ชื่อ:  news_img_617433_1.jpg
ครั้ง: 9682
ขนาด:  37.1 กิโลไบต์


คุณค่าของความสำเร็จไม่ได้มาจากขนาดของทรัพย์สิน แต่การมีเงินเลี้ยงดูทั้งครอบครัว คือ เรื่องภูมิใจของ “ฐิติ"

นักลงทุนบางคนอาจวัดคุณค่าของความสำเร็จจากจำนวนเงินที่พอกพูนในบัญชี แต่สำหรับ “ปิง-ฐิติ กิตติพัฒนานนท์” เซียนหุ้นไซด์ใหญ่ น้องรักเบอร์หนึ่งของ “เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะความสำเร็จของ “คุณพ่อลูกสอง” คือ ความภาคภูมิใจที่ได้เลี้ยงดูคนในครอบครัวทั้ง 11 ชีวิต ให้กินอิ่มนอนหลับ ด้วยเงินที่ได้จากการลงทุนในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว

สำนวนไทยที่ว่า “หาเช้ากินค่ำ” น่าจะเหมาะกับชีวิตวัยเด็กของปิง ฉะนั้นจึงไม่แปลกหากคนสนิทมักได้ยินเขาพูดเสมอว่า แม้พอร์ตหุ้นจะพุ่งแตะ “หลักร้อยล้าน” แต่ไม่เคยลืมคุณค่าของเงิน กว่าจะหามาได้แต่ละบาทช่างยากเย็นแสนเข็น เบื้องหลังของการมีเงินจะมีใครรู้บ้างว่า วันที่ขาดทุนหุ้นต้องแอบร้องไห้อยู่ในใจบอกใครไม่ได้ แม้กระทั่งลูกเมีย เครียดแค่ไหน เจ็บมากเท่าไหร่ ไม่เคยมีใครรับรู้

“น้องรักเสี่ยยักษ์” ก้าวขาเข้าตลาดหุ้น ตามคำเชื้อเชิญของรุ่นพี่ที่ทำงานในปี 2537 ด้วยการควักเงิน 7,500 บาท ร่วมลงขันซื้อหุ้นตัวหนึ่ง แม้เขาจะจำไม่ได้ว่า ประสบความสำเร็จในหุ้นตัวแรกของชีวิตหรือไม่ แต่ “กำไรก้อนแรก” จำนวน 300,000 บาท ของปิงเกิดขึ้นในปี 2538 จากหุ้น IPO บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO ด้วยการชักชวนน้องของแม่มาลงทุน โดยมีข้อแม้ว่า ต้องแบ่งกำไรตามเงื่อนไขที่กำหนด

จากนั้นไม่นานตังค์ในกระเป๋าของ “ปิง” เริ่มหนาขึ้นเป็น 700,000 บาท หลังหันมาลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrants) ด้วยการทุ่มสุดตัวเล่นมาร์จิ้น 60 เปอร์เซ็นต์ เงินสด 40 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือ 911 ในปี 2544 พอร์ตลงทุนไหลรูดเหลือแค่ “หลักหมื่นบาท” ทำให้ความฝันอยากมีเงิน 1 ล้านบาท “สลายไปในพริบตา”

“อยากสู้ต่อ” เมื่อเกิดความคิดนี้ในสมอง “ปิง” จึงตัดสินใจไปขอภรรยาถอนเงินสินสอด 500,000 บาท ไปซื้อหุ้น IPO บมจ.ปตท.หรือ PTT จำนวน 20,000 หุ้น ราคา 35 บาท แต่ผลการลงทุนในครานั้น คือ “ขาดทุน” เมื่อรวมกับการตัดขายขาดทุนหุ้นตัวอื่นๆ เพราะต้องนำเงินไปรักษาพ่อที่ป่วยหนัก ทำให้เหลือเงินในพอร์ตเพียง 250,000 บาท

