วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

KTB บี้สหฟาร์มจำจนำ7บริษัท เพื่อกู้2.7พันล้าน

กรุงไทยบี้สหฟาร์ม บีบจำนำหุ้น 7 บริษัท แลกกู้ 2.7 พันล้าน updated: 22 พ.ย. 2556 เวลา 11:29:19 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ แบงก์เจ้าหนี้ขีดเส้นตาย "สหฟาร์ม" เข้าแผนฟื้นฟูกิจการก่อนสิ้นปี 2556 บีบให้นำหุ้น 7 บริษัทในเครือมาจำนำกับแบงก์ ขณะที่ ดร.ปัญญายังดิ้นขอใช้การปรับโครงสร้างหนี้แทน เหตุกลัวแบงก์ยึดกิจการขายทอดตลาด ด้านธนาคารกรุงไทยยอมรับ พร้อมอัดฉีดปล่อยกู้ให้ 2,700 ล้านบาท นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" กรณีหนี้สินของบริษัทสหฟาร์มที่เป็นปัญหาคาราคาซัง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการผลิตของบริษัทอยู่ในปัจจุบันว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้อนุมัติตั้งวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนให้บริษัทสหฟาร์มไปแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าสหฟาร์มจะรับเงื่อนไขที่ธนาคารตั้งไว้ได้หรือไม่ ขณะที่เจ้าหนี้รายอื่น ๆ เชื่อว่าหากสหฟาร์มยอมรับเงื่อนไข การช่วยเหลือทางการเงินจากเจ้าหนี้รายอื่น "ก็จะตามมา"โดยปกติหากลูกค้าเกิดปัญหา ธนาคารจะพิจารณาใน 3 เรื่อง คือ 1)อุตสาหกรรมหรือธุรกิจจะไปรอดหรือไม่ 2)โครงสร้างทางการเงินเป็นอย่างไร และ 3)ความสามารถในการบริหารจัดการ โดยเรื่องแรกนั้นภาพรวมยังมองว่า ธุรกิจของสหฟาร์มยังไปรอด เพราะยังมีความต้องการจากตลาด และมีโอกาสในการทำกำไรได้ ส่วนกรณีการขาดสภาพคล่องทางการเงินนั้น ทางธนาคารมองว่า สหฟาร์มมีปริมาณหนี้เทียบกับกำลังการผลิตไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าเป็นกังวลนัก "ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องลดหนี้ (Hair Cut)" ส่วนความสามารถในการบริหารจัดการที่มีปัญหานั้น การที่สหฟาร์มประกอบธุรกิจชำแหละและส่งออกไก่มากว่า 40 ปี มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ 1 ล้านตัว/วัน มีซัพพลายเชน มีแบรนด์ โดยรวมถือว่าแข็งแกร่งในหลายด้าน แต่ติดปัญหาเรื่องการบริหารธุรกิจแบบครอบครัวใหญ่ โดยขั้นตอนต่อจากนี้ หากสหฟาร์มยอมรับเงื่อนไขในการปล่อยกู้ ธนาคารกรุงไทยก็จะเข้าไปช่วยในเรื่องของการจัดระเบียบ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต้องมีวินัยทางการเงินมากขึ้น ที่ผ่านมาสหฟาร์มได้ปรับโฮลดิ้งจากเดิมถือหุ้นแบบกระจัดกระจายมาเป็นการสวอปหุ้นให้มาอยู่ภายใต้โฮลดิ้ง ซึ่งโฮลดิ้งจะถือหุ้น 100% ในทุกบริษัท "ตอนนี้ต้องเข้าไปจัดระเบียบ โดยดูว่าจะควบคุมอย่างไรให้สหฟาร์มมีวินัยในการใช้เงิน คือบริษัทไม่ได้โกง แต่วินัยในการใช้เงินอาจจะน้อย เห็นจากอยากลงทุนอะไรก็ทำ แต่ต่อไปแบงก์จะเข้าไปควบคุมเงินเข้า-ออกทั้งหมด เพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหวว่านำเงินไปทำอะไร กระทั่งการลงทุนในอนาคตควรทำหรือไม่" นายวรภัคกล่าว แหล่งข่าวจากวงการธนาคารเจ้าหนี้สหฟาร์มเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ธนาคารเจ้าหนี้ของบริษัทสหฟาร์มทั้งหมดพยายามประชุมหารือกันเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา โดยเห็นตรงกันที่จะให้บริษัทสหฟาร์มเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะทางธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ มีวงเงินมูลหนี้สูงถึงประมาณ 9,000 ล้านบาท  "ทางธนาคารกรุงไทยพร้อมที่จะปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ให้กับบริษัทสหฟาร์มใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2,700 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขให้นำหุ้นของบริษัทสหฟาร์ม และหุ้นบริษัทในเครืออีก 7 บริษัทที่ถือโดยบุคคลในตระกูลโชติเทวัญทั้งหมดมาจำนำกับทางธนาคาร เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มสหฟาร์มมีการโอนค่าใช้จ่ายระหว่างบริษัทซึ่งกันและกัน ธนาคารจึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องให้บริษัทในเครือเดียวกันทั้งหมดมายืนยัน แต่จนถึงขณะนี้ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ประธานกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงในเครือบริษัทสหฟาร์มทั้งหมด ยังไม่มีบุคคลใดลงนามยินยอมรับเงื่อนไขที่จะเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการที่ธนาคารเจ้าหนี้เสนอ แต่ทางสหฟาร์มยังขอเจรจาต่อรองที่จะเข้าสู่แผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มากกว่าการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการที่มองกันว่าจะถูกแบงก์ยึดบริษัท" อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการโอนค่าใช้จ่ายบริษัทในเครือซึ่งกันและกันนั้น ทางธนาคารได้รับรายงานจากการว่าจ้างบริษัท เอินส์ท แอนด์ ยัง เข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในอุตสาหกรรมการส่งออกไก่ พบว่าเป็นธุรกิจที่ยังเดินหน้าต่อไปได้ มีความต้องการของตลาด โดยวิเคราะห์ว่า หากบริษัทสหฟาร์มมีเงินทุนหมุนเวียนเข้าไปสักก้อน น่าจะกอบกู้ฟื้นฟูกิจการขึ้นมาได้  แหล่งข่าวในวงการปศุสัตว์เปิดเผยว่า การที่บริษัทสหฟาร์มยังไม่ลงนามเงินกู้ก้อนใหม่ ทั้งที่มีข่าวว่าธนาคารกรุงไทยตั้งวงเงินพร้อมอนุมัติให้แล้ว เนื่องจากเกิดปัญหาความขัดแย้งในการบริหารจัดการภายในตระกูลโชติเทวัญ ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องนำหุ้นของทุกบริษัทในเครือทั้งหมดไปเป็นหลักค้ำประกันด้วยวิธีจำนำตามข้อเสนอของแบงก์ มีการกล่าววิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่ผู้บริหารระดับรอง ๆ ลงมาว่า ดร.ปัญญากลัวว่าธนาคารจะนำหุ้นของบริษัทไปขายให้บริษัทอื่น  "ดร.ปัญญากลัวแบงก์มาฮุบกิจการ จึงพยายามดิ้นรนหาทางออก โดยหาผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากัน ล่าสุดมีข่าวลือกันในวงการว่า ผู้ร่วมทุนรายหนึ่งจากประเทศจีนสนใจที่จะเข้ามาร่วมทุน และหาทางออกที่จะประหยัดค่าไฟภายในโรงงานด้วย โดยเสนอจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ผลิตจากแกลบและขี้ไก่จากในฟาร์ม คาดว่าดีลน่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกันในระหว่างนี้ บริษัทสหฟาร์มพยายามหาเงินมาหมุนเวียน โดยการเจรจากับผู้ซื้อไก่จากตะวันออกกลางรายหนึ่ง ขอเบิกเงินล่วงหน้ามาก้อนหนึ่งก่อน อาจจะ 3% เพื่อมาใช้ในการผลิตเนื้อไก่ หลังจากส่งไก่ลอตแรกให้แล้วก็ขอเบิกอีก 5% เพื่อให้กิจการเดินไปได้ก่อน แต่ก็ไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่ เพราะทุกคนในวงการค้าไก่ก็รู้ว่าสหฟาร์มกำลังย่ำแย่" แหล่งข่าวกล่าว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น