วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

MAKROเปิดเทรดวันนี้ ราคาพุ่งปรี๊ด100บาท ‘ซีพี’ เทกโอเวอร์หวังใช้บุกตลาดอาเซียน


MAKROเปิดเทรดวันนี้
ราคาพุ่งปรี๊ด100บาท
‘ซีพี’ เทกโอเวอร์หวังใช้บุกตลาดอาเซียน

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 24 เมษายน 2556 
ผู้เข้าชม : 26 คน 

"MAKRO" กลับเปิดเทรดวันนี้ ราคาหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นกว่า 100 บาท หลัง CPALL ทุ่มเงิน 1.89 แสนล้านบาทซื้อกิจการ หวังใช้ขยายสาขาต่างประเทศ พร้อมตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท ช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้ เชื่อแล้วเสร็จในช่วงปลาย ส.ค.นี้

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 เม.ย.) หุ้นบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO จะกลับมาซื้อขายตามปกติ หลังจากที่ได้ขอขึ้นเครื่องหมาย "SP" เพื่อห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ของ MAKRO ในวันที่ 22-23 เม.ย.56 เนื่องจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ได้เข้าซื้อหุ้น MAKRO จำนวน 64.53% ในราคา 787 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาหุ้น MAKRO ณ ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.56 อยู่ที่ราคาหุ้น 682 บาท ดังนั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาหุ้น MAKRO มีความเป็นได้สูงที่น่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 บาท มาอยู่ที่ระดับ 780-787 บาท  เนื่องจาก CPALL จะมีการทำคำเสนอซื้อหุ้น (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท  
                นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL กล่าวว่า บริษัทได้มีการซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ในวงเงินรวมทั้งหมดไม่เกิน 188,880 ล้านบาท โดยบริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัท เอสเอช เนเธอร์แลนด์ บี.วี. (SHV)  เรียบร้อยแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ซึ่งจะมีการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 12 มิ.ย.นี้
                โดยบริษัทเข้าซื้อหุ้น MAKRO จำนวน 64.53% ในราคาหุ้นละ 787 บาท หรือเทียบเท่าหุ้นละ 27.50 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นจำนวน 154,429,500 หุ้น รวมเป็นมูลค่า 121,536 ล้านบาท แต่หากรวมการทำคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งหมด จะเป็นมูลค่ารวม 188,880 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นดีลการซื้อขายหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
                อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น บริษัทก็จะทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ ในราคาเสนอซื้อที่เป็นราคาเดียวกันที่หุ้นละ 787 บาท ซึ่งตามการทำรายการกระบวนการน่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ และคาดว่าในไตรมาส 4/56 นี้ CPALLจะเริ่มรับรู้ผลประกอบการของ MAKRO ได้ ส่วนเป้าหมายการเติบโตในปีนี้บริษัทยังคงยอดขายและกำไรเติบโตประมาณ 15% จากปีก่อน
                สำหรับการเข้าซื้อหุ้น MAKRO บริษัทจะใช้กระแสเงินสดของบริษัท 10% ส่วนที่เหลือจะมาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินชั้นนำ ทั้งนี้ การกู้จะเป็นในรูปของเงินสกุลดอลลาร์ โดยที่ไม่มีการเพิ่มทุนแต่อย่างใด และจากการกู้เงินจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมอยู่ที่ 5 เท่า ณ วันที่เข้าทำรายการวันแรก ถือว่าเป็นระดับที่ยอมรับได้ ไม่สูงเกินไป แต่จะมีการลดลงหลังเนื่องจากผลประกอบการของทั้ง 2 บริษัทที่เพิ่มขึ้น
                ทั้งนี้ บริษัทได้แต่งตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแต่เพียงผู้เดียว และเป็นหนึ่งในผู้จัดการวงเงินสินเชื่อร่วม กับธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (เอชเอสบีซี) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ตเตอร์ด ธนาคารยูบีเอส เอจี และธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
                 นายก่อศักดิ์ กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้น MAKRO จะส่งผลให้บริษัทสามารถนำสาขาแม็คโคร ไปเปิดสาขาในต่างประเทศได้ทั่วโลก ยกเว้นที่ประเทศอินเดีย โดยใช้แบรนด์แม็คโคร ทั้งนี้ จากการที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ ส่งผลให้มีประชากรรวม 600 ล้านคน บริษัทก็จะสามารถนำแม็คโครไปเปิดสาขาในทุกประเทศรับ AEC ทั้งประเทศ ลาว เวียดนาม พม่า รวมถึงจีน เป็นต้น
