วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ภาพลักษณ์ของเด็กเลี้ยงแกะ คอลัมน์ วันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557

ภาพลักษณ์ของเด็กเลี้ยงแกะ
คอลัมน์ วันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557 

คงไม่สายเกินไปที่จะพูดว่า ตำรวจไทยในยุค ผบ.ตร. ชื่อ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ต้องเตรียมการรับมือกับปัญหาภาพลักษณ์ของประเทศและของสังคมไทยหนักขึ้น โดยเริ่มต้นจากกรณีของการสังหาร 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า สุราษฎร์ธานี

คำรับรองหนักแน่น หลังจากที่พลตำรวจเอก สมยศ ทำการแถลงข่าวด้วยตนเองถึงการจับกุม 2 ผู้ต้องหาพม่า ที่ชื่อ ซอ ลิน และ วิน ซอ ตัน ว่า การหาพยานหลักฐานจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองคนถือว่า “เพอร์เฟ็กต์” ไม่มีการจับ “แพะม่า” ดังที่มีคนตั้งคำถาม ได้กลายเป็นคำรับของของเด็กเลี้ยงแกะไปในทันที เมื่อสื่อและทางการอังกฤษ ได้ออกมาเปิดเผยว่า
นาย Aung Myo Thant เจ้าหน้าที่สถานทูตพม่าซึ่งระบุว่าเป็นทนายความได้ทำการถอนคำให้การของผู้ต้องหาพม่าทั้งสองคน และบอกว่า คนทั้งสองบอกเขาว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ทำร้ายจนต้องรับสารภาพในสิ่งที่ไม่ได้กระทำ และขอให้รัฐบาลพม่าเข้ามาดูแลและค้นหาความจริงในเรื่องนี้
หนังสือพิมพ์  The Telegraph ในอังกฤษ รายงานด้วยว่า นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ได้รับฟังบรรยายสรุปจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่มีต่อเจ้าหน้าที่เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องหา
ขณะเดียวกัน ครอบครัวผู้ตายทั้งสองคนในอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์ว่า หวังว่าผู้กระทำผิดตัวจริงจะได้รับการลงโทษ  และพ่อของ วิน ซอ ตัน ก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อพม่าว่า ลูกชายจะได้รับการปล่อยตัวหากมีการสอบสวนคดีอย่างเป็นธรรม และเป็นระบบ
อีกด้านหนึ่ง  The Guardian ของอังกฤษ ก็อ้างหนังสือพิมพ์ The Nation ของไทยว่า อัยการได้ส่งคืนรายงานของตำรวจและขอให้จัดส่งข้อมูลที่มีความสำคัญมากกว่านี้ มาให้
แล้วก็ยังมีการอ้างถึงข้อสังเกตของคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับการจัดเก็บหลักฐานในคดีนี้ว่า ไม่เป็นไปตามหลักการทางนิติเวชศาสตร์
สรุปสั้นๆ คือ มีคนเชื่อน้อยกว่าไม่เชื่อว่า ตำรวจไทยในยุคของพลตำรวจเอกสมยศจับผู้ต้องหาถูกตัว รวมทั้งสื่อไทยที่พาดหัวคล้ายกันว่า  “งานเข้า”  และที่สำคัญก็คือ พวกที่ไม่เชื่อนั้น ลุกลามบานปลายไม่เชื่อในระบบยุติธรรมของไทยอีกด้วย
อย่างหลังนี้แหละที่สำคัญยิ่ง
ทางเลือกที่จะเป็นทางออกดีที่สุดของตำรวจไทยยุคพลตำรวจเอกสมยศ ไม่ใช่การตอบโต้กับคนที่ไม่เชื่อ แต่ต้องทำการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ด้วยข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์ น่าเชื่อถือ และไม่อำพรางใดๆ แบบนักการเมือง เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ความไม่เชื่อถือเพิ่มทวีขึ้นไปอีก เพราะถือว่าตำรวจไทยกำลังพยายามกระทำพฤติกรรม  ”“มุสาที่ทรงเกียรติ” (noble lies) ตามแบบที่พลาโต้ในกรีกยุคโบราณ ด้วยความเชื่อว่า การโกหกบางครั้งเป็นความดีงามได้ เพียงเพราะเป็นการแสดงเจตจำนงของรัฐจากปลายลิ้นของชนชั้นปกครอง ซึ่งไปกันไม่ได้เลยกับหลักการเรื่องมุสาวาทของพุทธศาสนาอย่างสุดขั้ว แม้ว่าจะมีบางจุดที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน
ในพุทธศาสนา มุสาวาททุกอย่าง ใช้บังคับกับทุกคนไม่เลือกชนชั้น โดย มุสาวาท  4 ประการ คือเจตนาที่ให้ผู้อื่นเข้าใจผิดทั้งสิ้น ทำความเสียหายให้แก่ผู้หลงเชื่อ ย่อมล่วงกรรมบท และนำไปสู่อบายภูมิได้
การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ไม่สามารถทำให้ความเสียหายจากการที่ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่าความยุติธรรมไม่มีจริง และการอำพรางข้อเท็จจริง ถือเป็นอาชญากรรมสำหรับสังคมที่ต้องการ “คืนความสุขให้ประชาชน” เพราะการพูดความจริงบางส่วน โดยเฉพาะการ “จับแพะ” นั้น ไม่เพียงแต่พ้นยุค และทำลายภาพลักษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น หากยังลุกลามไปถึงภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชื่อว่าเป็นนักรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีที่พูดมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย (ตรงข้ามกับ คิม จอง อึน ของเกาหลีเหนือ อย่างขาวกับดำ) แต่นั่นไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์พ้นจากการเป็นเผด็จการได้ฉันใด พลตำรวจเอกสมยศ และตำรวจไทยที่ดูแลส่วนหนึ่งของขบวนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความยุติธรรม จะต้องเข้าใจว่า การอำพรางข้อเท็จจริงนั้น ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันตำรวจไทยแจ่มใสขึ้นกี่มากน้อย 
ร้ายไปกว่านั้น จะยิ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ตรงกันข้าม เข้าทำนอง “โฆษณาที่มากเกิน” ทำลาย “สินค้าที่ดี” อย่างมีผลข้างเคียงคาดไม่ถึง
ไม่ต่างอะไรกับหุ้นเน่าที่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างสตอรี่ปั่นเรื่องสร้างกระแสขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อหลอกล่อแมงเม่าที่ไร้เดียงสา พร้อมจะตกเป็นเหยื่อ ท้ายสุดก็มีจุดจบคือหายนะของผู้ที่เกี่ยวข้อง 

…..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น