วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หุ้นปั่นเป็นที่จับตามองจากตลาดหลักทรัพย์

ตลท.สุดทนหุ้นปั่นไม่สลด หามาตรการเข้มกำราบ :จับตา MAX ขอเพิ่มทุน 1.98 พันล้านหุ้น

ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 13 คน 

“เกศรา” เดินหน้าพูดคุยกับสมาคมโบรกฯ เพื่อหามาตรการคุมเข้มมากขึ้น หลังสุดทน! หุ้นปั่นไม่สลด ดันราคาสูงไม่สนพื้นฐาน จับตา MAX บอร์ดอนุมัติเพิ่มทุนอีกรอบ 1.98 พันล้านหุ้น เล็งซื้อบริษัทอสังหาฯ “ไซมิส แอสเซท” 100% 
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้กำลังพูดคุยกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เพื่อทบทวนมาตรการดูแลหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของนักลงทุน โดยจะทบทวนทั้ง 2 ส่วน คือ 1.การให้ข้อมูล และ 2.การซื้อขาย ซึ่งภายในปีนี้คาดว่าน่าจะเริ่มมีกระบวนการหยั่งเสียง เพื่อขอมติจากบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกได้
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเองมีมาตรการดูแลหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติอยู่แล้ว โดยเรื่องการให้ข้อมูลนั้น  เมื่อพบหลักทรัพย์ใดที่มีสภาพการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากวันก่อนหน้า จะมีมาตรการ Trading Alert เพื่อสอบถามถึงพัฒนาการใดๆ ที่อาจส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนนั้น ส่วนเรื่องการซื้อขายนั้น เมื่อพบหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดปกติ จะมีมาตรการ Cash Balance (สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนที่จะซื้อ) เพื่อให้นักลงทุนใช้บัญชีเงินสดเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดปกติ
“ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เพื่อทบทวนมาตรการดูแลหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมาตรการในการดูแลเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แต่คงต้องมีการปรับปรุง เพื่อยกระดับมาตรการดูแลหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติ” นางเกศรา กล่าว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเมื่อพบหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติมาก ตลาดหลักทรัพย์ฯในฐานะด่านหน้าที่พบหรือเห็นข้อมูลดังกล่าวจะส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเมื่อพบความผิดปกติตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการส่งข้อมูลไปให้ ก.ล.ต.ตลอด เพราะก.ล.ต. จะมีอำนาจในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และตอนนี้ ก.ล.ต.กำลังผลักดันให้สามารถกล่าวโทษผู้กระทำความผิดในหุ้นทางแพ่งได้
ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า มีการพูดคุยกับสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการทบทวนมาตรการดูแลหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป
จากการสำรวจของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (23 ก.ย.-22 ต.ค. 57) พบว่า ตลท.แจ้งรายชื่อหลักทรัพย์ที่มีระดับราคาและปริมาณการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปมากจากช่วงก่อนหน้า และอยู่ระหว่างบริษัทชี้แจงข้อมูล (Trading Alert List) จำนวนมากถึง 22 บริษัท ได้แก่ บมจ.อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น (ADAM), บมจ.ไดเมท (สยาม) (DIMET), บมจ.เคปเปล ไทย พร็อพเพอร์ตี้ (KTP), บมจ.ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น (TCC), บมจ.ปรีชากรุ๊ป (PRECHA), บมจ.แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น (MAX), บมจ.ดีเอ็นเอ 2002 (DNA), บมจ.ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ (CYBER)
บมจ.บีจีที คอร์ปอเรชั่น (BGT), บมจ.นิปปอน แพ็ค(ประเทศไทย) (NIPPON), บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR), บมจ.ริช เอเชีย สตีล (RICH), บมจ.ซี.ไอ.กรุ๊ป (CIG), บมจ.ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม (TIES), บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK), บมจ.ธนาสิริ กรุ๊ป (THANA), บมจ.บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO), บมจ.คราวน์ เทค แอดวานซ์ (AJD), บมจ.เอเชีย คอร์ปอเรท ดีเวลลอปเมนท์ (ACD), บมจ.บิวเดอสมาร์ท (BSM), บมจ.ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) (SANKO) และบมจ.แอสเซท ไบร์ท (ABC)
