วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หุ้นเสี่ยงโดนฮุบกิจการ!!

หุ้นเสี่ยงโดนฮุบกิจการ!!
รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน 2557 


บริษัทยักษ์ใหญ่มักมีกลยุทธ์ที่หลากหลายในการนำบริษัทเล็กๆ มาถือครองให้เป็นกรรมสิทธิ์เป็นของตนเอง ที่เรียกว่า “บริษัทย่อย” ถือเป็นการสร้างอาณาจักรของตัวเองให้ยิ่งใหญ่ขึ้น แบบที่ต้องการขยายธุรกิจออกไป เพื่อที่จะไม่เป็นแค่เพียงบริษัทด้านหนึ่งด้านใดเท่านั้น จึงมองหาบริษัทที่มีปัญหาแล้วนำมา “แต่งตัวใหม่” โดยใช้กลยุทธ์หลักการ 3 รูปแบบ ดังนี้
1) การควบกิจการ (Mergers) หมายถึง การที่กิจการหรือบริษัทตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปตกลงรวมกิจการกันเป็นกิจการเดียว ซึ่งมักจะเป็นกรณีที่บริษัทหนึ่งดูดกลืนอีกบริษัทหนึ่งหรือมากกว่า โดยทั่วไปแล้ววิธีการควบกิจการ (Mergers) มี 3 รูปแบบ : รูปแบบที่ 1 คือการใช้เงินหรือตราสารเปลี่ยนมือ (Negotiable instrument) ซื้อสินทรัพย์ของบริษัทอื่น รูปแบบที่ 2 คือ การซื้อหุ้นของบริษัทอื่น
รูปแบบที่ 3 คือ ออกหุ้นใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิในหุ้นเดิมที่มีอยู่ ซึ่งทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและหนี้สิน จุดเด่นของการควบรวมกิจการอยู่ที่ฝ่ายที่ถูกควบรวมกิจการจะสูญเสียความเป็นนิติบุคคลหรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพของนิติบุคคล
2) การซื้อกิจการ (Acquisition) หมายถึง การที่กิจการหนึ่งนำเงินหรือพันธบัตร (debenture, bond) หรือหุ้นเพื่อมาซื้อหุ้นหรือทรัพย์สินของอีกกิจการหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการควบคุมกิจการนั้น โดยจุดเด่นของการซื้อกิจการ (Acquisition) อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงอำนาจในการควบคุมกิจการของบริษัทที่ถูกซื้อกิจการ แต่ความเป็นนิติบุคคลของบริษัทที่ถูกซื้อกิจการไม่ได้สูญหายไป
โดยการซื้อกิจการ (Acquisition) มีรูปแบบที่สำคัญสองรูปแบบ รูปแบบที่ 1 คือ การที่บริษัทหนึ่งเข้าไปซื้อทรัพย์สินของอีกบริษัทหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยบริษัทที่ขายทรัพย์สินยังคงดำเนินการต่อไปได้ การซื้อกิจการลักษณะนี้ เรียกว่า “Asset Acquisition” รูปแบบที่ 2 คือ การที่บริษัทเข้าไปซื้อทรัพย์สินและหนี้สินของอีกบริษัทด้วยการซื้อหุ้น จนเป็นผลให้ผู้ถือหุ้นเดิมสูญเสียอำนาจในการบริหาร การซื้อกิจการลักษณะนี้เรียกว่า “Share Acquisition”
3) การเทกโอเวอร์ (Take over) หมายถึง การที่กิจการ (บริษัท) หนึ่งซึ่งมีผู้ถือหุ้นเดิมที่มีอำนาจในการควบคุมบริษัท (โดยทั่วไปแล้วหมายถึง ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากที่สุดในบริษัทนั้น) ถูกอีกบริษัทหนึ่งกว้านซื้อหุ้น ไม่ว่าด้วยการจำหน่ายหุ้น โอนหุ้น จนกระทั่งผู้ถือหุ้นเดิมสูญเสียอำนาจในการออกเสียงและอำนาจในการควบคุมกิจการไป
กลยุทธ์ข้างต้นอาจเปรียบดัง “ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก” ที่บริษัทยักษ์ใหญ่กำลังหาหุ้นขนาดเล็กที่เริ่มอ่อนแอ ซึ่งมักเกิดกับบริษัทที่มีปัญหาด้านผลประกอบการที่เริ่มขาดสภาพคล่อง ประกอบการมูลค่าทางตลาดไม่ใหญ่มาก!!