ด้วยความที่อยากเล่นหุ้นต่อ ทำให้เขาแก้ปัญหา ด้วยการนำรถยนต์ส่วนตัวไปรีไฟแนนซ์ได้เงินกลับมา 200,000 บาท โดย “ปิง” ได้นำเงินไปซื้อ หุ้น จีเอฟพีที หรือ GFPT และ หุ้น บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ หรือ ZMICO การลงทุนในครั้งนั้น ทำให้พอร์ตลงทุนพุ่งทะยานเป็น 10 ล้านบาท ในปี 2547 แต่ถึงแม้จะได้ครอบครองเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกในชีวิต แต่การลงทุนในช่วงนั้นออกแนวไม่ค่อยราบรื่น

ผ่านมาถึงปี 2549 “ปิง” เหลือเงินติดตัวแค่ 7 ล้านบาท หลังเล่นหุ้นแนวเทคนิเคิลในช่วงตลาดขาลง ช่วงนั้นเขาตัดสินใจถอนเงินออกจากพอร์ต 5 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปซื้ออาคารพาณิชย์ แถวสามย่าน ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านที่เซ้งไว้ในราคา 8.5 ล้านบาท ตามคำขอของผู้เป็นแม่ ส่งผลให้เหลือเงินเล่นหุ้นเพียง 2 ล้านบาท

แต่เมื่อเขาสนิทกับ “เสี่ยยักษ์” ในปี 2550 หลังมีโอกาสเจอกันในงานสัมมนา "7 เซียนหุ้น" “ปิง” ก็นำคำสอนเรื่องการลงทุนที่ว่า “ซื้อหุ้นทางต่ำ” ของ “เสี่ยยักษ์” มาช่วยปั้นพอร์ต ของตัวเอง จากทุน 2 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งหุ้นหลายๆตัวที่สร้างกำไรแทบไม่ใช่หุ้นตัวเดียวกับ “เซียนหุ้นรุ่นลายคราม” แต่การปรับเทคนิคการลงทุน ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการสำรวจพื้นฐานต่างหาก คือ ตัวช่วยชั้นเยี่ยม!!

คำสอนบทหนึ่งที่ “ปิง” นำมาปรับใช้ คือ นักลงทุนจะประสบความสำเร็จได้ต้องรู้จักคำว่า “ถูกที่-ถูกเวลา-ถูกน้ำหนัก” ซึ่งกลยุทธ์นี้ทำให้ “เสี่ยยักษ์” สามารถชนะหุ้น PTT หลังทุ่มเงิน 140 ล้านบาท ซื้อหุ้น PTT จำนวน 4 ล้านหุ้น ต้นทุน 70 บาท และขายออกเมื่อราคาดีดตัว

ความหมายของคำว่า “ถูกที่” คือ ต้องซื้อหุ้นถูกตัว หลังวิเคราะห์ข้อมูลมาแล้วอย่างถี่ถ้วน “ถูกเวลา” คือ ซื้อถูกจังหวะ เพราะจะทำให้สามารถโกยกำไรได้ในระยะสั้นๆ “ถูกน้ำหนัก” คือ ซื้อครั้งละมากๆ หากเดินตามยุทธศาตร์นี้อาจมีโอกาสได้กำไรในหุ้นตัวเดียวคราวละมากๆ แต่การซื้อแบบ “ถูกน้ำหนัก” นักลงทุนหลายคนทำไม่ค่อยได้ เพราะเงินบนหน้าตักมีไม่มากพอ

“แม้วันนี้ฐานะการเงินจะดีขึ้นกว่าในอดีต แต่ผมก็ยังคงใช้ชีวิตติดดินเช่นเคย รวยหุ้นไม่ได้แปลว่า จะกินข้าวข้างถนนไม่ได้ ทุกวันนี้ไม่เคยคิดว่าตัวเองรวย” “ปิง-ฐิติ กิตติพัฒนานนท์” บอกความเป็นตัวตนให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง

เขา เล่าว่า “พระเอก” ที่ทำให้พอร์ตลงทุนแตะ 20-30 ล้านบาท ต้องยกให้ หุ้น ทุ่งคาฮาเบอร์ หรือ THL ถือเป็นตัว “จุดพลุ” ตอนนั้นราคาหุ้นวิ่งอยู่ 1.50 บาท หลังดูเทคนิเคิลทำให้เชื่อว่า ถ้าผ่าน 1.52 บาท ไปได้ ราคาวิ่งแน่ ด้วยความที่ชอบความท้าทายเลยจัดหนัก ซื้อไม่นานราคาวิ่งไป 1.60 เลยจัดอีกดอกที่ 1.70 บาท ซื้อไปซื้อมามีต้นทุนเฉลี่ย 1.90 บาท จากนั้นมีข่าวว่าบริษัทได้รับใบอนุญาตให้ทำเหมืองทองคำ คราวนี้หุ้นวิ่งใหญ่เลย ถือไม่ถึงเดือนไปปล่อยที่ 2.80 บาท ได้กำไรกลับมาประมาณ 5 ล้านบาท

จากนั้นก็เล่นหุ้นแบบสะเปะสะปะไปเรื่อยๆ เช่น หุ้น จี สตีล หรือ GSTEL ซื้อ 0.80 บาท ปล่อย 1.70 บาท แต่ตัวนี้ได้กำไรไม่เยอะ มาได้มากๆ คือ หุ้น ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น หรือ PTTAR ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นหุ้น พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC, หุ้น ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA และหุ้น บ้านปู หรือ BANPU เป็นต้น

ตอนนั้นเราพูดกับ “พี่ยักษ์” กลางโต๊ะอาหารว่า หุ้น PTTAR น่าสนใจนะ แกลุกขึ้นตบโต๊ะแล้วพูดว่า “เราจะรวยแล้ว” ผมเข้าไปเก็บตอน 9 บาท ปล่อยออก 11 บาท ใช้เวลาไม่ถึงเดือน ตอนนั้นไม่ได้มีสตอรี่อะไรเลย แต่ราคาหุ้นต่ำมาก เพราะราคาน้ำมันแย่ ก่อนจะมาเก็บอีกครั้งที่ 12 บาท ขาย 17 บาท และกลับไปซื้อใหม่ 18-19 บาท ขาย 27 บาท สรุปแล้วได้กำไรจากหุ้น PTTAR หลายล้านบาท

ส่วนหุ้น STA ถือเป็นตัวทื่ทำให้ “เฉียดรวย” ทุน 36 บาท (พาร์ 5 บาท) ใช้เวลาไม่ถึงปีได้กำไรมาประมาณ 4-5 ล้านบาท ก่อนลงมือช้อนเคยไปบอก “เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” และ “พี่ยักษ์” แต่แกบอกว่า ไม่ชอบเล่นหุ้นคอมมูนิตี้ สำหรับหุ้น บ้านปู ซื้อ 225 บาท ขาย 270 บาท

“เซียนหุ้นหลักร้อยล้าน” เล่าถึง “หุ้นในดวงใจ” ว่า หุ้นที่พลิกพอร์ต จาก “หลักสิบล้าน” เป็น “หลักร้อยล้าน” ในปี 2552 คือ หุ้น ช.การช่าง หรือ CK และ หุ้น ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE ตอนโน้นหุ้น CK ซื้อขายอยู่แค่ 5 บาท ขณะที่ หุ้น ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC วิ่งขึ้นจาก 2 บาท มายืน 12 บาท เมื่อลองเข้าไปดูรายละเอียด ทำให้พบว่า ราคาหุ้น CK ที่ 5 บาท เหมือนราคาฟรี

เพราะตอนนั้น CK กำลังรอเซ็นสัญญาเขื่อนไซยะบุรี มูลค่า 100,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทในเครือมีมูลค่าดีๆหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ทีทีดับบลิว หรือ TTW, บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือ BECL และบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL จากการประเมินในครานั้น ทำให้รู้ว่า ต้นทุนที่ CK ถือหุ้น TTW อยู่ที่ 4 บาท แต่ราคาหุ้น TTW วิ่งไปซื้อขายที่ 7 บาท ขณะที่ CK มีต้นทุนหุ้น BECL แค่บาทกว่า ส่วนหุ้น BMCL ตีราคายาก เพราะช่วงนั้นยังขาดทุนอยู่

