วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

2 ล้านล้าน ตอนนี้ ถือว่าจิ๊บจ๊อยมาก เป็นผม 6 ล้านล้านผมก็ทำ

กระทู้: "ไม่มีประเทศไหนทำรถไฟรางคู่แล้วล่มจม"

เจ้าสัวซีพี "ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตอบคำถามพร้อมอธิบาย เมื่อถูกถามถึงประเด็นที่กำลังร้อนแรงเกี่ยวกับโครงการ "การลงทุน 2.2 ล้านล้าน" ของรัฐบาลชุดปัจจุบันเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรางทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า และไฮปสปีดเทรน

เป็นการฉายภาพจากประสบการณ์ตรงที่สั่งสมมานานของมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3.93 แสนล้านบาท ผ่านมุมมองธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง

ท่ามกลางนักธุรกิจและคนที่สนใจล้นหลามในงาน 20 ปี มูลนิธิไทยคม เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

เจ้าสัวธนินท์ ขยายความว่า รถไฟความเร็วสูงไปถึงที่ไหน ที่ดินตรงนั้นก็ขึ้น เป็นการขึ้นทั้งประเทศ

ดังนั้น การลงทุน 2 ล้านล้านของรัฐบาลถือเป็นเรื่องที่ควรทำและควรรีบทำโดยเร็ว

"2 ล้านล้าน ตอนนี้ ถือว่าจิ๊บจ๊อยมาก เป็นผม 6 ล้านล้านผมก็ทำ ถ้าโครงการครั้งนี้ไม่ผ่าน ต่อไป 6 ล้านล้าน ในอนาคตไม่รู้จะสร้างได้หรือเปล่า ไม่มีประเทศไหนทำรถไฟรางคู่แล้วล่มจม โดยดูได้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของแต่ละประเทศ ก็จะเห็นภาพชัดทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้"

ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังยกตัวอย่างรถไฟความเร็งสูงของญี่ปุ่นด้วยว่า ชินคันเซ็นของญี่ปุ่นรถไฟความเร็วสูงกว่า 200 ก.ม./ช.ม. เมื่อสร้างเสร็จประเทศญี่ปุ่นเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วเพราะเมื่อรถไฟความเร็วสูงไปถึงที่ไหนทำให้แถวนั้นเจริญขึ้น ที่ดินราคาสูงขึ้น

เมืองไทยจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟรางคู่ นอกจากช่วยขนคนยังขนสินค้าด้วยทำให้ต้นทุนถูกลง ทำให้ต่อไปไทยจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางที่แท้จริง ไปถึงเมืองจีน พม่า เขมร ลาว และอินเดีย ตลาดยิ่งใหญ่อยู่ที่จีน พม่า ไทย อินเดีย ซึ่งจีนที่มีจำนวนประชากร 1,300 ล้านคน อินเดีย 1,000 ล้านคน พม่า 60 ล้านคน ไทย 70 ล้านคน

ที่สำคัญโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้าน ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และจีดีพีสูงขึ้น การจ้างงานสูงขึ้นได้ทันที

การที่ประเทศไทยมีแผนการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยตัวเอง เจ้าสัวธนินท์ยังมองว่าเป็นทางเลือกที่ดีท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจในต่างประเทศ

"เช่นเดียวกับตอนนี้ทุกคนกังวลกับเศรษฐกิจอเมริกา ซึ่งเป็นธรรมดาเพราะปกติพออเมริกาป่วยปั๊บก็ดึงเอายุโรปป่วยไปด้วย แต่อาการเที่ยวนี้แปลกประหลาดมาก เพราะไม่ได้ดึงให้เอเชียป่วยตาม

ผมมองว่า เป็นเพราะว่า พออเมริกาป่วย ยุโรปป่วย แล้วเงินไปไหน มองไปมองมาเอเชียกำลังรุ่งเรือง หุ้นก็ยิ่งถูกลงๆ เงินก็ไหลกลับมาทางเอเชียทำให้สนุกกันใหญ่ หุ้นก็ขึ้น ทองคำก็ขึ้น

และพออเมริกาเริ่มฟื้นคนก็เห็นโอกาสของอเมริกา เงินที่ไหลมาทางเอเชียจะถอนกลับ ถอนกลับมากที่สุดคืออินเดีย ที่ 2 คืออินโดนีเซีย ผมว่าเมืองไทยสะเทือนเหมือนกันแต่ไม่มาก"

