วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หุ้นในกลียุค คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2556

หุ้นในกลียุค

คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2556 
ผู้เข้าชม : 7 คน 

สถานการณ์การเมืองเขม็งเกลียวยามนี้ ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นกลียุคชั่วขณะ หรือยาวนาน แต่มันทำให้ความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหุ้นทวีคูณขึ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น
                ตลาดหุ้นไม่กลัวความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงทางการเมืองเป็นความเสี่ยงที่หาความแน่นอนไม่ได้ ซึ่งเป็นภัยอันตรายต่อพอร์ตลงทุนของนักลงทุนทุกคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่สังคมไทยได้แสดงออกให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า โอกาสที่ความขัดแย้งระหว่างพลังสองพลังคือพลังของความต้องการมีส่วนร่วมในอำนาจ และพลังของการปฏิเสธการมีส่วนร่วม ในนามของสงครามสีเสื้อ ยังไม่อาจหาทางลงที่เหมาะสมได้ การลงทุนยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ไม่สามารถประเมินล่วงหน้าได้เลย
                ในยามที่ธุรกิจเอกชนไทย กำลังมีปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันลดถอยลง เรียกร้องการลงทุนภาครัฐในสัดส่วนสูงขึ้น แต่พัฒนาการทางการเมือง และความไม่ไว้วางใจกันและกัน ได้แปรความหมายของการลงทุนภาครัฐ เป็นความพยายามหาค่าเช่าส่วนเกินของผู้กุมนโยบาย ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ข้อกล่าวหาที่พยายามโค่นล้มทางอำนาจอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เปิดช่องให้กับสันติภาพและความก้าวหน้าเพียงน้อยนิด
                ในปรัมปราคติของฮินดูโบราณ กลียุค คือ หนึ่งในช่วงเวลาในสี่ของการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมียุคอื่นอีก 3 ยุคคือสัตยยุค เตรตายุค และทวาปรยุค ซึ่งทั้ง 4 ยุครวมกันเรียกว่ามหายุค โดยตำนานระบุว่า กลียุคมีอายุยาวนานถึง 432,000 ปี
ข้อสรุปของฮินดูระบุว่า ปัจจุบันนี้โลกอยู่ในกลียุคมีคนเชื่อมากที่สุด คำถามก็คือ แล้วหลังกลียุคคือยุคอะไร คำตอบก็คือยุคมืด เพราะผู้คนห่างเหินจากพระเจ้าอย่างถึงที่สุด และหลังจากถึงยุคมืดนั้น พระศิวะจะทรงเริงระบำท่าสุดท้ายที่ 108 แล้วเปิดพระเนตรดวงที่หน้าผากขึ้น เพื่อทำลายล้าง โลกจะถูกทำลาย เพื่อคืนสมดุลของโลกให้เกิดการสร้างโลกขึ้นใหม่
คำอธิบายดังกล่าว หากเป็นจริงก็ทำให้เบาใจได้ว่า การเมืองไทยยามนี้ ยังไม่ถึงขั้นกลียุคอันยาวนานเช่นนั้น แต่เป็นแค่ความวุ่นวายในระยะเปลี่ยนผ่านทางปัญญาและโครงสร้างของกลุ่มคนในสังคม ที่จะเปิดทางให้กับก้าวใหม่ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเป็นอะไร แล้วความไม่รู้นี่แหละ ที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นมา
ข้อเท็จจริงที่ไม่ปฏิเสธได้คือ ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมไทยถูกต้อนเข้าสู่มุมอับที่แรงขับเคลื่อนของเจตนารมณ์ที่ปราศจากปัญญาทำการปะทะกันจนกลายเป็นความเสี่ยงเสมือนสังคมสิ้นไร้ปัญญา สร้างวงจรอุบาทว์รอบแล้วรอบเล่า แล้วก็คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ในอดีต หลายคนพยายามมองโลกในแง่ดีว่า สังคมไทยนั้น เปรียบเสมือนกอผักตบชวา ปรับตัวง่าย ไม่จบไปกับวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ใน 7 ปีมาแล้วที่การเมืองไทยจมปลักกับปมปัญหาทักษิณจนถอนตัวไม่ขึ้น และไม่รู้ว่าทางออกอยู่ที่จุดไหน จนกระทั่งทรัพยากรทางการเมืองถูกใช้ไปอย่างเปล่าประโยชน์ครั้งแล้วครั้งเล่า