จากเหตุผลที่บอกไป ทำให้จัดหนักหุ้น CK ในราคา 5.50 บาท ช่วงที่ราคาขึ้นไป 11 บาท เราไม่ยอมขาย สุดท้ายไปปล่อยที่ 9 บาท (หัวเราะ) ทำให้ได้กำไรกลับมากว่า 20 ล้านบาท ด้วยความที่เชื่อเส้นกราฟที่สัญญาณบ่งบอกว่า ราคาจะขึ้นไป 30 บาท เลยไม่ยอมปล่อย หลังทิ้งหุ้น CK ไม้แรก ก็มาซื้อหุ้น CK อีกครั้ง หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ ในราคา 7 บาทกว่า และปล่อยออก 12-20 กว่าบาท ปัจจุบันขาย CK หมดเกลี้ยงแล้ว

ส่วนหุ้น TRUE ตอนนั้นมองว่า แม้บริษัทจะมีหนี้สินเยอะ แต่ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ในฐานะหุ้นใหญ่ ไม่มีทางปล่อยให้เจ๊งแน่นอน เริ่มมาซื้อหุ้น TRUE ตอนปี 2555 ทุน 5 บาท ก่อนจะขายในส่วนของมาร์จิ้นออกในราคา 9 บาท และเก็บในส่วนของเงินสดเอาไว้ จากนั้นไม่นานราคาหุ้นหักหัวลง ชีวิตช่วงนั้นต้องแอบร้องไห้อยู่ในใจ บอกใครไม่ได้ ทำได้แค่ย้ำกับตัวเองว่า “แพ้ไม่ได้” สุดท้ายตัดใจเก็บอีกครั้งที่ 7 บาท และขายออกบางส่วนในราคา 12 บาท สถานการณ์พลิกทันที..

“ขายเฉพาะหุ้น TRUE ตัวเดียว ก็ได้กำไรมากกว่าร้อยล้าน”

“ปิง” เล่าต่อว่า ปัจจุบันมีหุ้นหลักๆอยู่ในมือแค่ 2 ตัว คือ หุ้น ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และหุ้น อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD แต่ตัวที่เป็น “ดวงใจอันดับหนึ่ง” ต้องยกให้หุ้น TRUE ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 13 ล้านหุ้น เคยมีมากถึง 20 ล้านหุ้น

ส่วนหุ้น ITD เพิ่งจัดมา เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 20 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 5.7 บาท ก่อนหน้านี้เคยชอบ หุ้น โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA ตอนนั้นมีอยู่ในมือประมาณ 4 ล้านหุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 21 บาท แต่ขายออกไปหมดแล้ว หลังเจอหุ้นในดวงใจตัวใหม่อย่างหุ้น ITD

ทำไมถึงชอบหุ้น TRUE และ ITD เขาตอบคำถามนี้ว่า สำหรับหุ้น TRUE ผมชอบแผนการเพิ่มทุนที่เบ็ดเสร็จของเขา ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนบริษัทนำไปจ่ายหนี้ 52,000 ล้านบาท ทำให้เหลือหนี้เพียงกว่า 40,000 ล้านบาท ฉะนั้นบริษัทจะประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้ปีละ 4,000 ล้านบาท ทำให้วันนี้บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ต่ำมาก ฉะนั้นหากบริษัทจะกู้เงินกับแบงก์ย่อมทำได้ง่าย

