วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หุ้นเอเชียดีดตัวตามวอลล์สตรีท ต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม 2557

หุ้นเอเชียดีดตัวตามวอลล์สตรีท
ต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม 2557 รอยเตอร์ - หุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบหนึ่งเดือนเมื่อวานนี้ โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากวอลล์สตรีทที่ดีดตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากมีมุมมองในด้านบวกเกี่ยวกับผลกำไรบริษัทและแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐจะยืนยันถึงความเต็มใจที่จะรอไปอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย


                ดัชนีหุ้นเอเชียแปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่นของเอ็มเอสซีไอ ปรับตัวขึ้น 1.1% โดยมีตลาดเกาหลีใต้ดีดตัวขึ้น 1.8% ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นดีดตัวขึ้น 1.5%
                ตลาดหุ้นเอเชียดีดตัวตามตลาดสหรัฐ ซึ่งเมื่อวันอังคาร หุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นมากกว่า 1% โดยดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ใต้ระดับสูงสุดตลอดกาลที่ทำไว้เมื่อเดือนที่แล้ว ไม่ถึง 2%
                มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า เฟดจะประกาศในวันพุธ (29 ต.ค.) ว่าจะยุติมาตรการซื้อพันธบัตรที่ทำมาเป็นเวลาสองปี เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีแรงส่ง อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐหลายคนได้ย้ำเช่นกันว่า เฟดจะไม่รีบเข้มงวดนโยบายด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับศูนย์เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเงินเฟ้อต่ำ และการฟื้นตัวในตลาดแรงงานมีคุณภาพไม่ดี
                ลิม ดอง-รัก นักวิเคราะห์บริษัท ฮันยาง ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า มีความเห็นส่วนหนึ่งว่า อาจมีความล่าช้าในการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่เฟดจะยังคงมีท่าทีที่จะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ย
                กำไรของบริษัทสหรัฐที่ดีกว่าคาด ก็ช่วยลดความวิตกที่ว่าการเติบโตที่ลดลงทั่วโลก อาจกดดันกำไรบริษัท จากข้อมูลของธอมป์สัน รอยเตอร์   บริษัทที่มีน้ำหนักในดัชนีเอสแอนด์พี 500  จนถึงขณะนี้มี 245 บริษัทที่รายงานว่ามีกำไรในช่วงไตรมาสสาม โดย 73.5% มีกำไรดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด  เทียบกับในช่วงสี่ไตรมาสที่ผ่านมา มี 67% ที่มีกำไรดีกว่าที่ประมาณการไว้
                อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊คช็อกนักลงทุนหลังจากตลาดปิดเมื่อวันอังคารหลังจากเตือนว่า การใช้จ่ายในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจและคาดว่าการเติบโตของรายได้ในไตรมาสดังกล่าวจะลดลง  การออกมาเตือนเช่นนี้ทำให้หุ้นเฟซบุ๊คปรับตัวลง 8.2% หลังชั่วโมงการซื้อขาย
ข้อมูลสหรัฐที่มีการเผยแพร่เมื่อวันอังคารมีทั้งดีและไม่ดี แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 ปี ทำให้กระทิงหุ้นมีเหตุผลเพียงพอที่จะยังคงมองในด้านบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
                ในขณะเดียวกันมีข้อมูลที่ชี้ว่า ธุรกิจสหรัฐสั่งซื้อสินค้าทุนใหม่ ลดลงมากสุดในรอบ 8 เดือนในเดือนกันยายน
                ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับตะกร้าเงิน  เงินยูโรแข็งค่าในรอบหนึ่งสัปดาห์ที่ 1.2765 ดอลลาร์ต่อยูโรเมื่อวันอังคาร และยืนที่ 1.2738 ดอลลาร์ในตลาดเอเชียเมื่อวานนี้
                ค่าเงินดอลลาร์แคนาดาไต่ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดในรอบกว่าสองสัปดาห์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยอยู่ที่ 1.1165 ดอลลาร์แคนาดา
                อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์มั่นคงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะลดประมาณการเติบโตลงเมื่อมีการแถลงรายงานเศรษฐกิจในวันศุกร์นี้   โดยดอลลาร์ซื้อขายที่ประมาณ 108.18 เยน ไม่ไกลจาก 108.36 เยนที่ทำไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา   ข้อมูลที่ชี้ว่าอัตราผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนกันยายน ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้เล็กน้อย จึงมีปฏิกิริยาไม่มาก
                ในขณะเดียวกัน เงินคราวน์สวีเดนสามารถกลับมามีเสถียรภาพได้หลังจากที่อ่อนตัวลงในรอบ 4 ปี เมื่อวันอังคาร เนื่องจากธนาคารกลางสวีเดนได้ส่งสารใจดีอย่างน่าประหลาดใจ
                ธนาคารสวีเดนลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดโดยเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ และกล่าวว่าจะชะลอการเข้มงวดนโยบายจนกว่าจะถึงกลางปี 2559  เมื่อได้เคลื่อนไหวอย่างเด็ดขาดเพื่อจัดการกับความเสี่ยงของภาวะเงินฝืด
                เมื่อคืนวันอังคาร ปัจจัยหนึ่งที่อาจยับยั้งอารมณ์เสี่ยงในตลาดคือข่าวที่ว่ากระทรวงความมั่นคงภายในประเทศของสหรัฐ กำลังเพิ่มความปลอดภัยตามอาคารรัฐบาลในวอชิงตันและในเมืองใหญ่อื่นๆ เพราะยังคงมีการคุกคามจากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น