วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดร. สุขุม นวลสกุล พูดน่าฟังเรื่องศาล

‘สุขุม’สวนศาลรัฐธรรมนูญ การเมือง วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ผู้เข้าชม : 9 คน
 อาจารย์สุขุม นวลสกุล วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมที่มา ส.ว. ขัดต่อระบอบการปกครอง เผยสมัย ปชป.เป็นรัฐบาล ก็ยังแก้ที่มาของ ส.ส.ได้ และสมัยพล.อ.เปรม เป็นนายกฯ เคยแก้ รธน.ไม่สำเร็จ ก็ไม่เห็นต้องรับผิดชอบ รองศาสตราจารย์ สุขุม นวลสกุล นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ ได้วิเคราะห์ไว้ในรายการเจาะข่าวเด่น เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ว่าจากคำตัดสินของศาลที่ระบุว่าการแก้ที่มาของ ส.ว. ครั้งนี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข แสดงให้เห็นว่า ศาลได้กำหนดรูปแบบการปกครองที่ละเมิดมิได้มาแล้ว คือต้องมี ส.ว. ทั้งที่มาจากการสรรหา และเลือกตั้ง ถึงจะเป็นระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขอีกได้แล้ว ยกเว้นถ้ามีการเปลี่ยนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีมาตรฐานในการตัดสิน
 อาจารย์สุขุม ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่เหมือนศาลอื่นๆ และตนก็พูดมานานแล้วว่าในคดีที่เหมือนกัน ถ้าคนละเวลา ศาลก็อาจตัดสินไม่เหมือนกันได้ ซึ่งก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว ขอย้อนไปถึงตอนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็มีการแก้ไขเรื่องที่มา ส.ส. แต่ตอนนั้นก็ไม่เป็นปัญหา แต่วันนี้ที่มา ส.ว. ที่มันก็ไม่น่าจะมีปัญหา กลับมีปัญหา เพราะศาลไปนิยามคำว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายถึงต้องมีวุฒิสภาแบบนี้ โดยอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ไปแก้จุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 40 จริง ๆ ผมก็ไม่เห็นด้วยกับที่ศาลมาวินิจฉัยแบบนี้ “ผมก็มองว่า ระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจมาจากประชาชน ตราบใดถ้าการแก้ไขทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจมากขึ้น มันก็เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้น การที่ ส.ว. ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา มันก็เหมือนเป็นประชาธิปไตยครึ่งหนึ่งในความรู้สึก ถ้า ส.ว. มาจากการเลือกตั้งหมด ผมถือว่าเป็นความก้าวหน้าของประชาธิปไตย”
 เมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญ ปี 50 อาจารย์สุขุม บอกว่า ในตอนที่ทำประชามตินั้น คนทำก็บอกให้รับร่างไปก่อน แล้วค่อยมาแก้กันทีหลังรัฐประหาร แต่พอมาแก้ตามบทบัญญัติไว้ กลับบอกว่าแก้รูปแบบไม่ได้ กำหนดไว้แล้วว่าเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทั้งนี้ หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ ก็ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมจะไปยื่นคำร้องขอให้ถอดถอน ส.ส. และ ส.ว. 312 คน ที่สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องปมที่มา ส.ว. เช่นเดียวกับ นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.เลือกตั้ง ที่ออกมาเรียกร้องให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะเคยพยายามยับยั้งไม่ให้ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว แต่นายกฯ กลับนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่ฟังคำทัดทาน เรื่องนี้อาจารย์สุขุม มองว่า นี่คือเรื่องการเมืองล้วนๆ โดยที่ผ่านมา การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้สำเร็จไปเสียทุกครั้ง และถึงจะแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยแก้ แต่ไม่สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบส่วน
ที่ว่านายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะกระบวนการมาอย่างนั้น รัฐธรรมนูญ ปี 50 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 15 วัน ดังนั้น นายกฯ จำเป็นต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ การที่บอกจะให้นายกฯ รับผิดชอบ ตนมองว่าเป็นการพยายามสร้างเหตุผลทางการเมืองขึ้นมา ขณะที่ ส.ว. 312 คน ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปมที่มา ส.ว. นั้น ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร ส่วนนายกฯ ไม่ต้องไปขอพระราชทานคืน แต่อาจจะรอจนถึง 90 วัน ค่อยว่ากันใหม่ ถ้า 90 วันไม่กลับมาแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้ก็ตกไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น