ขณะที่ค่าเสื่อมระบบ 2G กำลังจะหมดในช่วงไตรมาส 3/2557 ฉะนั้นธุรกิจจะเริ่มกลับมามีกำไร ไม่แน่อาจได้เห็นบริษัทโชว์กำไรในช่วงไตรมาส 3 นี้ อีกอย่างการที่บริษัทจับมือเป็นพันธมิตรกับ “ไชน่าโมบายล์” คงจะช่วยเสริมธุรกิจกันได้เป็นอย่างดี

ส่วนหุ้น ITD ชอบเพราะบริษัทมีงานก่อสร้างอลังการงานสร้างมากมาย เช่น 1.โครงการทวาย โดยรัฐบาลไทย-เมียนมาร์ จะเพิ่มงานก่อสร้างให้ ITD ระยะเวลา 16 ปี มูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท คาดว่าเฟส 1 จะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 20,000 ไร่ โดย ITD จะร่วมมือกับ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ หรือ ROJNA 2.โครงการสัมปทานท่าเรือน้ำลึก และระบบทางรถไฟในประเทศโมซัมบิก ซึ่งบริษัทได้รับสัมปทานเต็มเฟส 8 ปี มูลค่า 240,000 ล้านบาท

3.โครงการลงทุนในเหมืองโปแตส จังหวัดอุดรธานี มูลค่าโครงการ 35,000 ล้านบาท 4.โครงการเหมือง Bauxite ประเทศลาว มูลค่า 30,000 ล้านบาท 5.โครงการทางด่วนยกระดับ Dhaka ประเทศบังคลาเทศ มูลค่าโครงการ 38,000 ล้านบาท โครงการที่เล่าไป ITD จะเป็นทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขณะเดียวกันบริษัทยังได้งานก่อสร้างของรัฐบาลอีกหลายงาน เช่น โครงการน้ำ และโครงการ 2 ล้านล้านบาท

“จากการส่องพื้นฐานหุ้น ITD เชื่อว่าไม่เกิน 2 ปี ราคาอาจขึ้นไปแตะ 15 บาท นี่เป็นความเชื่อส่วนตัวของผมนะ ตลอดชีวิตการลงทุน ผมขาดทุนหุ้นมาก็เยอะ แต่ด้วยความที่ปล่อยของไว ทำให้ไม่ค่อยเจ็บหนัก ปกติจะวาง “จุดตัดขาดทุน” ไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่รอไม่ถึงก็ไปแล้ว”

ระหว่างทยอยซื้อหุ้นหลักเล่นหุ้นเก็งกำไรควบคู่ด้วยหรือไม่? เขาตอบว่า แน่นอน หุ้นเก็งกำไรแม้ไม่ได้รักแต่ต้องเล่นเพื่อฝึกสมอง ส่วนใหญ่จะเล่นเป็นรอบๆ พร้อมเปิดไอแพดโชว์หุ้นในมือให้ดู ตอนนี้ก็เล่นอยู่หลายตัว เช่น หุ้น รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL หุ้น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN และหุ้น เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง หรือ GEL เป็นต้น

เล่นหุ้นเก็งกำไร แค่ต้องการหาค่ากับข้าว บางครั้งการเดินตามรอยผู้ใหญ่แล้วดี ก็ควรทำไม่ใช่หรือ นักลงทุนรายใหญ่บางรายกว่าจะประสบความสำเร็จหลายคนก็เล่นหุ้นเก็งกำไรมาทั้งนั้น วันนี้หากจะวัดเบอร์กระดูกของผมกับรายใหญ่คงเทียบกันไม่ได้ แต่เราสามารถเดินตามคนเก่งๆได้ ตั้งแต่ถือหุ้นยาวๆ ใจเริ่มนิ่งมากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนซื้อหุ้นเยอะๆ ทุกคืนนอนไม่เคยหลับ

ปัจจุบันยังไม่ได้เล็งจะช้อนหุ้นตัวไหนเพิ่มเติม เพราะหุ้นหลายตัวในตลาดแพงมากแล้ว แต่ล่าสุดเพิ่งลงทุนใน บริษัท ไทย เนชั่นแนล โปรดัคท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ริช เอเชีย สตีล หรือ RICH ร่วมกับนักลงทุนอีก 2 ราย (ดร.พศิน สืบทรัพย์อนันต์ และ เดือนดารา ลิ้มธนากุล) ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 30 บาท (พาร์ 10 บาท)

