วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ส่องหุ้นได้เสียศก.สหรัฐฯฟื้น-จีนฟุบ

 

     
 
   

      
       ส่องหุ้นได้เสียศก.สหรัฐฯฟื้น-จีนฟุบ 

          
โบรกเกอร์แนะนักลงทุนเลือกซื้อหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัว ระบุหุ้นส่งออก-แบงก์ เด่นสุด พร้อมเตือนให้หลีกเลี่ยงหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ด้าน"ดีบีเอสวิคเคอร์ส" ชี้ CPF- BBL- KBANK- BANPU- IVL-TRUBB-ROJNA- HANA- SUC เสี่ยงสุด เหตุมีธุรกิจในจีนมาก ด้านภาวะลงทุนตลาดหุ้นยังผันผวนหนัก ดัชนีดิ่งเกือบ 50 จุด ก่อนรีบาวน์ขึ้นมาปิดลบเล็กน้อย ฟาก "จรัมพร-ปลัดคลัง" ลั่นไม่จำเป็นต้องตั้งกองทุนพยุงหุ้น เหตุตลาดผันผวนแค่ระยะสั้น ส่วนสัปดาห์นี้ลุ้น Window Dressing ดันดัชนีฯ 


                 ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังคงถูกกดดันจากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณที่จะลดปริมาณการซื้อคืนพันธบัตร(QE)ในช่วงปลายปีนี้ และอาจจะยกเลิกมาตรการในช่วงกลางปีหน้า หลังพบว่าภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวของเฟดส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกันตลาดหุ้นยังถูกกระทบจากการที่เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณมากขึ้นว่าจะชะลอตัวลง หลังรายงานตัวเลขภาคการผลิตเดือนล่าสุดปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยนักวิเคราะห์มองว่านักลงทุนต้องบริหารพอร์ตอย่างระมัดระวัง และหาจังหวะที่เหมาะสมเข้าลงทุนในรอบต่อไป

*โบรกฯ มองสหรัฐ ศก.ฟื้นต่อเนื่อง แต่จีนกำลังขาดสภาพคล่อง 


        บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า คาดตลาดหุ้นเอเซียได้รับผลกระทบจากการปรับลดพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติในวงกว้าง หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐมีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ (Initial Jobless Claims) สิ้นสุดวันที่ 15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน18,000 คน (อยู่ที่ 354,000 คน เทียบกับนักวิเคราะห์คาด 340,000 คน ทำให้ค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ เพิ่มขึ้นเป็น 348,250 คน เทียบกับ345,750 คน) ก็ตาม อย่างไรก็ดี การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค. ยังคงเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่ง ซึ่งช่วยหนุนตลาดบ้านให้แข็งแกร่งต่อเนื่อง (ยอดขายบ้านมือสองเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 4.2% MoM อยู่ที่ 5.18 ล้านหลัง สูงสุดในรอบกว่า 3 ปีครึ่ง ส่วนราคาบ้านมือสองก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน 15.4% YoY อยู่ที่ 2.08 แสนเหรียญฯ สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2548) มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้สอดคล้องกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Indicator) เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.1% สู่ระดับ 95.2 แม้จะต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% แต่ก็ยังเป็นพัฒนาการเชิงบวก และหนุนให้ FED ถอนมาตรการ QE ภายใน 3Q56 นี้
         ขณะที่จีนกำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินขั้นรุนแรง เพราะนอกจากประสบภาวะเงินทุนไหลออก เนื่องจากต่างชาติกังวลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน อันเป็นผลจากรัฐบาลจีนที่ต้องการจะดูแลการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพ มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐิจที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างสถาบันการเงินในประเทศ เพื่อควบคุมความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ หลังจากที่ภาคธนาคารพาณิชย์ ได้ขยายการปล่อยสินเชื่ออย่างรวดเร็วตลอดหลายปีที่ผ่านมา (ปี 2556 เติบโตแล้ว 22% เทียบกับปี 2555 เติบโต20% จนทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่อ GDP ของจีน ขึ้นมาอยู่ที่ 198% เทียบกับ 125% ในปี 2556) ทำให้ธนาคารกลางจีนชะลอการอัดฉีดเงินเข้ามาให้ระบบ และกดดันให้ผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้นของจีนมีความผันผวนสูงมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งนอกจากกดดันต้นทุนเงินกู้ระยะสั้นของภาคธนาคารแล้ว คาดว่ากระทบเป็นลูกโซ่ต่อผู้ประกอบรายกลางและรายเล็กที่พึ่งพาเงินกู้ระยะสั้น รวมถึงกระทบต่อภาคเอกชนที่มีการขยายการลงทุนไปก่อนหน้า เช่น เหล็ก และซีเมนต์ เป็นต้น โดยสรุปปัญหาภาคการเงินอาจจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนให้ชะลอตัวกว่าที่นักเศรษฐกิจโลก (IMF) คาดไว้ที่ 7.75% สะท้อนจากล่าตัวเลข PMI (ภาคการผลิต) ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ถือว่าเป็นการตกต่ำสุดในรอบ 9 เดือน และปัจจัยนี้อาจจะเป็นตัวเร่งต่างชาติในตลาดหุ้นเอเซียอีกทางหนึ่ง