ข่าวหุ้นธุรกิจ” จึงมีการรวบรวมข้อมูลบริษัทที่อาจเป็นเป้าหมายการถูกซื้อกิจการในอนาคต โดยดูจากภาพรวมของผลประกอบการของบริษัทที่ย่ำแย่ ทำให้บริษัทเกิดการเพิ่มทุนบ่อยครั้ง เพื่อความปลอดภัยและความอยู่รอดในการนำเงินไปขยายธุรกิจต่อไป แต่อาจเป็นเป้าหมายสำคัญแก่บริษัทใหญ่ๆ ที่จะเข้ามาฮุบกิจการ เพราะไม่อย่างนั้นบริษัทเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะโดนถอดถอนออกจากตลาดหุ้นได้
สำหรับหุ้นที่มีโอกาสโดน “การควบกิจการ” “การซื้อกิจการ” และ “การเทกโอเวอร์” อาทิ RPC, KDH, NPP, TSF, ACD, BIG, WAT, AQ และ E ส่วนรายระเอียดมีดังนี้
บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ RPC เป็นบริษัทที่ดำเนินการกลั่นคอนเดนเสทเรสซิดิว (CR) เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตา และเคมีภัณฑ์ โดยมีโรงกลั่นตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และจัดจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปทั้งเบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์ ผ่านสถานีบริการน้ำมัน “เพียว” โดยมีคลังน้ำมัน 1 แห่ง ได้แก่ คลังน้ำมันระยอง
ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ผลประกอบการออกมาผิดหวัง โดยดูได้จากปี 2555 ถึงปัจจุบัน ในปี 2555 บริษัทขาดทุน 133.59 ล้านบาท ต่อมาในปี 2556 บริษัทขาดทุน 139.54 ล้านบาท และงวดไตรมาส 3/57 ขาดทุน 107.53 ล้านบาท การขาดทุนดังกล่าวเป็นผลจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หยุดส่งวัตถุดิบให้แก่บริษัท ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555
ขณะที่บริษัทมีหนี้สินรวม 1,763.01 ล้านบาท แต่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีเพียง 1,507.53 ล้านบาท ได้ค่า D/E อยู่ที่ระดับ 1.17 เท่า พบว่าบริษัทเริ่มมีหนี้สินเข้ามารบกวน จึงเป็นเหตุที่บริษัทมีการเพิ่มทุน 2 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 56-57 จึงอาจเป็นบริษัทที่มีโอกาสถูกบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าซื้อกิจการได้
ถัดมา บริษัท ธนบุรี เมดิเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ KDH ประกอบธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี (เดิมชื่อ โรงพยาบาลกรุงธน 1) โดยให้บริการด้านการแพทย์แก่ผู้ใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงให้คำปรึกษา วินิจฉัยโรค และรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทางแก่ผู้ป่วย
นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีศูนย์แพทย์เฉพาะทางต่างๆ และหน่วยบริการพิเศษไว้บริการผู้ป่วย เช่น สถาบันเต้านมสมิติเวช ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ศูนย์จักษุกรรมและเลสิก ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ ศูนย์สุขภาพ และแผนกฉุกเฉิน เป็นต้น
ทั้งนี้ เชื่อว่าหุ้นตัวนี้หลายคนกำลังมองที่จะเข้าเทกโอเวอร์อยู่แน่นอน เนื่องจากเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลซึ่งมักถูกเทกโอเวอร์ ยิ่งไปกว่านั้นหากดูผลประกอบการของบริษัทในปี 56 บริษัทขาดทุน 60.28 ล้านบาท ส่วนในไตรมาส 3/57 บริษัทขาดทุน 29.38 ล้านบาท
ส่วน บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BIG ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อีกทั้งบริษัทมีธุรกิจใหม่ คือ บริษัท บิ๊ก คาเมร่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายกล้องถ่ายรูป ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และให้บริการล้างอัดภาพ มีสาขาทั่วประเทศกว่า 250 สาขา ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีสินทรัพย์สุทธิจำนวน 317 ล้านบาท โดยผลจากการได้มาซึ่งธุรกิจดังกล่าวตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปจัดว่าเป็นการรวมธุรกิจแบบย้อนกลับ
ดังนั้น ผลการดำเนินงานในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ของบริษัทฯ จะสะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัท บิ๊ก คาเมร่า จำกัด เป็นหลัก รวมทั้งข้อมูลที่นำมาแสดงเปรียบเทียบเป็นผลการดำเนินงานของบริษัท บิ๊ก คาเมร่า จำกัด เช่นเดียวกัน เนื่องจากว่าการรวมธุรกิจแบบย้อนกลับดังกล่าวจะทำให้เกิดค่าความนิยมจำนวน 42 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทฯ พิจารณาแล้วว่าค่าความนิยมดังกล่าวไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตแก่บริษัทฯ ได้ จึงพิจารณารับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสำหรับค่าความนิยมดังกล่าวทั้งจำนวน เป็นการส่งผลให้ผลการดาเนินงานในงวดปีนี้แสดงเป็นผลขาดทุน
สิ่งสำคัญเมื่อไปดูหนี้สินรวมของบริษัทมากถึง 1,154.61 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น 348.21 ล้านบาท ได้ค่า D/E อยู่ที่ระดับ  3.32 เท่า แสดงว่าบริษัทมีปัญหาหนี้สินจริงๆ จึงไม่แปลกใจที่มีรายการเพิ่มทุนตั้งแต่ปี 56-57 มากถึง 7 ครั้งอีกด้วย
(บริษัทที่เหลือดูได้จากตาราง)
ข้อมูลข้างต้นอาจจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง เป็นเพียงสมมติฐานจากงบการเงินที่ขาดทุนมาเรื่อยๆ ประกอบกับการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นประการใดต้องดูกันไปยาวๆ!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น