วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความรับผิดชอบ คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2556

ความรับผิดชอบ

คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2556 
ผู้เข้าชม : 8 คน 

               นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัทตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ TFEX ออกมากล่าวประโยคที่ว่า “ต้องขออภัยนักลงทุนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตอนนี้เป็นเหตุสุดวิสัย ทางเราก็ดำเนินการอย่างดีที่สุด เจ้าหน้าที่นักพัฒนาระบบของเรายังไม่ได้นอนตั้งแต่เมื่อคืนนี้ ส่วนเรื่องที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเกิดความเสียหายต่อนักลงทุนมากน้อยแค่ไหนนั้น คาดว่าจะเกิดไม่มาก เพราะนักลงทุนทั้งฝั่งซื้อ-ขายต่างไม่สามารถทำธุรกรรมได้ทั้งคู่”

               ง่ายดายเสียเหลือเกิน สำหรับคำอธิบายซึ่งไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็เป็นการปัดสวะ

                ปัญหาระบบการซื้อขายในตลาด TFEX ที่ขัดข้องตลอดเช้าวันพุธที่ 6 ผ่านมา จนนักลงทุนไม่สามารถทำการส่งคำสั่งซื้อขาย ซึ่ง “เป็นปัญหาทางระบบที่กินเวลานานที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาด TFEX ขึ้นมา”  ด้วยการสรุปสั้นๆ ว่า “สุดวิสัย”

ช่วงเวลาดังกล่าว ตลาดซื้อขายตราสารอนุพันธ์ ซึ่งถือเป็นตลาดล่วงหน้ามีหลายผลิตภัณฑ์ ต้องชะงักงัน โดยเฉพาะอนุพันธ์ที่อิงกับดัชนีราคาตลาดหุ้น  เพราะปัญหา คือ ตลาดหุ้นหลักซึ่งเป็นตลาดซื้อขายทันทียังดำเนินต่อไปไม่ได้หยุดด้วย นักลงทุนในตลาดตราสารล่วงหน้าที่จะปิดสถานะ ก็จนปัญญาทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยเลยตามเลย

             เมื่อตลาดแก้ไขระบบซื้อขายเสร็จก็เปิดมาใหม่ แต่ดัชนีไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว เพราะดัชนีได้บวกขึ้นไปไกลพอสมควร ผลลัพธ์คือ คนที่ซื้อสถานนะ “ชอร์ต” เอาไว้ พากันขาดทุนยับเยิน ในขณะที่คนเปิดสถานะ “ลอง”กำไรเละเทะ

คำขออภัยท่ามกลางการได้เปรียบเสียเปรียบของคนสองกลุ่มที่วางสถานะเก็งกำไรต่างกัน ช่วยลดความเสียหาย หรือยกเลิกกำไรที่ไม่ได้เจตนามากน้อยเพียงใดหรือ               ไม่ คำตอบคือไม่ได้เลย

             เมื่อคำขออภัย ไม่สามารถทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนบางกลุ่มยับยั้งหรือได้รับการชดเชย แล้วยังตามด้วยคำพูดง่ายๆ บอกเพียงแค่ว่า “คงเสียหายไม่มาก”  (เพราะไม่ได้ไม่เสียกับใครอื่น) ถือเป็นความอำมหิตจากการเฉยเมยต่อนักลงทุนที่เป็น“ลูกค้า” ในฐานะผู้บริหารระบบการซื้อขาย

