วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

CPALLจ่อตั้งกองทุนREIT

ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 16 คน 

CPALL เตรียมจัดตั้ง REIT ช่วงก.ย.-ต.ค.นี้ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท หลังกระบวนซื้อกิจการ MAKRO เสร็จสิ้นส.ค.นี้ ส่วนกรณีค่าความนิยม 120,000 ล้านบาท ชี้ไม่มีผลกระทบต่อเงินปันผล เหตุมาตรฐานบัญชีใหม่จะไม่บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทันทีเหมือนฉบับก่อน

แหล่งข่าวจากวงการเงิน เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL มีแผนจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ช่วงประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ มูลค่าเบื้องต้นเชื่อจะอยู่ระดับ 10,000-30,000 ล้านบาท หลังจากได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น CPALL ให้ซื้อหุ้นอย่างน้อย 64.35% ของบริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO และดำเนินการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ส่วนที่เหลืออีก 35.65% โดยมีช่วงระยะเวลารับซื้อตั้งแต่เดือนก.ค.-ส.ค. 56 การทำธุรกรรมทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนส.ค. 56 โดยจะมีการนำสินทรัพย์ MAKRO ที่เกิดขึ้นหลังการซื้อกิจการมาเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ในการจัดตั้ง REIT ดังกล่าว
โดยการจัดตั้ง REIT ดังกล่าว ถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขในการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารและสถาบันการเงิน โดยมีระยะเวลา 1 ปี อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอัตรา LIBOR บวกด้วยอัตราผลตอบแทนส่วนต่าง (Margin) เพื่อชดเชยค่าความเสี่ยง (Credit Spread) โดยไม่มีผลกระทบต่อนโยบายจ่ายเงินปันผลวงเงินรวมไม่เกิน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท) โดยวงเงินใช้จริงขึ้นอยู่กับการตอบรับคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้น MAKRO ด้วย
ส่วนกรณีค่าความนิยม (Good will) มูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท จะไม่มีผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผลแต่อย่างไร เนื่องจากจะไม่มีการนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายโดยทันที โดยต้องมีการทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยมรวมอยู่ ตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 36 (ปรับปรุง 2552) เรื่องการด้อยค่าของสินทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่ามีมุมมองเชิงบวกต่อการควบรวมกิจการ โดยมูลค่าของการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ คิดเป็น 42 เท่า ของ EPS ปี 2556 ของ MAKRO ซึ่งดูเหมือนว่ามีมูลค่าค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดีจาก CPALL มีงบดุลที่แข็งแกร่งพอจะใช้ในการขอเงินกู้เพื่อนำมาใช้สำหรับการซื้อกิจการครั้งนี้ ขณะที่ MAKRO นับว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่า สนับสนุนการเติบโต  CPALL ระยะยาว
โดย MAKRO มีสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้นำมาคำนวณมูลค่า (Hidden asset) อาทิ ที่ดิน ระบบ IT และเครื่องหมายทางการค้า (Branding) การตกลงเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน (เชิงบวก) เพิ่มอำนาจการต่อรองกับผู้จำหน่ายสินค้าจากขนาดการสั่งซื้อสินค้าที่ใหญ่ขึ้น ประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าที่ดีขึ้น และเปิดโอกาสให้ CPALL สามารถขยายธุรกิจต่างประเทศผ่านสาขาของ MAKRO ได้
ขณะที่ความแข็งแกร่งของ CPALL ด้านบุคลากรช่วยให้การขยายสาขา MAKRO ทำได้รวดเร็วขึ้นเป็น 7-11 สาขาต่อปี (จาก 3-4 สาขาในปัจจุบัน) นอกจากนี้ การที่ MAKRO เป็นธุรกิจที่มั่นคงและประสบความสำเร็จ ดังนั้น ความเสี่ยงต่อ CPALL ในฐานะผู้ซื้อมีค่อนข้างจำกัด จึงแนะนำ "ซื้อ" โดยประมาณการกำไรและราคาเป้าหมาย 51 บาท (คิดเป็น PEG 1.2 เท่าปี 2556) ขณะที่หุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มซื้อขายกันที่ PEG 0.9 เท่า ในปี 2556 และด้วยอัพไซด์อยู่ระดับสูงถึง 24%
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด  ระบุว่า  แนะนำซื้อหุ้น CPALL และให้เป็น Top Pick  กลุ่มค้าปลีก และการซื้อหุ้น MAKRO เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ CPALL กล่าวคือ 1.เชื่อว่าจะไม่มีการเพิ่มทุน ดังนั้น EPS จะไม่ลดลง 2.เห็นการเพิ่มของกำไรตั้งแต่ปี 2558 3.CPALL จะเติบโตสูงขึ้นหลังจากการรวมกับ MAKRO 4.ทั้ง CPALL และ MAKRO เป็น 2 ผู้ประกอบการค้าปลีกดีสุดและมีความเสี่ยงต่ำในการชำระหนี้ โดยคาดว่าหนี้จะถูกชำระคืนภายใน 8 ปี โดยไม่ต้องเพิ่มทุน โดย CPALL สัญญาจ่ายปันผลต่อหุ้นขั้นต่ำ ที่ 0.90 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น