ขณะที่ตลท.แจ้งรายชื่อหลักทรัพย์ที่สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนที่จะซื้อ (Cash Balance) ช่วงระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-17 ต.ค. 57 มีจำนวน  บริษัท ได้แก่ บมจ.วิค แอนด์ ฮุคลันด์ (WIIK), บมจ.ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ (TGPRO), บมจ.โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) (SLC), บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC), KTP, บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ (IFEC), CYBER, บมจ.เอคิว เอสเตท (AQ), บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD), บมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY), THANA, บมจ.ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ (TH), บมจ.พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ (PE), บมจ.มิลล์คอน สตีล (MILL), DNA
บมจ.คอมพาสส์ อีสต์ อินดัสตรี้ (ประเทศไทย) (CEI), BGT, AJD, RICH, บมจ.สมาร์ทคอนกรีต (SMART), บมจ.ฟิลเตอร์ วิชั่น (FVC), บมจ.สาลี่ คัลเล่อร์ (COLAR), บมจ.ธีระมงคล อุตสาหกรรม (TMI), RICH, บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER), SOLAR, บมจ.เอเวอร์แลนด์ (EVER), บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT), บมจ.ทาคูนิ กรุ๊ป (TAKUNI), TIES, NIPPON, GENCO, บมจ.โฟคัส ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น (FOCUS), บมจ.อีเอ็มซี (EMC), CIG และ ACD
อย่างไรก็ตาม แม้ตลท.จะมีมาตรการคุมเข้มมาปราบบรรดาหุ้นปั่นทั้งหลาย แต่บริษัทเหล่านั้นไม่ได้มีการหวั่นเกรง นักปั่นยังเข้ามาลากหุ้นดันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงมากจนไม่สนใจปัจจัยพื้นฐาน เพราะบางบริษัทยังมีผลประกอบการขาดทุน แต่มีแรงเข้ามาเก็งกำไรดันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงลิบลิ่ว ยกตัวอย่าง DIMET ที่มีผลประกอบการขาดทุน แต่ราคาหุ้นกลับปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาปิด 2.70 บาท เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 57 ปรับขึ้นมาสูงถึง 20.40 บาท เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะปิดตลาดล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 57 ที่ราคา 19.50 บาท
:จับตา MAX เพิ่มทุน-ซื้อไซมิสฯ
นายชำนิ  จันทร์ฉาย ประธานกรรมการ บริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX เปิดเผยว่า คณะกรรมการของบริษัท (บอร์ด) มีมติให้ขยายธุรกิจของบริษัทออกไปในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยจะเข้าลงทุนโครงการของกลุ่มบริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด ด้วยการเข้าซื้อหุ้น 100% จากผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งจะทำให้ฐานรายได้ของ MAX ขยายตัวใหญ่ขึ้นและมีอัตราการทำกำไรสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผู้ถือหุ้นในอนาคต ขณะเดียวกันยังวางเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในระดับแนวหน้าของเมืองไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ บอร์ดมีมติอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนไม่เกิน 1,983,326,320 หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นละ 1.30 บาท และกรณีที่มีหุ้นเหลือจากการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทให้จัดสรรและเสนอขายหุ้นที่เหลือดังกล่าวให้แก่นักลงทุนในวงจำกัด (Private Placement) โดยอนุมัติแต่งตั้งบริษัท เจวีเอส ที่ปรึกษาทางการเงิน จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระให้ความเห็นประกอบการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น และกำหนดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2557 ในวันอังคารที่ 23 ธันวาคม 2557
“ธุรกิจหลักเดิมคือการ Trading ผลิตภัณฑ์เหล็ก ยังคงดำเนินการไปตามปกติและเราพยายามจะทำให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจใหม่คือธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการขยายธุรกิจออกไปอีกแขนง ซึ่งสามารถที่จะ Synergy ระหว่างกันได้ โดยบริษัทมีแผนธุรกิจที่จะดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาล”
นายชำนิ กล่าวต่อว่า ไซมิสฯ ถือเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาฯขนาดกลางและมีศักยภาพการขยายตัวในอนาคต โดยแต่ละโครงการอยู่ในทำเลที่ดี มีการตั้งราคาขายที่เหมาะสม มีการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพดีกว่ามาตรฐาน และมีคุณภาพในระดับเดียวกัน ปัจจุบันมีโครงการที่แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการทยอยโอนให้แก่ลูกค้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีการรับรู้รายได้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 และโครงการส่วนที่เหลือจะทยอยแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบในปี 2557 พร้อมกันนี้ไซมิสฯ มีโครงการที่ผุดคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งมีมูลค่าโครงการรวมหลายหมื่นล้านบาท และหากดีลนี้ประสบความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ จะทำให้ MAX สามารถรับรู้รายได้และมีกำไรได้ในปี 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น