ความเสี่ยงทางการเมืองของไทยยามนี้ ถือเป็นความเสี่ยงจากภายในอันเกิดจาก 2 ทางพร้อมเดียวกัน คือ ความเสี่ยงจากการขาดแคลนตัวผู้นำหรือรัฐบาลที่มีคุณภาพ และความไร้เสถียรภาพของระบบการเมืองและสังคม
ปัจจัยความเสี่ยงทั้งสองด้านดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหารากเหง้าของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่บังเอิญมาบรรจบพร้อมกันอย่างไม่ได้นัดหมาย
-          ความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยถดถอยลงจากปรากฏการณ์ “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ที่ยังหาทางออกไม่ได้ สะท้อนจาก ค่าแรงแพง แรงงานขาดแคลน เงินทุนไหลออก การลงทุนของเอกชนในประเทศชะงัก การบริโภคในประเทศแผ่วเบาลง และการส่งออกที่ถดถอย
-          ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ปริร้าวได้ง่ายจากการแย่งชิงทรัพยากรและความมั่งคั่งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มหลักคืออภิสิทธิ์ชนในเขตเมืองใหญ่ และกลุ่มชนชั้นกลางใหม่จากหัวเมืองที่เติบโตรวดเร็ว
-          พัฒนาการทางการเมืองที่อำนาจรัฐรวมศูนย์ไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์กับทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ที่รุดหน้าไปไกลจากการปฏิวัติทางความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคม
3 ปัญหาดังกล่าว มีลักษณะเสมือน “วัวพันหลัก” ที่การแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งลงท้ายที่สุด ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลยกลายเป็นการพายเรือในอ่าง หรือปมกอร์เดี้ยน
ตัวอย่างเช่น ความพยายามของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ ในจังหวะที่ธุรกิจเอกชนไม่สามารถลงทุนได้อย่างเพียงพอ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ถูกยกระดับขึ้นเป็นข้อกล่าวหาทางการเมืองเชิงวัฒนธรรมเรื่องคอร์รัปชั่น ที่บานปลายเป็นการพยายามโค่นล้มอำนาจ
ความไม่ลงร่องเช่นนี้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยต้องกลายเป็นเหยื่อของความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการเมืองควบคู่กันไป ซึ่งทุกครั้งที่มีความตึงเครียดทางการเมืองเกิดขึ้น การประเมินความเสี่ยงทางการเมืองถือเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถดูเบาเกินไปได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นความเสี่ยงสูงสุดที่ทำให้เกิดมุมมองเชิงลบต่อการลงทุน
ข้อคิดจากนาธาน ร็อธไชลด์ นักลงทุนในตลาดหุ้นมือเก่าครั้งสงครามนโปเลียน ที่อาศัยข้อมูลข่าวสารเหนือกว่าผู้อื่น ทำกำไรจากการคาดเดาความเสี่ยงแม่นยำกว่า สร้างกำไรมหาศาลที่ว่า “เมื่อเลือดนองถนน ให้เข้าซื้อ” และ “เมื่อเสียงแตร (แห่งชัยชนะ )ดังขึ้น ให้ล้างพอร์ต” จึงเป็นคำเตือนสติการลงทุนเก็งกำไรในตลาดหุ้นได้เสมอ
ยามนี้ ตลาดหุ้นไทยกำลังถูกครอบงำด้วยรังสีอำมหิตของการทำลายล้างทางการเมือง จนกระทั่งแนวรับที่ดัชนี SET ระดับ 1,300 จุด ถูกตั้งคำถามว่าจะรับแข็งแกร่งได้มากน้อยแค่ไหน การพิจารณาปรับพอร์ตเพื่อความเหมาะสม จึงเป็นภารกิจใหม่ในยามที่ตลาดหุ้นถูกต้อนเข้าสู่มุมอับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น