วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คลังเก็บภาษีเกินเป้า
8เดือนพุ่ง1.43ล้านล.

ข่าวหน้าหนึ่ง วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 3 คน 

กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้เกินเป้า 8.4 หมื่นล้านบาท 8 เดือนแรกของปีงบประมาณเก็บได้ 1.43 ล้านล้านบาท จากภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีมนุษย์เงินเดือน ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ขณะที่การบริโภคและรายได้ภาคครัวเรือนพุ่ง มั่นใจทั้งปีเกินเป้า 2.1 ล้านล้านบาท

          นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.  เผยว่า ในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 56 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.433 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 84,186 ล้านบาท หรือ 6.2% เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีที่สูงกว่าเป้าหมาย 54,664 ล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย สะท้อนถึงการบริโภคภายในประเทศ รายได้ภาคครัวเรือน และผลประกอบการของภาคธุรกิจพลังงานที่ขยายตัวได้ดี มั่นใจว่าปีงบประมาณ 56 รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย 2.1 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน
          ขณะที่ผลการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าเป้าหมายอยู่ที่ 44,847 ล้านบาท และการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมายอยู่ที่ 5,874 ล้านบาท ส่วนการคืนภาษีของกรมสรรพากรสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 21,117 ล้านบาท และหากดูจากผลการจัดเก็บเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 326,803 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 21,887 ล้านบาท เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะเหตุการณ์อุทกภัยส่งผลให้ผลประกอบการของภาคธุรกิจที่ยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิประจำปี 55 (ภ.ง.ด.50) ต่ำกว่าเป้าหมาย นอกจากนี้ ผลจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 55 และเหลือ 20% ในปีนี้ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 25,113 ล้านบาท
                ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555-พฤษภาคม 2556) กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้รวม 1,112,778 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 29,432 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.9) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 20,558 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.2) สะท้อนถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่ขยายตัวได้ดีตามการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (2) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 17,866 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.6 เป็นผลจากผลประกอบการในธุรกิจปิโตรเลียมที่เติบโตดี (3) ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 5,668 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.8 เป็นผลจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยภาษีธุรกิจเฉพาะที่เก็บจากธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 29.9 และ (4) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,210 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.0) สาเหตุหลักมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศสูงกว่าเป้าหมาย 16,344 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 สะท้อนการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 19,373 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.1) สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผลประกอบการที่ยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิประจำปี 2555 (ภ.ง.ด. 50) ของภาคธุรกิจต่ำกว่าประมาณการ
                กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้รวม 302,339 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 24,839 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.5) สาเหตุสำคัญมาจากภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 29,079 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 73.2) เป็นผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,387 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 จากปริมาณการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น และภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,140 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4 ตามลำดับ สืบเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุราเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันและภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 10,507 ล้านบาท และ 4,860 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.8
                กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 76,243 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 393 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.1) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 364 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.0) ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555-เมษายน 2556) ขยายตัวร้อยละ 11.8 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ โดยสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า
          รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 83,182 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 5,874 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.3) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารออมสิน บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ปตท. นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการ 3,793 ล้านบาท 2,471 ล้านบาท และ 2,190 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่รัฐวิสาหกิจบางแห่งนำส่งรายได้/เงินปันผลต่ำกว่าประมาณการ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บมจ.ทีโอที และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่งรายได้/เงินปันผลต่ำกว่าประมาณการ 5,437 ล้านบาท 2,413 ล้านบาท และ 1,550 ล้านบาท ตามลำดับ
          กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 1,303 ล้านบาท จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีรายได้พิเศษ ได้แก่ (1) รายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1GHz จำนวน 20,843 ล้านบาท (2) การส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 8,227 ล้านบาท (3) การเหลื่อมนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิประจำปี 2553 ของ กสทช. จำนวน 1,655 ล้านบาท (4) เงินชำระหนี้ค่าข้าวจากโครงการขายข้าวรัฐบาลรัสเซียจำนวน 1,118 ล้านบาท (5) เงินรับคืนจากโครงการจัดจ้างผลิตเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) ระยะที่ 1 จำนวน 913 ล้านบาท และ (6) การส่งคืนเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (TPBS) จำนวน 616 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น