วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

SPCG ปฏิบัติการหักหลังนักลงทุน

SPCG ปฏิบัติการหักหลังนักลงทุน

รายงานพิเศษ วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 4 คน 

การตัดสินใจของผู้บริหารบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ที่แจ้งข่าวในเช้าวันที่ 11 มิถุนายน ในการกำหนดกติกาใหม่กะทันหันเร่งให้ผู้ถือหุ้นทำการแปลงสิทธิ์วอร์แรนต์ SPCG-W1 เร็วเกินกำหนดเดิมชนิดบังคับให้มีสิทธิเลือกน้อย เป็นข่าวจริงยิ่งกว่าฝันร้ายสำหรับนักลงทุน
ข่าวดังกล่าว สามารถกลบข่าวดีที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน จากการที่บริษัทได้ทำการยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอก่อตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่มูลค่ามมากถึง 5,000 ล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากเกิดผลจริงในปลายไตรมาสสาม จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินและภาระหนี้ของบริษัทดีขึ้นอย่างกะทันหันไปได้สนิทชนิดที่ทำให้ราคาหุ้นร่วงโดยไม่ใส่ใจกับข่าวดี
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น SPCG ในวันดังกล่าว ปรับลดลงหนักกว่า 5.26% ปิดตลาดที่ 27 บาท ลดลง 1.50 บาท และยังคงลดลงในวันต่อมาอีกตามแรงเทขายของนักลงทุนที่กังวลเรื่องการปรับอายุวอร์แรนต์ (SPCG-W1) ที่เปลี่ยนเป็นการใช้สิทธิ 3 ครั้ง ในปี 2556 (ก.ค. ส.ค. และ ก.ย.) จากเดิมจะใช้สิทธิเพียง 1 ครั้ง ในเดือนมี.ค. 2558 เนื่องจากคาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงจาก Dilution effect ประมาณ 32% ซึ่งเกิดขึ้นเร็วเกินคาดเกือบ 2 ปี
ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ของสำนักโบรกฯหลายรายพร้อมใจกันปรับมูลค่าราคาหุ้นที่เหมาะสมลดลงเหลือเพียง 26.75 บาทต่อหุ้น บนสมมุติฐานจำนวนหุ้นใหม่  840 ล้านหุ้น
คำถามน่าสนใจก็คือ ในการบังคับแปลงสิทธิ SPCG-W1 นี้ จะทำให้บริษัทได้รับเงินสดเข้ามาจากการแปลงสิทธิ์เพียงแค่  380 ล้านบาทเท่านั้น ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลยกับการทำให้นักลงทุนเกิดความกังขากับนโยบายของบริษัท เพราะเท่ากับงานนี้นักลงทุนที่ถือวอร์แรนต์ ถูกหักหลังอย่างแรงทีเดียว
เหตุผลของ SPCG ในการเร่งบังคับแปลงสิทธิ์นี้ นางสาววันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการ ระบุว่า เป็นกระบวนการปรับโครงสร้างทางการเงินและลดภาระที่มีกับธนาคารผู้ให้กู้ได้เร็วขึ้น โดยคาดหมายว่าจะปลดภาระหนี้ที่มีต่อสถาบันการเงินที่ผูกมัดให้แล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3/2556 นี้ได้
เรียกง่ายๆ คือ หวังจะหาเงินไปใช้หนี้เฉพาะหน้านั่นเอง
ส่วนเหตุผลต่อมา ก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะนางสาววันดีอ้างเหตุผลว่า SPCG-W1 ซึ่งเดิมจะครบกำหนดในปี 2558 นั้น เป็นช่วงเวลาที่บริษัทไม่มีความจำเป็นต้องการใช้เงินอีกแล้ว เพราะมีสภาพคล่องทางการเงินสูง เนื่องจากมีการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มแล้วเสร็จทั้งหมดและมีรายได้จากการจำหน่ายไฟแล้ว
เหตุผลที่ยกมาอ้างทั้งสองอย่างข้างต้น สะท้อนจิตสำนึกของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทว่า มองเห็นนักลงทุนเป็นแค่ ”เครื่องมือ” ในการหาเงินเข้าบริษัทเท่านั้นเอง ผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นใหญ่สำคัญกว่าผลประโยชน์นักลงทุนเสมอ
โดยข้อเท็จจริง เป็นที่ทราบกันดีว่า SPCG เป็นบริษัทเจ้าของโครงการพลังงานทดแทน ที่เร่งการลงทุนอย่างเร่งร้อน ที่ทำให้เกิดคำถามเรื่องความเข้มแข็งทางการเงินของบริษัทมาในรอบ 2 ปีนี้ เพราะฐานะทางการเงินมีค่า D/E มากกว่า 3 เท่า ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินที่ดอกเบี้ยจ่ายสูง
สองปีมานี้ SPCG ทำวิศวกรรมการเงินเพื่อระดมทุนไปแล้วหลากหลาย นับแต่ต้นปี 2555 ทำการเพิ่มทุนไปแล้ว 1 ครั้งคือ มติวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 จำนวน 60 ล้านหุ้น ขายในราคา 21 บาทต่อหุ้น ได้เงินมา 1,260 ล้านบาท พร้อมกับใบสำคัญแสดงสิทธิหรือ SPCG-W1 ซึ่งได้เข้าทำการซื้อขายใน mai ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2555 แต่ก็ไม่เพียงพอ ต้องมีการกู้เงินเพิ่มเป็นระยะๆ เนื่องจากขาดเงินทุนในการดำเนินการ
การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) ที่ได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว มูลค่า 5,500 ล้านบาท ที่น่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/2556 คาดว่าบริษัทน่าจะได้เงินเข้ามาอีกประมาณ 1,400-1,500 ล้านบาท ซึ่งจะบรรเทาปัญหาทางการเงินของบริษัทไปได้มาก ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทในระยะที่ผ่านมา ถูกหล่อเลี้ยงไม่ให้ตกต่ำมาโดยตลอด
การตัดสินใจเร่งบังคับใช้สิทธิ์ SPCG-W1 (อัตราแปลงสิทธิ 1 ต่อ 1 ในราคา 1 บาท) จึงเป็นการ “รนหาที่” อย่างแท้จริง เพราะด้านหนึ่งบริษัทไม่ได้เงินมากนัก เนื่องจากราคาแปลงสิทธิต่ำ แต่ปริมาณแปลงสิทธิทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิด dilution effect เป็นข่าวร้ายที่นักลงทุนไม่ชื่นชอบเอาเสียเลย
ปฏิกิริยาของนักลงทุนที่มีต่อราคาหุ้นจึงแสดงออกมาในเชิงลบ ไม่ใส่ใจกับถ้อยแถลงเกี่ยวกับทิศทางการลงทุนในระยะสั้นหรือยาว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโซลาร์ รูฟ ซึ่งติดตั้งบนหลังคาบ้าน หรือโครงการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในต่างประเทศ
ข่าวจริงที่ร้ายกว่าข่าวลือ ที่เป็นฝันร้าย จึงสะท้อนออกมาในราคาหุ้น ส่วนจะสะท้อนยาวนานเพียงใด เป็นสิ่งที่ต้องจับตากันต่อไปว่าวิกฤตศรัทธาครั้งล่าสุด จะกอบกู้ได้มากน้อยเพียงใด

........
ตารางประกอบผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น