*โบรกฯ สั่งจับตาการเงิน-ศก.จีน ชี้ อาจฉุด ศก.ไทยในปี 57


          บทวิเคราะห์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ระบุว่า ปัจจัยที่ควรจับตา คือสถานการณ์การเงินและเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินของจีนพุ่งขึ้นมาแรงมาก บ่งชี้ถึงความกังวลกับภาคการธนาคาของจีนที่สูงขึ้นขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจก็ชะลอตัวลงต่อเนื่องในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.56 ล่าสุด PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนมิ.ย.56 ลดลงต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัว และต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ทั้งนี้หากภาคการเงินของจีนมีปัญหาและเศรษฐกิจเติบโตชะลอตัวมากกว่าคาดก็จะกระทบกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีค่าความสัมพันธ์สูง (โดยหาก GDP ของจีนเปลี่ยนแปลง 1.0% จะทำให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงถึง 2.4% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า) สำหรับบริษัทไทยที่ไปลงทุนในจีนและอาจถูกผลกระทบ ได้แก่ CPF, BBL, KBANK, BANPU, IVL, TRUBB, ROJNA, HANA, SUC, เครือสหพัฒน์, เป็นต้น กลยุทธ์การลงทุน : Wait & See หรือซื้อเก็งกำไรช่วงลงแรงเพื่อลุ้นขายจังหวะเด้ง แต่ต้องไม่หวัง Gap กำไรมาก หุ้นพื้นฐานที่แนะนำซื้ออ่อนตัวเพื่อลงทุนระยะกลาง-ยาววันนี้เป็น STPI
           ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง โดยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.56 ของจีนชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ล่าสุด PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนมิ.ย.56 ลดลงแตะ 48.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน และดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงถึงการหดตัว อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นแรง อัตราดอกเบี้ย Swap 1 ปีของจีนทะยานขึ้นถึง 0.58% เป็น 5.05% สูงที่สุดนับตั้งแต่ที่ Bloomberg มีการเก็บตัวเลขมาในเดือนพ.ค.49 ส่วนอัตราดอกเบี้ยข้ามคืน (OvernightRate) พุ่งขึ้นแรงมาก โดยเมื่อ 12 ชั่วโมงก่อนพุ่งขึ้นไปเหนือ 10% จากก่อนหน้าที่อยู่ประมาณ 6% และอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 7 วันพุ่งขึ้นไปเหนือ 6% สูงสุดในรอบ 7 ปี ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 7 วันที่ปรับขึ้นแรงบ่งชี้ถึงความวิตกกับความตึงตัวของสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้นของภาคการธนาคารจีน
          นักวิเคราะห์ของ Fitch Rating ให้ความเห็นว่าสินเชื่อรวมของจีนที่รวมรายการนอกงบดุลที่บวมขึ้นเป็น198% ของ GDP ในปี 55 จาก 125% ในช่วง 4 ปีก่อนหน้านั้นน่ากังวล เพราะในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตภาคธนาคารในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สัดส่วนสินเชื่อต่อ GDP ก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ความวิตกได้สะท้อนเข้ามาในตลาดแล้ว เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นมาแรงมาก
สถานการณ์ที่เป็นลบมากขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินของจีน อาจทำให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องมีการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอีกรอบ จากที่ได้ปรับลดลงมาจาก 8%+มาเป็น 7.7-8.0% ไปแล้ว ทั้งนี้ทางการจีนกำหนดเป้าหมายอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 7.50%
          จากการศึกษาของ Quan Team DBS Vickers (Thailand) พบว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยหาก GDP ของจีนเปลี่ยนแปลง 1.0% จะทำให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงถึง 2.4% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสหรัฐ 0.1% จะกระทบกับเศรษฐกิจไทย 0.5% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยหากเศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอตัวลงมาก ก็อาจฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 57 ให้ลดลงได้ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวดีขึ้นก็ตาม