ส่วนตัวจะถือหุ้นประมาณ 6 ล้านหุ้น จากหุ้นทั้งหมด 18 ล้านหุ้น โดยบริษัทย่อยดังกล่าวมีแผนจะแตกพาร์เหลือ 1 บาท และอาจเตรียมเข้าตลาดหุ้นกลางปี 2558 ดีลนี้ “พี่ยักษ์” เป็นคนแนะนำ หลังแกเข้าไปลงทุนในหุ้น RICH ราคา 0.30 บาท การลงทุนลักษณะนี้ให้ผลตอบแทนที่ดี ฉะนั้นหากมีดีลดีๆก็คงเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม

ถามถึงกลยุทธ์การเลือกหุ้น เขา เล่าว่า ข้อแรก ลงทุนในหุ้นเทิร์นอะราวด์ ข้อสอง ลงทุนในหุ้นที่มีสตอรี่ ข้อสาม ถามตัวเองก่อนว่า ชอบหุ้นแบบไหน ส่วนตัวไม่ชอบเล่นหุ้นปั่น หรือหุ้นซิ่ง ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่นักลงทุนวีไอ เพราะชอบเล่นเป็นรอบๆ ระยะเวลาของรอบเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี วิธีการหาหุ้นด้วยเทคนิเคิล ส่วนใหญ่จะเน้นดูกราฟ DAY ด้วยการอาศัยสัญญาณ MACD และ Modified Stochastic คิดง่ายๆ “เข้าด้วยเครื่องมืออะไร จงออกด้วยเครื่องมือนั้น”

ส่วนตัวไม่เคยวางเป้าหมายเรื่องตัวเลขของพอร์ตว่า อนาคตต้องขึ้นไปยืนระดับใด ทุกวันนี้ถือว่ามีเงินใช้พอเพียงแล้ว แต่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ได้จากตลาดหุ้นมากกว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี ตลาดหุ้นทำให้รู้จักคุณค่าของเงิน เขาย้ำ นักลงทุนเก่งๆ ส่วนใหญ่จะประหยัดกันทั้งนั้น อย่างตัวเราเองเคยจนมาก่อน ยิ่งทำให้ต้องใช้เงินอย่างรู้คุณค่า กว่าจะมีวันนี้ได้เราต้อง “ขยัน กล้า บ้า อึด”

“ห้องนอน คือ ห้องเทรดหุ้นของนักลงทุน FULL TIME นามว่า “ปิง” แม้วันนี้จะมีห้อง VIP ส่วนตัวอยู่ที่บล.เอเชีย เวลท์, บล.พัฒนสิน และบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) แต่ก็ไม่ชอบไป ส่วนใหญ่จะใช้เวลาดูหุ้นตั้งแต่ตลาดเปิดจนถึงบ่ายสามโมง เพราะหลังจากนั้นต้องไปทำหน้าที่พ่อ รับลูก 2 คน ที่โรงเรียน”

“ฐิติ” ทิ้งท้ายบทสนทนาที่ยาวนานเกือบ 5 ชั่วโมงว่า “ตั้งแต่รู้จัก "พี่ยักษ์" มา 7 ปี นอกจากจะได้มุมมองเรื่องการลงทุน และความมั่นใจในการลงทุนแล้ว แกยังสอนเรื่องการใช้ชีวิตด้วย ทุกวันนี้ "พี่ยักษ์" เปรียบเหมือนพ่อคนที่สองของผมก็ว่าได้ เพราะแกให้ทั้งโอกาส และความรู้"


“นักลงทุนที่เก่งสุดในชีวิตของผม คือ "แม่" ท่านลงทุน เพื่อการศึกษาของลูก โดยที่ไม่เคยได้อะไรกลับคืนมา”