มุมมองของนายธนินท์ยังเชื่อว่า เมื่อเงินต้องไหลกลับอเมริกาก็อาจทำให้มีวิกฤตแน่นอน...แต่แค่ชั่วคราว

กระนั้น ถ้าไม่มีวิกฤตก็ไม่มีโอกาส แต่เมื่อมีโอกาสก็ย่อมต้องมีวิกฤตอันนี้แน่นอนของคู่กัน ครั้งนี้มองว่าเพียงชั่วคราวเงินกลับไปก็ต้องไหลกลับมาแน่นอน เพราะว่าเอเชียกำลังเติบโตและเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นแน่นอน

"เมื่ออเมริกาดีขึ้น ยุโรปก็ต้องดีขึ้น เมื่อยุโรปดีขึ้น เอเชียก็ต้องดีขึ้น" เจ้าสัวสรุป

เขายังวิเคราะห์สถานการณ์ในมุมบวกว่า ช่วงนี้จึงกลายเป็นโอกาสสำคัญของจีน เพราะจีนเป็นพี่เบิ้ม จีนต้องการเข้ามาสู่อาเซียน จึงเป็นโอกาสดีของอาเซียนและประเทศไทย

"วันนี้จีนนอกจากจะเอานักธุรกิจมาลงทุนในไทย ยังชวนนักธุรกิจไทยไปลงทุนที่เมืองจีนด้วย อยากแนะนำให้รัฐบาลไทยควรให้มีบีโอไอมาส่งเสริมนักธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศ ไม่ใช่ส่งเสริมให้แต่นักธุรกิจในต่างประเทศมาลงทุนในเมืองไทย

แน่นอนว่าการแข่งขันทางการค้าย่อมสูงขึ้น ต่อไปถือว่าเป็นสงครามเศรษฐกิจ เขามาเราไป เขามาลงทุนเอากำไรของเรากลับบ้าน เราก็ต้องไปลงทุนต่างประเทศเอากำไรคืนกลับบ้าน สนามรบเป็นสนามการค้า เมื่อไปลงทุนกับที่ไหนเพื่อนบ้านยิ่งต้องสนิทกัน พึ่งพาอาศัยกันทำประโยชน์ซึ่งกันและกัน"

นอกจากนี้ เจ้าสัวซีพี ยังย้ำว่า ควรจะหมดยุคได้แล้วที่มัวแต่จะคิดขายแรงงานอย่างเดียว กดค่าครองชีพ เพื่อให้มีแรงงานต่ำ ไปผลิตสินค้าราคาถูกๆ

และตอกย้ำมุมคิดที่เขายึดมาตลอดนั่นคือ ต้องผลักดันให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้นและเกษตรกรต้องมีรายได้ที่ดี

"สิ่งที่อยากจะบอก ถ้าประเทศไหนเกษตรกรไม่ร่ำรวย ประเทศนั้นก็จะไม่ร่ำรวย ร่ำรวยก็จะไม่แน่นแฟ้น ไปศึกษาดูได้เลยทั่วโลก มีประเทศไหนไม่ปกป้องสินค้าเกษตร แม้กระทั่งอเมริกาเหลือเกษตร 1% ก็ยังต้องปกป้อง ไม่ใช่ว่าต้องเอามาเลือกตั้งหาเสียง แต่เกษตรกรคือเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ถ้าสินค้าเกษตรตกต่ำ เงินก็ต่ำไปด้วย มันเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ มันยิ่งกว่าน้ำมันอีก ผมเรียกว่าเป็นน้ำมันบนดิน

ลองไปศึกษาว่าจริงไหม ว่ามีประเทศไหนที่เจริญได้ เกษตรกรไม่รวย ทำให้ WTO ก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะต่างคนต่างบอกว่าไม่ได้ ผมต้องปกป้องสินค้าเกษตร ปกป้องทรัพย์สมบัติของเขา แต่ประเทศที่ด้อยพัฒนาแทบทุกประเทศยังไม่เข้าใจ กลัวคนจนในเมืองกินของแพง เลยกดราคาสินค้าเกษตร กดทรัพย์สมบัติตัวเองหดตัว ราคาสินค้าถูกยิ่งกว่าน้ำมัน

