วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ตกแต่งบัญชี

แต่งบัญชี

คอลัมน์ วันพฤหัสบดีที่ 06 พฤศจิกายน 2557 
ผู้เข้าชม : 0 คน 

พอล ซิงเกอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทกองทุนรวม ชื่อดัง Elliott Management  เจ้าของกองทุนเฮดจ์ฟันด์มูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มาแรง ไม่แพ้เจ้าของกองทุนรุ่นเก่าอย่างจอร์จ โซรอส
ความแรงของพอล ซิงเกอร์ ไม่เฉพาะมูลค่ากองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่เติบโตเร็วเท่านั้น แต่อยู่ที่เขาเป็นคนที่ประกาศตัวเปิดเผยว่านิยมพรรครีพับลิกันอย่างเข้าไส้ พร้อมจะวิพากษ์นโยบายพรรคเดโมแครตอย่างสาสม ซึ่งตรงกันข้ามกับจอร์จ โซรอส ที่เป็นนักนิยมเดโมแครตอย่างเปิดเผยเช่นกัน
ล่าสุด ในห้วงเวลาของการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกและ ส.ส. กลางเทอมที่ผ่านมา ซึ่งชัยชนะเป็นของพรรครีพับลิกัน พอล ซิงเกอร์ ออกมาโยนระเบิดใหญ่ 2 ลูกพร้อมกัน โดยลูกแรก ระบุว่า  ตลาดหุ้นของสหรัฐฯที่ดัชนีทั้งหลาย เพิ่งจะทำนิวไฮไปหยกๆ เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน จะต้องพังพินาศมากกว่า 50% ในเร็วๆ นี้
ลูกที่สอง ระบุว่า เหตุผลที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯจะพังพินาศ เพราะว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและดัชนีสำคัญระดับมหภาคของสหรัฐฯที่ระบุตรงกันเป็นเสียงเดียวเอกฉันท์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆหลังจากหลายปีของวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 6 ปีก่อน ล้วนเกิดจากการแต่งบัญชีของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น
ระเบิดลูกแรกของซิงเกอร์ เป็นการพยากรณ์ เป็นเพียงการคาดเดาซึ่งสามารถผิดหรือถูกได้ เพราะไม่มีใครสามารถบอกล่วงหน้าได้  แต่ระเบิดลูกที่สอง เป็นการกล่าวหาทางการเมืองโดยตรงต่อพรรคเดโมแครต และเทคโนแครตที่อยู่ในแวดวงบริหารเศรษฐกิจของสหรัฐฯระดับมหภาคในปัจจุบันอย่างเหวี่ยงแหเลยทีเดียว ว่าเป็นพวกลวงโลก
ซิงเกอร์ระบุว่า การแต่งบัญชีทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการเงินการคลังสาธารณะในสหรัฐฯหลายปีมานี้ เกิดขึ้นทุกระดับของรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง นับแต่ การเติบโตทางเศรษฐกิจเทียม ฐานะการเงินเทียม การว่างงานเทียม และเงินเฟ้อเทียม ภายใต้ข้ออ้างว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ซึ่งในทางกลับกันคือ ความมั่นใจในอนาคตของสังคมอเมริกันยามนี้ เป็นความเชื่อมั่นเทียมจะนำไปสู่วิกฤตแท้จริง หากถูกเปิดออกมา
วิกฤตดังกล่าว ซิงเกอร์ระบุว่า จะเกิดขึ้นทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน จากสหรัฐฯแล้วกระจายไปทั่วโลก
ข้อกล่าวหาในเรื่องตบแต่งบัญชีนั้น เป็นข้อหาเก่าแก่มายาวนานเพื่อสาดโคลนให้ฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อเสียหายทางด้านภาพลักษณ์ โดยมากแล้ว จะกลายเป็นประเด็นถกถียงที่บรรดาสื่อและคนอยากรู้อยากเห็นมักเชื่อไว้ก่อนล่วงหน้า ทำให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหา เป็นจำเลยสังคมได้ง่ายดายมาก