*เซียนหุ้นประสานเสียง ลงทุนหุ้นส่งออก- แบงก์รับ ศก.สหรัฐพื้น 

           ดร.ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บล.คันทรี่ กรุ๊ป มองว่าหุ้นที่น่าจะได้รับประโยชน์ ที่สุดหากเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัว จะเป็นกลุ่มส่งออก ขณะที่เชื่อว่ากระแสเงินทุนของต่างชาติที่ไหลออกจะไม่วิกฤติเท่าครั้งซับไพร์ม เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจภายในของประเทศยังถือว่าแข็งแกร่ง
          ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ มองว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางที่ดีขึ้นต่อจากนี้ อย่างชัดเจนแล้ว เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ก็ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก จึงมีความเสี่ยงน้อยเนื่องจากไม่ต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอก นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มส่งออก หากสหรัฐฯ มีตัวเลขเศรษฐกิจที่ดี เงินดอลลาร์ก็จะแข็งค่าขึ้น เงินบาทก็จะอ่อนตัวลง

*'จรัมพร' เตือนหุ้นไทยยังผันผวนในระยะสั้น 

           นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาวะตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเงินทุนจากต่างชาติยังไหลเข้าออกอย่างไร้เสถียรภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมาจำนวนเงินทุนจากต่างชาติมีการขายออกไปแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท หลังจากสหรัฐฯมีแนวโน้มชะลอมาตรการ QE ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินทุนไหลกลับเข้าลงทุนในประเทศสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น โดยมองว่าในระยะยาวหากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีการฟื้นตัวก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลก
          ' ตลท. ยังไม่มีมาตรการใดๆสำหรับช่วงภาวะตลาดหุ้นผันผวนในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นการปรับตัวลดลงตามภูมิภาค' นายจรัมพรกล่าว
           ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนลงทุนด้วยความระมัดระวังและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ระบุช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนระยะยาว โดยให้มองหาหุ้นพื้นฐานที่ดีที่ราคาปรับตัวลดลงในช่วงนี้ โดยมองว่าปัจจัยพื้นฐานต่างๆของบริษัทจดทะเบียนไทยยังอยู่ในระดับที่น่าลงทุน ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนก็ยังเติบโตสูง โดยมองว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ นายจรัมพร ยังระบุด้วยว่า ระดับดัชนีหุ้นไทยปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้งกองทุนพยุงหุ้น โดยมองว่าการที่ดัชนีฯปรับตัวลดลง 20-25% เป็นเรื่องที่ปกติ อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจ
           "ปัจจัยที่กดดันให้ดัชนีฯปรับตัวลดลง เป็นประเด็นจากต่างประเทศมากกว่า โดยมองว่าเงินทุนต่างชาติที่ไหลออก ณ ปัจจุบันจะไม่วิกฤตถึงระดับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤตซับไพร์มที่มีเงินทุนต่างชาติไหลออกราว 1.4 แสนล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าครั้งวิกฤตซับไพร์ม เศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในจุดย่ำแย่ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น" นายจรัมพรกล่าว