                โดยประเทศแรกที่จะเข้าไปลงทุน คือ ลาว หรือเวียดนาม ซึ่งจะใช้ทีมผู้บริหารของ MAKRO ทั้งหมด เนื่องจากเป็นทีมที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ด้าน CPALLจะสนับสนุนด้านการฝึกอบรมบุคลากร และคาดว่าเมื่อ 2 บริษัทรวมกันแล้วจะมียอดขายถึง 300,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนการขอใบอนุญาตเพื่อขยายสาขาเซเว่น-อีเลฟเว่นในจีน บริษัทได้มีการยื่นไปแล้ว ใน 3-4 มณฑลของจีน ซึ่งบริษัทก็ยังคงแผนการขยายสาขาเหมือนเดิม แม้จะมีการซื้อหุ้น MAKRO
                “การเข้าซื้อหุ้นสยามแม็คโครเพื่อใช้เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าจากผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SME รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรของไทย สินค้าประเภทอาหารแช่แข็งและอาหารสด ไปจำหน่ายในประเทศกลุ่มเอเชีย ถือเป็นการรองรับการรวมตัวเป็น AEC ที่ตลาดการค้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านคน ในประเทศกลุ่มอาเซียนและประเทศใกล้เคียง รวมทั้งจีน”
                สำนักข่าวรอยเตอร์พาดหัวเมื่อวานนี้ว่า เจ้าสัวไทยซื้อหุ้น 6,600 ล้านดอลลาร์เพื่อเริ่มผลักดันธุรกิจค้าปลีกในเอเชีย            โดยระบุว่า ชายที่รวยที่สุดในประเทศไทยได้เสนอซื้อสยาม แม็คโครเป็นเงิน 6,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงเอ็มแอนด์เอที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้มีการประกาศในปีนี้เนื่องจากเจ้าสัวหาทางที่จะยึดครองส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกให้มากขึ้น
                ทั้งนี้ ซีพี ออลล์ ซึ่งมีธนินท์ เจียรวนนท์ ถือหุ้นใหญ่ กำลังลั่นไกเพื่อเข้าสู่ภาคค้าปลีกที่มีมูลค่า 80,000 ล้านบาทของไทยให้มากขึ้นและในเวลาเพียงแค่สองเดือนหลังจากที่ธนินท์เคลื่อนไหวอย่างไม่คาดคิดเพื่อซื้อหุ้นผิงอัน อินชัวรันซ์ (กรุ๊ป) ในประเทศจีนจากเอชเอสบีซี เป็นเงิน 9,400 ล้านดอลลาร์  
                ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่แสดงความสนใจต่อสยาม แม็คโครในก่อนหน้านี้ ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ซึ่งเป็นบริษัทเทรดดิ้งของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และเซ็นทรัล กรุ๊ป แต่แหล่งข่าวที่รับรู้โดยตรงเกี่ยวกับการเสนอซื้อในครั้งนี้ กล่าวว่า ซีพี ออลล์ เป็นผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว  และดูเหมือนว่า ได้มีการทำข้อตกลงก่อนที่ผู้ซื้อรายอื่นๆ จะมาร่วมเสนอราคา
                โดยการเสนอซื้อของซีพี ออลล์ สูงกว่าราคาหุ้นสยาม แม็คโครที่มีการซื้อขายครั้งสุดท้ายเมื่อวันศุกร์ 15.4% และจากข้อมูลของธอมป์สัน รอยเตอร์ การเสนอซื้อสยาม แม็คโครในราคา 6,600 ล้านดอลลาร์ของซีพี ออลล์ จะเป็นข้อตกลงเอ็มแอนด์เอในภาคค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปีนี้ และมีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของข้อตกลงที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
                รอยเตอร์ กล่าวว่า การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกได้มีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่ตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่สุดในเซ็นทรัล กรุ๊ป ซื้อหุ้นแฟมิลี่มาร์ทในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว 
                ลอว์สัน อิงซ์ เชนคอนวีเนียนสโตร์อันดับสองของญี่ปุ่น ยังได้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับสหพัฒนพิบูลย์  จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหกรุ๊ป ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคชั้นนำของไทยด้วย
                ด้านสยาม แม็คโคร มีมูลค่าตลาด 5,700 ล้านดอลลาร์ การเสนอซื้อที่ราคานี้ หรือใกล้เคียงกับราคานี้ จะเป็นการเข้าถือสิทธิ์ภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภาคค้าปลีกของไทย
                รอยเตอร์ ระบุว่า บริษัทไทยได้ทำข้อตกลงเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ เนื่องจากหนี้ธนาคารมีราคาถูกและราคาหุ้นเพิ่มขึ้น  และทำให้มูลค่าการทำเอ็มแอนด์เอ็มของไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 25,900 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว
                จากข้อมูลของธอมป์สัน รอยเตอร์  ซีพี ออลล์ มีเงินสดมากกว่าบริษัททั้งหมดยกเว้นบริษัทค้าปลีกแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยเงินสดและรายการที่เทียบเท่าเงินสด มีมูลค่า  1,150 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นรองแค่บริษัท เอสเอ็ม อินเวสเมนท์ ซึ่งมีเงินสด 1,800 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ซีพี ออลล์ ตั้งเป้าที่จะขยายสาขาเซเว่น-อีเลฟเว่นในประเทศไทยให้ได้ 10,000 แห่ง ภายในปี 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น