             ท่าทีและทัศนคติเช่นว่านี้ อาจจะเป็นที่คุ้นเคยของบรรดานักการเงินหรือ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ที่มักจะติดปากกับคำว่า  ข้อสงวนเพื่อจำกัดความรับผิด(disclaimer) ซึ่งใช้กันจนเกร่อในการปกป้องตนเองจากความรับผิดชอบทั้งในทางกฎหมายและจริยธรรมของตลาดทุนไทย (นับแต่ ก.ล.ต. เป็นต้นมา) ในทำนอง “เนื้อหาทั้งหมดที่แสดง มิใช่การให้คำแนะนำหรือความคิดเห็นด้านกฎหมาย และมิใช่การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน ท่านจึงต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงภัยด้วยตนเองหากมีการกระทำหรือตัดสินใจใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”  แต่ในกรณีระบบซื้อขายล้มเหลว (trading system breakdown) ย่อมไม่อาจปัดสวะเช่นนี้ได้ เพราะมันเกี่ยวกับความเชื่อถือ และความรับผิดชอบ
             สำหรับคนไทยแล้ว ความเชื่อมั่น และความรับผิดชอบ อาจจะมีความหมายแตกต่างกัน  แต่ในภาษาอังกฤษ มาจากคำเดียวกันคือ accountability ถือว่า ความรับผิดชอบ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ  ซึ่งวิคเตอร์ แฟรงเกิล นักคิดร่วมสมัยระบุว่า คนที่ปราศจากความรับผิดชอบ หรือ ขอรับแต่ชอบ ไม่ยอมรับผิด ไม่สมควรได้รับความเชื่อถือใดๆ
             ในกรณีของตลาดเก็งกำไรนั้น เรื่องของระบบซื้อขาย ล้มเหลว เนื่องจากคอมพิวเตอร์ขัดข้อง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายความไว้วางใจในตลาด (the reliability of electronic market)
             ในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งตลาดมีการใช้ระบบซื้อขายคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาเร็วมาก ก็มีปัญหาที่เป็นกรณีศึกษาให้เห็นเป็นครั้งคราว แต่ละครั้ง ก็นำมาซึ่งการแก้ไขที่เอาจริงเอาจัง ไม่ปล่อยปละเละเลยเพราะถือว่า “สุดวิสัย”
              เมื่อสองปีก่อน ตอนที่มีการเปิดจองซื้อหุ้นไอพีโอของ Facebook ในตลาดหุ้นแนสแด็ก ปรากฏว่าระบบเกิดล่มขึ้นมา มีคนที่จองแล้วไม่ได้ฟ้องร้องขึ้น ท้ายที่สุด ตลาดแนสแด็กต้องยอมรับว่ามีปัญหากับระบบซื้อขายและกระบวนการตัดสินใจที่ “บกพร่อง” พร้อมจ่ายเงินค่าปรับให้กับ SEC  สำหรับการทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจจากนักลงทุนเป็นวงเงิน 10 ล้านดอลลาร์
              เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ของแนสแด็กทั้งระบบก็ล่มอีกยาวนาน 3 ชั่วโมง ซึ่งผลลัพธ์คือ บริษัทลงทุนเก็งกำไรชื่อ Knight Capital Group Inc.ขาดทุนมากถึง  460 ล้านดอลลาร์ จนถูกเทกโอเวอร์กิจการในที่สุด ทำให้มีการสืบสวนความผิดปกติของระบบซื้อขาย ถึงขั้นที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ต้องเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะถือว่าเป็นการทำให้กลไกเศรษฐกิจของประเทศขัดข้อง
             ความสำคัญมากนี้ ทำให้มีการทบทวนระบบซื้อขายทั้งระบบของตลาดเก็งกำไรทั่วสหรัฐฯโดยที่ SEC หรือ ก.ล.ต.ของสหรัฐฯเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหา พร้อมกับมีมติออกมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันว่า จะต้องพัฒนาระบบสำรองเพื่อทดแทนในกรณีที่ระบบซื้อขายอีเล็กทรอนิกส์เกิดล่มขึ้นมาอีก ทั้งยกระดับแผนปฏิบัติการ สร้างระบบตรวจสอบและส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงความผิดปกติ ในรูปโซลูชั่น ที่เรียกกันในชื่อรหัสว่า ‘kill switches’ เพื่อช่วยยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการที่ระบบล่มลงไปกะทันหัน
             แม้ว่าการกระทำเพื่อแก้ไขดังกล่าวจะมีลักษณะ “วัวหายล้อมคอก” ไม่สามารถเรียกคืนอดีตแต่ละครั้งได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ช่วยทำให้ความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้
             ความสำคัญของระบบซื้อขายของตลาดเก็งกำไร ทำให้เมื่อเกิดเหตุซึ่งว่าจะเกิดจากความบกพร่องใดๆ ไม่บังควรเลยที่ผู้บริหารจะมาบอกว่า “สุดวิสัย”  หรือ “คงไม่เสียหายมาก” เพราะแม้ว่าตลาดหลักทรัพย์จะเป็นองค์กรที่มีข้ออ้างได้ว่า ไม่แสวงหากำไร แต่ส่วนแบ่งค่าต๋งที่ตลาดได้รับจากปริมาณการซื้อขายที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริหารและพนักงานของตลาด มีเงินเดือนและโบนัสงามๆ (ซึ่งเหนือกว่าคนในก.ล.ต.ที่โดยโครงสร้างน่าจะเหนือกว่า) กันมายาวนาน ย่อมเรียกร้องประสิทธิภาพในการทำงานให้ถึงระดับ ดีที่สุดคือพาร์ (par excellence)
             นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้น ไม่มีนิสัยหรือสันดอนชอบค้าความเหมือนอเมริกันหรือคนตะวันตก ทำให้ผู้บริหารตลาดที่ระบบซื้อขายล่มซ้ำซาก เคยตัวกับความไม่เอาไหนของงานในความรับผิดชอบ ถือเสียว่า “สุดวิสัย” ได้เรื่อยๆ
             หากมีนักลงทุนหรือคนที่เกี่ยวข้อง ยกเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ขึ้นร้องเรียน หรือฟ้องศาลบ้าง น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดี จะได้ไม่เจอแต่คำอธิบายมักง่ายแค่ “ขออภัย” ก็จบเรื่องกันอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น