* ปลัดคลัง ชี้ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแกร่ง 

          นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ยังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ว่า ยังไม่มีประเด็นที่จะตั้งกองทุนพยุงหุ้นเข้ามาดูแล โดยคาดว่าเป็นเพียงแค่สถานการณ์ระยะสั้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก
           ' เป็นเพราะนักลงทุนตื่นตระหนกต่อกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ QE เท่านั้น เชื่อว่านักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเช่นเดิมในช่วงหลังจากนี้' นายอารีพงศ์กล่าว
         ส่วนเงินที่ไหลออกในขณะนี้จะมีผลกระทบให้เงินบาทอ่อนค่าลงหรือไม่นั้น ปลัดกระทรวงคลัง กล่าวว่า ค่าเงินที่อ่อนค่าลงน่าจะทำให้การส่งออกดีขึ้น โดยหากค่าเงินยังอ่อนอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปีจะส่งผลให้การส่งออกจะเติบโตได้ในไตรมาส 3/56 และไตรมาส 4/56 แต่จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 8-9% หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่แนวทางดูการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์

*กูรู คาดสัปดาห์นี้ หุ้นไทยผันผวน ลุ้น Window Dressing ดันดัชนีฯ 

         นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส เปิดเผยว่า แนวโน้มของดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะผันผวน เพราะยังไม่สามารถกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของดัชนีฯได้ ซึ่งปัจจัยที่จะเกิดขึ้นคือการดันราคาหุ้นปิดให้สูงขึ้น (Window Dressing) เพื่อทำให้ราคาหุ้นในพอร์ตมีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงการติดตามเรื่องการซื้อกองทุนต่างๆ และกองทุน Trigger Fund ว่าจะสามารถชดเชยเงินที่ไหลออกจากตลาดฯได้หรือไม่ ทั้งนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับกระแสเงินทุนจากต่างชาติว่าจะมีการขายสุทธิอีกหรือไม่
       "ภาพรวมตลาดฯยังไม่แน่นอน ต้องจับตาดูในสัปดาห์หน้าเกี่ยวกับการทำ Window Dressing และการซื้อกองทุนต่างๆ จะมาชดเชยภาวะตลาดหุ้นที่ปรับลงแรงหรือไม่ รวมถึงต่างชาติจะขายพอร์ตออกอีกแค่ไหน เพราะตอนนี้ SET ไม่สามารถลบภาพขาลงได้ เพียงแต่ติดตามเรื่องที่จะเป็นปัจจัยบวกช่วยให้ดัชนีฯกลับมาทรงตัวได้" นางสาวอาภาภรณ์ กล่าว
          ด้านกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้แบ่งพอร์ตสำหรับนักลงทุนระยะยาว และสำหรับนักลงทุนเก็งกำไร แนะให้ขายทำกำไรก่อนรีบาวน์ แล้วทยอยซื้อเข้ามาใหม่อีกรอบ ทั้งนี้ประเมินแนวรับที่ 1,350 จุด และแนวต้านที่ 1,450 จุด
          ด้านนายรณกฤต สารินวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์คันทรี่ กรุ๊ป ประเมินว่า ในสัปดาห์นี้ ดัชนีฯ จะยังคงผันผวนอยู่ในกรอบ 1,360 - 1,420 จุด แต่จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยแนะนำให้เข้าซื้อสะสมสำหรับลงทุนระยะกลาง-ยาว ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากปรับตัวลดลงแรงในช่วงที่ผ่านมา และมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

