วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คิงพาวเวอร์

คสช. กับ คิง เพาเวอร์

คอลัมน์ วันพุธที่ 08 ตุลาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 5 คน 

เฉกเช่นเดียวกันกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐทั้งหลายในประเทศกำลังพัฒนา สนามบินสุวรรณภูมิ ถือกำเนิดขึ้นมา ท่ามกล่างแรงขับเคลื่อนและการต่อต้าน อุปสรรคปัญหา รวมทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงวิชาการ วิชาชีพ สื่อ และการเมือง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาแบบสูตรสำเร็จในการก่อสร้างทุกขั้นตอน แต่สนามบินซึ่งถูกยกย่องว่าเป็น 1 ใน 10 สนามบินทันสมัยที่สุดในโลกแห่งนี้ ถูกใช้มาไม่ถึง 10 ปี ก็เล็กเกินไปที่จะรองรับผู้คนที่หลั่งไหลมาใช้บริการ จนต้องพิจารณาขยายเป็น สุวรรณภูมิเฟส 2
ภายใต้เฟสแรกที่แล้วเสร็จไปนั้น  งบประมาณการก่อสร้าง 50% เป็นงบประมาณของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และอีก 50% มาจากข้อตกลงระหว่างท่าอากาศยานไทย กับ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น แต่เฟส 2 จะสร้างต่อนั้น แม้จะยังไม่ชัดเจน ก็มีคำถามว่าด้วยความโปร่งใสของการใช้เงินลงทุนว่าจะมีการทุจริตในการก่อสร้างตามมามากน้อยเพียงใด
ผลลัพธ์ของคำถามดังกล่าว ทำให้โครงการเฟส 2 ต้องถูกเลื่อนมาครั้งแล้วครั้งเล่า ภายใน 2 ปีที่ผ่านมา และก็ยังไม่รู้ว่า จะมีการชี้ขาดขั้นสุดท้ายเมื่อใด ถึงจะลงมือก่อสร้างจนแล้วเสร็จ
หลายปีก่อนของเฟส 2 คณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นแผนการพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 ขึ้น โดยจะก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่สองและอาคารผู้โดยสารหลังที่สองทางทิศใต้ขึ้น โดยระหว่างแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานต้องใช้เวลาอย่างต่ำถึง 5 ปี การรื้อฟื้นท่าอากาศยานดอนเมืองจึงถูกนำมาใช้ชั่วคราว จนกว่าการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแบบเต็มเฟสจะเสร็จสิ้น
เมื่อคสช.ยึดอำนาจการบริหาร โครงการเฟส 2 ก็กลายเป็นประเด็นหนึ่งในข้อถกเถียงกันต่อมา เพราะมีการล้างบางคณะกรรมการและผู้บริหารชุดเดิมของรัฐบาลก่อน แทนที่ด้วยคณะที่ คสช.คัดสรรมา แต่จนถึงล่าสุด แผนการก่อสร้างก็ยังไม่มีที่ยุติว่าจะมีเฟส 2 เต็มตามข้อเสนอเดิม หรือทำแค่บางส่วน
ล่าสุด รมว.คมนาคม พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ออกมายืนยันว่า รัฐบาลยืนยันว่าไม่ยกเลิกสุวรรณภูมิเฟส 2 เพราะมีเป้าหมาย ขยายการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนเป็น 60 ล้านคนต่อปี และต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่สอดคล้องด้วย แต่เมื่อมีข้อเสนอเพิ่มเติมจึงให้พิจารณาให้เหมาะสม
แม้ รมว.คมนาคม จะไม่ได้พูดชัดเจนว่า ข้อเสนอเพิ่มเติมที่เหมาะสมที่ว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่กลับมีชื่อของ  “ผู้ทรงอิทธิพล”  เบื้องหลังการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงการพิจารณาแทนการก่อสร้างเฟส 2 อย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด ผู้รับสัมปทานร้านค้าดิวตี้ ฟรี ในสนามบินสุวรรณภูมิที่มีกำไรปีละหลายหมื่นล้านบาท
ชื่อนี้ทำให้เกิดคำถามว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลังผลประโยชน์ที่เกี่ยวโยงถึงการก่อสร้างสนามบินเฟส 2 นี้มากน้อยแค่ไหน เพราะชื่อของคิง เพาเวอร์นั้น ถูกระบุเซ็งแซ่ว่า คือกลุ่มทุนที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงของ คสช. และของว่าที่พรรคทหารที่จะเกิดขึ้นมาหลังจากคลอดรัฐธรรมนูญในอนาคต
ข้อมูลที่โผล่ออกมาตั้งคำถามว่า แผนการขยายอาคารหลักหรือเทอร์มินัลรับผู้โดยสารอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนใหญ่ จะต้องทุบโครงการซิตี้ การ์เด้น ของบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอย 2,500 ตารางเมตร  แต่กลับปรากฏว่า  มีความพยายามของบอร์ดการท่าอากาศยานฯ ถือโอกาสปรับย้ายอาคารผู้โดยสาร เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้กระทบพื้นที่ของคิง เพาเวอร์ รวมทั้งความพยายามแอบต่อสัญญาสัมปทานคิง เพาเวอร์ ที่จะหมดอายุในวันที่ 27 กันยายน 2559 ออกไปยาวนาน 
ข้อมูลดังกล่าวจะจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ชัดเจน แต่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของคสช.บิดเบี้ยวไม่น้อย
ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนสัมปทาน กับอำนาจรัฐไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะดำเนินมาในสังคมสยามและไทยมายาวนานนับร้อยๆ ปีมาแล้ว แต่ประเด็นคำถามสำคัญในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ที่คสช.จะต้องตอบให้ได้ก่อนที่จะลุกลามก็คือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเป็นไปโดยไม่เกิด  “ผลประโยชน์ทับซ้อน”  ของกลุ่มทุนกับผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลทักษิณและเครือข่ายถูกกล่าวหามาโดยตลอดว่า เป็นขบวนการ  “ทุนสามานย์”
การขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 กับการเอื้อประโยชน์ให้กับ คิง เพาเวอร์ จะแยกกันหรือเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องการคำอธิบายที่มากกว่าปกติ ต้องตอบให้ได้ 
..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น