วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เจเน็ต เยลเลนเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มสปีด

รายงานพิเศษ วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ผู้เข้าชม : 5 คน เมื่อเจเน็ต เยลเลน พูด... วอลล์สตรีทฟัง และนักลงทุนชอบใจในสิ่งที่พวกเขาได้ยินเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นพลิกผันจากการขาดทุนในช่วงต้นและปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเช้าของวันพฤหัสฯที่ผ่านมา เมื่อเยลเลน ซึ่งประธานาธิบดี บารัค โอบามา เสนอชื่อให้เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เข้าให้การต่อกรรมาธิการธนาคารของวุฒิสภาเพื่อทำการไต่สวนก่อนยืนยันการแต่งตั้งเธอเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯแทน เบน เบอร์นันเก้ ซึ่งจะครบวาระลงในเดือนมกราคมปีหน้า เทรดเดอร์จากทั่วโลกจับตาการแสดงของเธอในวันนั้น และได้ข้อสรุปว่า เธอจะยึดมั่นกับนโยบายที่ได้ส่งผลให้หุ้นปรับตัวขึ้น ดัชนีสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ 500 ปิดในระดับที่สูงมากอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา 0.48% ทำให้ในปีนี้ปรับตัวขึ้นไปแล้ว 25.6% ส่วนดัชนีดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 54.59 จุด หรือ 0.35% อยู่ที่ระดับ 15876.22 จุด แม้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงสุดท้ายแล้ว แต่เยลเลนก็กล่าวว่า เธอไม่เชื่อว่าเงินกระตุ้นหลายล้านล้านดอลลาร์ที่เฟดได้อัดฉีดเข้าสู่ระบบการเงินนับตั้งแต่เศรษฐกิจล่มทั่วโลก ได้ก่อให้เกิดฟองสบู่... นั่นถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมากอีกอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเห็นในทางบวกของเธอเท่าที่วอลล์สตรีทเป็นกังวล เยลเลนกล่าวว่า “ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ที่การประเมินมูลค่าในปัจจุบัน คุณจะไม่เห็นราคาหุ้นในแดนที่ชี้ว่ามีภาวะเหมือนฟองสบู่” อย่างไรก็ดี กรรมาธิการบางคนจากพรรครีพับลิกัน ไม่ถือว่าความเห็นเช่นนั้นเป็นความเห็นที่ดี โดยไมค์ โจฮันส์ วุฒิสมาชิกจากเนบราสก้าของพรรครีพับลิกัน ตั้งข้อสังเกตต่อระดับของตลาดในขณะนี้ว่า “เศรษฐกิจคุ้นเคยกับน้ำตาลที่คุณได้ให้ไว้และผมห่วงแค่ว่าเราจะมีระดับน้ำตาลสูง” ในขณะที่มีการถกเถียงกันมาก ว่า นโยบายของเฟดเป็นสาเหตุให้หุ้นดีดตัวมากแค่ไหน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วอลล์สตรีทต้องการเห็นมันดีดตัวต่อไป เมื่อเบอร์นันเก้ส่งสัญญาณในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาว่าจะลดการซื้อพันธบัตรของกระทรวงการคลังและพันธบัตรจำนอง 85,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนในเร็วๆ นี้ หุ้นปรับตัวลงทันที และนับตั้งแต่กลางเดือนกันยายน เมื่อเบอร์นันเก้และผู้กำหนดนโยบายของเฟดสร้างความประหลาดใจให้แก่วอลล์สตรีทโดยไม่เริ่มลดโครงการซื้อพันธบัตร หุ้นก็ปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ด้วยการแสดงท่าทีที่ไม่รุนแรงเกี่ยวกับนโยบายเงินและโฟกัสไปที่ความจำเป็นที่จะทำให้การว่างงานลดลง เยลเลนกำลังบอกว่า เฟดจะไม่เลิกดำเนินนโยบายนี้จนกว่าจะเชื่อได้ว่าเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าด้วยตัวของมันเองได้ อย่างไรก็ดี วุฒิสมาชิกบางคน และผู้กำหนดนโยบายที่เป็นสายเหยี่ยวมากกว่า ได้เตือนว่า นโยบายที่เอื้อเฟื้อมากของเฟดนี้ ได้กระตุ้นให้เกิดการเสี่ยงมากเกินไปเนื่องจากผู้จัดการเงินต้องการผลตอบแทนหรือกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อซื้อหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ ก่อนที่จะมีการไต่สวนในสภาในวันพฤหัสฯ เทรดเดอร์จำนวนหนึ่งกลัวว่า เยลเลนจะแสดงท่าทีด้วยความระมัดระวังมากขึ้นเล็กน้อย แต่เธอกลับไม่ได้มีท่าทีเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีความวิตกเช่นกันเพราะผู้จัดการกองทุนจำนวนมากกำลังได้กำไรมากในปีนี้ และพวกเขาไม่ต้องการที่จะเห็นสิ่งใดๆ มาขัดขวางกำไรหรือโบนัสของพวกเขาไป โทเบียส เลฟโควิช หัวหน้านักกลยุทธ์หุ้นสหรัฐฯของซิตี้ กล่าวว่า ความสนใจของตลาดในขณะนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการลงทุนในระยะยาว แต่เกี่ยวกับการทำให้ปีนี้ดี และเยลเลนทำให้เกิดความรู้สึกต่อไปว่า ไม่มีการปิดประตูสภาพคล่อง ท่าทีของเยลเลนที่มีต่อตลาดหุ้นก็ทำให้เกิดแนวร่วมเชิงอุดมการณ์จำนวนหนึ่งอย่างผิดปกติ ในอดีต สมาชิกพรรครีพับลิกันถือว่ามีความเห็นอกเห็นใจต่อวอลล์สตรีท แต่ในขณะนี้สมาชิกรัฐสภาของพรรครีพับลิกันหลายคนโจมตีที่เฟดอุดหนุนตลาด เยลเลนเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งโดยพรรคเดโมแครตที่ถือว่ามีท่าทีเกี่ยวกับนโยบายเงินในสายพิราบ เธอกล่าวว่า ตลาดหุ้นดีพอและไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ดี เธอไม่ได้ให้การสนับสนุนตลาดโดยไม่มีเงื่อนไข ในการตอบโต้กับวุฒิสมาชิกบ็อบ คอร์เกอร์ สังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐเทนเนสซี่ เยลเล็น กล่าวว่า เธอจะไม่ลังเลที่จะเจาะฟองสบู่หากมันพัฒนาไป ซึ่งความเห็นเช่นนี้ ทำให้เธอมีความแตกต่างจากเบน เบอร์นันเก้และอลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯคนก่อนหน้า และเธอยังบอกว่าจะใช้อำนาจทางระเบียบของเฟดเพื่อควบคุมธนาคารเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤติการเงินซ้ำรอยกับปี 2551 อีก” แน่นอนว่า แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯจะเริ่มลดการซื้อพันธบัตรเป็นอย่างเร็วในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมหรือน่าจะรอไปจนกว่าจะถึงต้นปี 2557 มีสัญญาณหลายอย่างว่า วอลล์สตรีทอาจจะไม่มีปฏิกิริยาในทางลบเหมือนที่ได้ทำเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา เหตุผลคือ ข้อมูลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ดีกว่าไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจและการสร้างงาน ได้สร้างความหวังว่า การปิดหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯในเดือนตุลาคมไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก และอาจจะมีการขยายตัวด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า นอกจากนี้ เยลเลนยังชี้เมื่อวันพฤหัสฯว่า องค์ประกอบอื่นๆ ของนโยบายเงินจะยังคงให้ความเอื้อเฟ้อเช่นกัน แม้ว่าต้องลดการซื้อพันธบัตรต่อเดือนลง ตัวอย่างเช่น เฟดได้กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นจะยังคงใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์อย่างน้อยจนกว่าการว่างงานลดลงเหลือ 6.5% (จาก 7.3% ในขณะนี้) ขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก อย่างเช่น เจน ฮาตเซียส ของโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เฟดจะลดเกณฑ์การว่างงานลงเหลือ 6% ซึ่งหมายถึงว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงต่ำ อย่างน้อยจนกว่าจะเข้าสู่ปี 2559 “มีความรู้สึกว่า เธอกำลังโฟกัสไปที่ตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีต่อการกระตุ้นในระยะใกล้นี้” เลฟโควิช กล่าว --------------------- (ล้อมกรอบ) ประวัติ “เจเน็ต เยลเลน” ประวัติส่วนตัว : เกิดวันที่ 13 สิงหาคม 2489 ที่เมืองบรูคลิน นิวยอร์ก สมรสกับ จอร์จ อาเคอร์ลอฟ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ มีบุตรชาย 1 คน ชื่อ โรเบิร์ต อาเคอร์ลอฟ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยวอร์วิคในอังกฤษ การศึกษา : เกียรตินิยมเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ เมื่อปี 2510 และได้ปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล เมื่อปี 2514 หน่วยงานในสังกัดขณะนี้ : รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คณะกรรมการผู้ว่าการของธนาคารกลางสหรัฐฯ ศาสตราจารย์กิตติคุณมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น