.271 แสนล้านบาท ซึ่งอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าเงินลงทุน 4,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัดส่วนที่ MUFG เข้าซื้อ BAY ที่ 51%
                โดยราคาซื้อขายที่ 41 บาทนั้นเทียบเท่ากับ P/BV ปี 56 ที่ 2.0 เท่า และ P/E ปี 56 ที่ 12.9 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับราคาเป้าหมายของ BAY สำหรับปี 2556 ที่ให้ไว้ 42 บาท โดย MUFG เป็นธนาคารญี่ปุ่นที่มาเปิดสาขาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1962 ซึ่งถ้ารวมกันก็จะทำให้ฐานสินทรัพย์หลังควบรวมจะเพิ่มขึ้น 52% แต่หลังควบรวมแล้ว Yield ของสินเชื่ออาจจะลดลงได้ เนื่องจาก Yield ของสาขาของ MUFG ในไทย (BTMU) ต่ำกว่าของ BAY แต่สัดส่วนของมูลค่าสินเชื่อ BTMU เป็นเพียง 1 ใน 4 หลังรวมทำให้ผลกระทบต่อ Yield จะไม่รุนแรง แต่หากมองในแง่บวกการควบรวมจะทำให้คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น ฐานเงินกองทุนใหญ่ขึ้น การระดมทุนในอนาคตจะทำได้ง่ายขึ้น
                “ประธานบริหาร MUFG เคยกล่าวไว้ว่ากำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจที่เน้นรายย่อยและ SME ทำให้เชื่อว่า MUFG จะเข้ามาสานต่อและผลักดันการเป็นผู้นำในธุรกิจรายย่อยของ BAY ต่อไป ขณะเดียวกัน BAY ก็มีโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้า Corporate ที่เป็นญี่ปุ่นมากขึ้น จึงมีมุมมองที่เป็นบวก โดยเชื่อว่าจะทำให้แฟรนไชส์ของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว จึงแนะนำซื้อ และให้ราคาพื้นฐานปี 57 เท่ากับ 46 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปี 57 ที่ 2.2 เท่า” นักวิเคราะห์ กล่าว
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี กล่าวว่า ธนาคารต่อไปที่จะเกิดขึ้น คือ ธนาคารทหารไทย (TMB) ซึ่งยังมองว่าเกิดขึ้นยาก เนื่องจากต้องดู ING และคลัง ว่าจะตกลงกันอย่างไร โดยต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพื้นฐานโดยรวมดีขึ้นจากในอดีตมาก แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้น้อยหลังจาก 5 เดือนผ่านมา
“สินเชื่อยังไม่โต แต่ NIM ดีขึ้นมาก โดยมองกำไรทั้งปีมองไว้ 6.5 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 300% จากปีก่อนหน้า ให้ราคาพื้นฐานไว้ที่ 2.88 บาทต่อหุ้น” นายธนเดช กล่าว
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่ากลุ่มมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในญี่ปุ่น อยู่ในขั้นตอนเจรจาขอซื้อหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา ต่อจากกลุ่มจีอี แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น หรือ จีอี นั้น  ยอมรับว่าที่ผ่านมากลุ่มมิตซูบิชิมีการหารือเรื่องดังกล่าวกับหน่วยงานทางการบ้าง โดยมีมาพูดคุยประมาณ 2 ครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น