วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ศาล รธน. ล่วงอำนาจนิติบัญญัติ

อัดศาลรธน.ล่วงอำนาจ เชื่อไม่มีรัฐประหาร - กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ "นักวิชาการ-อดีตปธ.ศาลรธน."อัดศาลรธน.ก้าวล่วงนิติบัญญัติ กลายเป็นสภาที่3ดูการแก้ก.ม.เอง ลั่นทหารไม่ยึดอำนาจ ถามใครจะมาเป็นรัฐบาล มูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ร่วมกับสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับหลักประชาธิปไตยและนิติธรรม" ซึ่งมีนายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายสถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา และนายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมเสวนา

โดยนายกระมล กล่าวถึงหลักประชาธิปไตยว่า หลักประชาธิปไตย คือ การทำให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ดังนั้นถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ที่เขียนแล้วให้อำนาจประชาชนมากขึ้นเป็นตัวตั้ง ถือว่าสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้า แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแล้วลดทอนอำนาจประชาชนลดลง เท่ากับถอยหลังเข้าคลอง ขณะที่เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 4 ฉบับที่จริงๆ แล้วไม่ควรจะต้องมีมากขนาดนั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ตนเคยร่วมอย่างมากในการร่างและพอใจ คือฉบับปี 2517

ที่ถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ขณะที่ฉบับปี 2521 ที่เคยร่วมร่าง จะถูกกล่าวหาและต่อว่า เป็นเหมือนหมาขี้เรื้อน ถอยหลังเข้าคลอง เพราะมีการเขียนหลักการประชาธิปไตยที่เป็นแบบให้พัฒนาเป็นขั้นตอน เช่น 1 ปี แล้วจะเป็นอย่างไร จนถึง 4 ปีจะเป็นอย่างไร ก็ถูกโจมตีว่าพัฒนาประชาธิปไตยได้เแค่เพียงครึ่งใบ ขณะที่ฉบับปี 2540 ก็ถือได้ว่าทำให้เป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงและถาวร ขณะที่นายกมล กล่าวถึงกรณีที่ 312 ส.ส.และ ส.ว.ออกมาปฏิเสธไม่รับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่าในการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตั้งตนอยู่เหนือองค์กรทั้งที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ และเมื่อใช้อำนาจค่อนข้างมากจึงสร้างความตกใจให้กับองค์กรอื่น กระทั่ง สมาชิกสภาต้องออกมาพร้อมกันไม่ยอมรับ ขณะที่ต้องดูว่า ป.ป.ช.ที่ต้องพิจารณาเรื่องถอดถอน ส.ส.-ส.ว. จะยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ ซึ่งการที่ 312 ส.ส.-ส.ว.ออกมาไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จริงๆ ถือว่าทำได้ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาหรือประชาชนทั่วไปก็แสดงความคิดเห็นได้ เพียงแต่การออกมาปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่มีผลอะไรทางกฎหมาย

เพียงแต่เป็นการทำให้บุคคลภายนอกรับรู้ร่วมแสดงความคิดเห็นและเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้อีกฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ยังเชื่อว่าทหารจะไม่ออกมายึดอำนาจทำการปฏิวัติรัฐประหารล้างไพ่ใหม่ เพราะปัญหาที่ตามมาคือ แล้วใครจะมาเป็นรัฐบาล จะหาใครมา ใครจะมีความกล้าหาญเข้ามาเสี่ยงเมือในอดีต มีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ด้านนายยุทธพร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า หลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมต้องควบคู่กัน เราแบ่งแยกออกจากกันไม่ได้ แต่บ้านเราทั้ง 2 หลักไม่ได้เดินไปด้วยกัน เพราะโครงสร้างทางสังคมการเมืองถูกทำให้เกิดการบิดเบี้ยว รวมทั้งการบังคับใช้และตีความกฎหมายด้วย

ซึ่งเวลานี้องค์กรในอำนาจประชาธิปไตยได้ก้าวล่วงกันและก่อให้เกิดการไม่ยอมรับอำนาจซึ่งกันและกัน โดยช่วงหลังๆ องค์กรในอำนาจประชาธิปไตยไม่ได้อำนาจตามหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ อย่างเช่นกรณีมาตรา 68 นี้ รวมถึงเราไม่ได้กลไกทั้งในแง่สถาบันและกระบวนการทางเมืองอย่างถูกต้อง ขณะที่ปัญหาใหญ่คือรัฐธรรมนูญของไทยเราไม่เชื่อมต่อวิถีชีวิตของประชาชน ดังนั้นในแง่ของการจะมีหลักนิติธรรม นิติรัฐ ก็ยากที่จะเกิดขึ้น เมื่อเราไม่อาจทำให้รัฐธรรมนูญ ฯ ภายใต้ประชาธิปไตย สอดคล้องกับสังคมได้ และเราไม่อาจปรับวัฒนธรรมแบบไทยๆ ได้ จึงทำให้อำนาจแฝง และระบบอุปถัมภ์ยังคงอยู่

ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญออกมาคงทำให้ศาลทั่วโลกต่างตกใจและทำการศึกษาต่อไปว่าเรื่องของการเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะจริงแล้วไม่วาระบบเลือกตั้งหรือสรรหา ไม่มีอะไรที่ปราศจากความสัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์ เมื่อเราคิดเพียงแค่ว่าเลือกตั้งแล้วจะเกิดปัญหา แต่เราไม่แก้วัฒนธรรมนูญแบบไทยๆ ขณะที่อำนาจอธิปไตย คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะต้องอยู่ในแนวระนาบ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ ฯ ปี 2540 ให้อำนาจนิติบัญญัติสูงกว่าอำนาจอื่น จนเกิดความเข้มแข็งกระทั่งฝ่ายบริหารทำงานไม่ได้ รัฐธรรมนูญ ปี 2550

จึงพยายามทำให้อำนาจฝ่ายตุลาการสูงกว่าฝ่ายอื่นที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ โดยแนวคิดที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ามีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนั้น ต้องบอกว่าผิดตั้งแต่แรก เพราะแนวปรัชญาการเมืองระบุว่าอำนาจสูงสุดใน 3 อำนาจ คือนิติบัญญัติ ดังนั้นอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นอำนาจสภา จริงๆ ระบบตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ถูกจำกัดไว้อยู่แล้วในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 291 คือการควบคุมเชิงเนื้อหาว่าห้ามแก้ไขเรื่องใดบ้าง และผู้ที่มีอำนาจตรวจสอบคือสภา ไม่ใช่องค์กรศาลรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งประเด็นตรวจสอบจึงเป็นการคลาดเคลื่อนผิดพลาดไม่ใช่น้อย และที่น่าตกใจมาก คือการก้าวล่วงไปถึงอำนาจนิติบัญญัติ ทั้งเรื่องการเสียบบัตรแทน การยื่นเอกสารไม่ตรง การมีเวลาแปรญัตติที่น้อย ทั้งที่ไม่ใช่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญจะมาก้าวล่วง การวินิจฉัยครั้งนี้ จึงมีผลกระทบต่อความมั่นคงและหลักนิติธรรมด้วย

ซึ่งในการพิจารณากฎหมายจากที่ต้องผ่านแค่ 2 สภาคือรัฐสภา และวุฒิสภา วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นสภาที่ 3 ไปแล้ว นายสถิต อดีตรองประธานศาลฎีกา กล่าวว่า หลักประชาธิปไตย คือต้องมาจากการเลือกตั้ง เมื่อมีการวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งจะทำลายระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ก็เจ๊ง เขาแก้รัฐธรรมนูญจากการแต่งตั้ง ส.ว.ให้มาเป็นระบบเลือกตั้ง เรียกว่าแก้ให้เป็นประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญบอกไม่ใช่

ดังนั้นที่มีการพูดว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายน่าจะเป็นการเข้าใจมาโดยตลอด ที่ผ่านเราการแก้รัฐธรรมนูญ ฯ ให้เอาผู้พิพากษามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผู้พิพากษาไม่ได้ความรู้ประชาธิปไตยเลย ด้านนายเอกชัย รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม กล่าวว่า ในการวินิจฉัยเรื่องใดๆ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยบอกไว้ว่า การตัดสินจะต้องมีข้อเท็จจริงที่นิ่งและยุติแล้ว ซึ่งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ศาลระบุไว้ว่า เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วผู้ร้องอ้างรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 68 วรรค 2 ยื่นเรื่อง โดยคาดว่าผู้ถูกร้องกระทำการที่ล้มล้างการปกครองฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ดังนั้นศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยได้

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีใช้งบประชาสัมพันธ์เลือกตั้ง 258 ล้านบาท ศาลกลับพิจารณาคำร้องไม่ได้ เพราะระบุกระบวนการขั้นตอนทำคำร้องของกกต.นั้นไม่ถูกต้องไม่ได้ยื่นคำร้องมาภายใน 15 วัน กลายเป็นการตัดสินแค่ขั้นตอน ทั้งที่เรื่องนั้นมีข้อเท็จจริงควรวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นเข้าข่ายยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญที่ศาลบอกว่ามีอำนาจวินิจฉัยนั้น ถามจริงๆสมาชิกรัฐสภา ผู้ถูกร้อง เขาไปปล้นเสียงใครมาหรือไม่ เขาทำอะไรที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งเรื่องเสียบบัตรแทนกัน

ถ้ามีจริงก็ต้องไปพิสูจน์และมีมาตรการอื่นว่ากันตามขั้นตอน ขณะที่การศาลวินิจฉัยว่า การใช้สิทธิของส.ส.- ส.ว.ล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญฯปี 2550 มาตรา 130 วรรค ระบุว่าในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกผุ้ใดจะกล่าวถ้อยคำในการแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดผู้ใดฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกนั้นมิได้ ซึ่งกฎหมายเขียนไว้เพื่อไม่ให้สมาชิกต้องถูกข่มขู่จากใครก็ตามในการลงคะแนนเพื่อจะได้ใช้สิทธิอย่างเสรีภาพในวิจารณญาณโดยไม่ถูกข่มขู่ ขู่เข็ญ หรือจะโดนเช็คบิลข้างนอกหรือโดนศาลตัดสินหรือไม่ ซึ่งหลักความมั่นคงกฎหมายและในการตัดสินคดี คือการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน Tags : ศาลรัฐธรรมนูญ • เอกชัย ไชยนุวัติ • ยุทธพร อิสรชัย • กระมล ทองธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น