ในระบบทุนนิยม  และในสังคมเปิด ข้อกล่าวหาดังกล่าว จะต้องได้รับการค้นหาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา สามารถปกป้องตนเองด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริง และดำเนินคดีทางกฎหมายต่อผู้ถูกกล่าวหาได้ตามกระบวนการยุติธรรม แต่ในประเทศเผด็จการ ข้อกล่าวหามักจะกลายเป็นข่าวลือที่ถูกแพร่กระจายเหมือนไฟลามทุ่งได้ง่าย
การตบแต่งบัญชีในชาติเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นซ้ายหรือขวา เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ง่ายมาก เพราะเทคโนแครต และนักการเมืองที่ควบคุมอำนาจ มักจะพยายามบิดเบือนข้อมูลทางลบเพื่อปิดบังไม่ให้ออกไปสู่สาธารณะที่จะส่งผลเสียต่ออำนาจของตนเอง ด้วยช่องทางต่างๆ ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ และการปิดบังหรือนำเสนอชุดข้อมูลที่เลวร้ายมากกว่าเดิม
ในนวนิยายเสียดสีการเมืองของ โกกอล หลู่ซิ่น หรือ จอร์จ ออร์เวล กระบวนการแต่งบัญชี ล้วนถูกกระทำขึ้นบนรากฐานของ  “กระทรวงแห่งความจริง” แต่ในโลกของความเป็นจริง เราได้เห็นว่า พวกคอมมิวนิสต์ภายใต้โครงสร้างเบ็ดเสร็จแบบโซเวียตในทุกประเทศ ล้วนมีการตบแต่งข้อมูลและตัวเลขทางบัญชีเอาใจผู้มีอำนาจจนกระทั่งไม่สามารถแยกแยะหรือเชื่อได้เลยว่าข้อมูลที่นำเสนอไปนั้นเป็นจริงหรือมายา
รัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จจำนวนมาก ล่มสลายไปเพราะข้อมูลจากการแต่งบัญชีจนพังพินาศ ไม่ว่าจะเป็น สหภาพโซเวียต มาร์กอส หรือ โปแลนด์ยุคหลังม่านเหล็ก แต่การแต่งบัญชีก็ยังมีอยู่เรื่อยมาไม่เว้นว่างในชาติต่างๆ
การแต่งบัญชีที่สร้างหายนะต่อโลกรุนแรงล่าสุดคือ รัฐบาลกรีซแต่งบัญชีขาดดุลงบประมาณร้อยละ 1.9 ของ GDP ในปี 1998 เพื่อให้ได้รับเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน แต่ตัวเลขจริงปรากฏภายหลังว่าสูงถึงร้อยละ 4.3 ของ GDP เกินกว่าร้อยละ 3 ของสนธิสัญญามาสตริทช์
สำหรับนักบัญชีธุรกิจแล้ว กลวิธีการแต่งบัญชีนั้น มี 7 วิธีด้วยกัน (ทั้งทำให้กำไรมากขึ้น หรือทำให้ลดลงตามต้องการ) คือ  1. รับรู้รายได้เร็วเกินไป หรือรายได้ที่น่าสงสัย เช่น ใบกำกับภาษีปลอม 2. การบันทึกรายได้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง 3. การขายหลักทรัพย์เผื่อขาย แต่งรายการกำไรในงวดปัจจุบัน เช่นกลับรายการประมาณการ  หรือมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้  4. ชะลอรับรู้ค่าใช้จ่าย ไม่ตั้งค่าเผื่อ ไม่ตั้งหนี้สงสัยจะสูญ หรือ เปลี่ยนแปลงอายุการใช้งาน 5. ตั้งประมาณการหนี้สินต่ำกว่าความเป็นจริง 6. เลือกการรับรู้รายได้ 7. ตั้งสำรองเยอะๆ เกินจริง
ในทางการคลังและการเงินสาธารณะ ข้อกล่าวหาเรื่องการแต่งบัญชี ทำให้สังคมสูญเสียความเชื่อมั่นในผู้รับผิดชอบในหน่วยงานของรัฐเป็นปฐม ตามมาด้วยข้อกล่าวหาอื่นที่เสกปั้น ภายใต้สูตรของ โจเซฟ ก็อบเบิ้ล
ในเมืองไทยนั้น ข้อกล่าวหาเรื่องแต่งบัญชีตัวเลขต่างๆ มักจะตกเป็นข่าวใหญ่ในหน้าสื่อ เพื่อสร้างข้อกล่าวหาต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลดังกล่าวในที่สุด แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวจะหายไปเมื่อมีรัฐบาลจากการรัฐประหารโดยกองทัพ
ข้อกล่าวหาเรื่องการแต่งบัญชี จึงเป็นดาบสองคมเสมอ และเหยื่อล้วนยากจะแก้ต่างได้ง่ายๆ ผลลัพธ์ตามมาคือ ทำสังคมที่จะมีลักษณะเปิดตามนิยามของคาร์ล ป็อปเปอร์ เกิดขึ้นได้ยากแสนสาหัส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น