* แนะ Wait & See แต่นักลงทุนระยะกลาง-ยาว ให้เข้าทะยอยสะสม

          นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ระบุว่า ปัจจุบันภาวะดัชนีหุ้นไทย ยังคงเป็นไปตามภาวะขาลงตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเชื่อว่าจะยังคงส่งผลให้ดัชนีฯผันผวนต่อไปในระยะสั้น โดยสภาพคล่องที่หายไปอาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนบ้างในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามหากดูตามปัจจัยภายในต่างๆ ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก็ยังเติบโตได้ดี อีกทั้งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก
            "สำหรับดัชนีหุ้นไทยปีนี้ก็ยังคงไว้ที่ระดับ 1,700 จุด และไม่น่าจะมีการปรับเป้าหมายแล้ว เพราะไฮของปีนี้ก็ 1,650 จุดละ ส่วนจุดโลว์ในช่วงที่เหลือจากนี้ก็คงไม่น่าจะหลุด 1,300 จุด เพราะเป็นจุดที่มีพื้นฐานของ บจ. รองรับ แต่ปีหน้าอาจจะมีการปรับ จากที่เคยมองไว้ที่ 1,800 จุด ก็อาจจะเหลือที่ 1,700 จุดต้นๆ ซึ่งมองว่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้นปีละ 10% ถือเป็นระดับที่เหมาะสม เช่นเดียวกันกับความสามารถในการทำกำไรของ บจ." นายกวี กล่าว
          ขณะที่ไม่เห็นด้วยกรณีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น เนื่องจากดัชนีฯ ยังไม่ถึงจุดวิกฤตขนาดนั้น โดยมองว่าการที่ดัชนีฯ ปรับลดลง 20-25% ถือเป็นเหตุการณ์ปกติ หากจะมีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวดัชนีฯ ต้องลดลงเกิน 50% เป็นต้นไป
            ส่วนกลยุทธ์การลงทุน ระยะสั้นให้ Wait & See เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงหากจะเข้าเก็งกำไร สำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว ให้เข้าทะยอยสะสมหากดัชนีฯ ปรับลดลงที่ระดับ 1,350 จุด โดยให้เลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี ระดับ P/E ไม่สูงมาก อาทิ ADVANC HMPRO BGH

* ซีไอเอ็มบี คงเป้าดัชนีฯ ปีนี้ที่ 1,800 จุด เตือนระมัดระวังลงทุน 

           นายเกษม พันธ์รัตนมาลา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ eFinanceThai.comว่า จากกรณีที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายวันทำการ และวานนี้ (20 มิ.ย.) ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน จึงทำหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่าอาจมีการปรับลดเป้าดัชนีฯ ตลาดหุ้นไทย เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ในช่วงต้นปีนั้น สำหรับ บล.ซีไอเอ็มบี แล้ว จะไม่ปรับเป้าดัชนีฯ ลงแต่อย่างใด โดยยังคงเป้าดัชนีฯ ไว้ที่ระดับ 1,800 จุดตามเดิม
          เนื่องจากประเมินว่าความกังวลของนักลงทุนต่อกรณีที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ส่งสัญญาณว่าอาจมีการหยุดมาตราการผ่อนคลายเชิงนโยบายครั้งที่ 3 หรือ QE 3 นั้นเป็นเพียงแค่ระยะชั่วคราว โดยมาตรการดังกล่าวยังคงไม่มีกำหนดระยะเวลาในการหยุดหรือชะลอ จึงคาดว่าอาจทำให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลและกลับมาลงทุนได้อีกครั้ง
          พร้อมกันนี้ ประเมินว่านักลงทุนต่างชาติจะมีการขายสุทธิอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ โดยจะมีแรงซื้อเข้ามาบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในครั้งนี้คงจะไม่ใกล้เคียงกับการเทขายในช่วงวิกฤตการซับไพร์ม
           สำหรับกลยุทธการลงทุนในช่วงนี้ แนะนำนักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในระยะสั้น เนื่องจากขณะนี้ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกยังเคลื่อนไหวที่ผันผวน แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวสามารถถือต่อได้ เนื่องจากคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังดัชนีฯ มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น