สินค้าเกษตรเลี้ยงมนุษย์ น้ำมันเลี้ยงเครื่องจักร ทีนี้ถามกลับว่าเครื่องจักรสำคัญหรือมนุษย์สำคัญ ถ้ามนุษย์สำคัญกว่า แต่ทำไมผู้ผลิต supply ให้กับมนุษย์ถึงจนเอาจนเอา มีเหตุผลไหม? มีแต่ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนานี่แหละ กลัวที่สุดคือสินค้าเกษตรสูง"

เจ้าสัวธนินท์ยังมองว่า คนใดที่กลัวราคาสินค้าเกษตรแพง นั่นหมายความว่าคนเหล่านั้นไม่เข้าใจเศรษฐกิจ ไม่ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์

"ประวัติศาสตร์ไม่ได้เรียนรู้แต่เฉพาะการเมือง เศรษฐกิจยิ่งต้องไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ อย่างเมื่อก่อนไต้หวันยากจนกว่าเมืองไทยตั้ง 8 เท่า แล้วทำไมใช้เวลา 20 ปี เศรษฐกิจไต้หวันล้ำหน้าประเทศไทย ตอนนั้นเงินเดือนต่ำกว่าคนไทยตอนนั้น 8 เท่า ที่ผมไปปี 1960 แต่ข้าวสารกิโลละ 10 บาท แต่เราเงินเดือน 800 ข้าวสารกลับกิโลละ 3 บาท

เพราะทุกประเทศในโลกนี้ไม่มีคนไหนที่ปู่ย่าตายายหรือทวดหรือรุ่นขึ้นไปไม่ใช่เป็นชาวนา สมัยก่อนไม่มีอุตสาหกรรม มีแต่ชาวนา แล้วถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อ ประเทศจะร่ำรวยได้อย่างไร ตอนนั้นไต้หวันเองก็ไม่เหมือนจีน และไม่เหมือนไทย ใครจะกล้าไปลงทุนไต้หวัน ประชากรมีอยู่ 10 กว่าล้านคน"

มองในมุมของการพัฒนาเปรียบเทียบกับประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ไต้หวันใช้เวลา 20 ปีสร้างตัวเองขึ้นมาและเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก เกาหลีใต้ใช้เวลา 27 ปีร่ำรวยและเดินทางไปเที่ยวทั่วโลก

"ญี่ปุ่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะเขาถือว่าซามูไรเป็นมือขวา ชาวนาเป็นมือซ้ายของจักรพรรดิ เพราะมือขวานี้ปกป้องประเทศ มือซ้ายเลี้ยงคนทั้งประเทศ แล้วไม่สำคัญได้อย่างไร"

แต่ประเทศที่ด้อยพัฒนาละเลยการยกระดับเกษตรกร นั่นต่างหากที่ทำให้ประเทศยากจน

ดังนั้น รัฐบาลที่มีฝีมือต้องทำให้คนในเมืองรวยขึ้น เกษตรกรรวยขึ้น กำลังซื้อเกิดขึ้น รัฐบาลมีภาษีมากขึ้น เกษตรถึงจะเข้าสู่อุตสาหกรรม

"ตอนนี้เราเนื้อหอม ก็ต้องฉวยโอกาส นโยบายรัฐบาลปัจจุบันนี้ถูกต้องที่สุด เราคบทุกประเทศ แล้วใครให้ประโยชน์เราสูงเราก็คบมาก เหมือนเวลามีทางเลือก ทำไมต้องไปผูกกับคนเดียว ญี่ปุ่นเราก็ต้องคบ รัสเซียก็ต้องคบ จีนถ้าให้ประโยชน์เราสูง เราก็คบมากหน่อย ไม่มีใครว่า"

ก่อนที่เจ้าสัวซีพีจะทิ้งท้ายแบบมองมุมบวก และให้ความหวังกับคนไทยเต็มที่ว่า

"ผมมองวันนี้ ขอให้การเมืองนิ่งหน่อย คนไทยจะร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์"

นั่นคือวิสัยทัศน์ 2020 ของประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่พร้อมจะร่วมขบวนรถไฟความเร็วสูง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและเชื่อว่า ประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาส ณ เวลานี้

บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ/(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 18-24 ต.ค.2556)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น