วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

โชว์ห่วย โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โชว์ห่วย โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร โชว์ห่วย โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



การพยายามเปลี่ยนภาพ ร้านขายของจิปาถะ หรือร้านสะดวกซื้อแบบดั้งเดิมที่เรียกกันว่า ร้านโชห่วย ของกระทรวงพาณิชย์

ชื่อ: news_img_497762_1.jpg ครั้ง: 1337 ขนาด: 24.9 กิโลไบต์

โดยการจัดร้าน และปรับปรุงบริการใหม่ และเปลี่ยนคำเรียกใหม่ว่าเป็นร้าน โชว์สวย

ผมคิดว่าไม่สามารถทำให้ร้านโชห่วย ซึ่งมีภาพของความเก่า ล้าสมัย และบริการไม่ดี เปลี่ยนไปเป็นร้านที่ทันสมัย บริการดี และน่าเข้าไปใช้บริการได้ เหตุผลไม่ใช่เพราะว่า ร้านเหล่านี้ จะปรับปรุงตัวเองไม่ได้ แต่เพราะว่า ไม่คุ้มที่จะทำ เพราะต้นทุนปรับปรุงร้านอาจจะสูงเกินไป ระบบข้อมูลการควบคุมสต็อกสินค้าและการเก็บเงินแพง ค่าจ้างพนักงานสูงเกินไป และอื่นๆ อีกมาก

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ สำหรับร้านค้าปลีกดั้งเดิม ที่มักจะมีร้านเดียว และบริหารโดยเจ้าของและคนในครอบครัว ไม่สามารถทำได้อย่างคุ้มค่าเทียบกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีร้านค้าเป็นเครือข่ายนับร้อย นับพันสาขา ดังนั้น โชห่วย ซึ่งคนไปแปลความหมายว่าเป็นร้านที่ “ห่วย” จึงยังจะแย่ต่อไป เพราะเป็นเรื่องของ “โครงสร้าง” ที่ “แก้ไม่ได้” แต่ถ้าถามว่าแล้วในที่สุดจะ “ตาย” หรือหมดไปไหม คำตอบคือ คงไม่ล้มหายตายจากไปหมด พวกเขายังอยู่ได้ในแบบที่เหมาะสม แต่ไม่ดี หรือรุ่งเรือง หรือ เติบโตขึ้น

ที่ผมเกริ่นเรื่องของร้านโชห่วย ที่จริงไม่ได้ตั้งใจจะพูดถึงร้าน หรือธุรกิจสะดวกซื้อเลย เพียงแต่อยากเชื่อมโยงถึงธุรกิจอื่นๆ ที่โดยธรรมชาติของมันจริงๆ แล้วไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเด่นอะไรเลย แม้บางบริษัทจะใหญ่โตเป็นกิจการระดับประเทศ ถ้าจะพูดไปอาจจะเป็นกิจการที่ “ห่วย” เหมือนกันในแง่ที่ว่ากำไรน้อย ผลประกอบการไม่แน่ไม่นอน และนี่ก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากผู้บริหาร หรือเจ้าของไม่มีความสามารถ แต่เป็นเรื่อง ของโครงสร้างที่ “แก้ไม่ได้” พวกเขาไม่ล้มหายตายจากไป แต่ยากที่จะเจริญรุ่งเรืองได้ ถ้าเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โอกาสที่มูลค่าของหุ้นจะสูง เมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีในระยะยาวก็มีน้อย ในทางวิชาการแล้ว เราเรียกธุรกิจเหล่านี้ว่า บริษัทที่ผลิตและขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์ โดยที่วิธีสังเกตว่าบริษัทไหนจะเป็น “บริษัทโชว์ห่วย” เราอาจดูจากข้อมูลบางอย่างดังต่อไปนี้

ข้อแรกคือ บริษัทมีกำไรน้อยเมื่อเทียบกับยอดขาย หรือ Profit Margin ต่ำ สิ่งนี้เกิดขึ้น เพราะกิจการขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับสินค้าของ คู่แข่ง การแข่งขันจึงต้องอาศัยราคาเป็นหลักทำให้ราคาสินค้าลดลงจนเหลือกำไรที่ต่ำที่สุด ที่ธุรกิจจะยังอยู่ได้ คำว่าต่ำโดยทั่วไปผมมองอยู่ที่กำไรต่อยอดขายที่ต่ำกว่า 5% และนี่คือตัวเลขตัวแรก แต่ยังไม่ใช่เงื่อนไขว่าทุกบริษัทที่มีมาร์จินต่ำกว่า 5% จะต้อง “โชว์ห่วย” เสมอไป ต้องดูอย่างอื่นประกอบด้วย

ข้อสองคือ กำไรในระยะยาวเช่นตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ถ้ามองย้อนหลังก็จะพบว่า มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง บางปีกำไรดีมาก แต่บางปีอาจขาดทุน หรือกำไรตกลงไปมาก ส่วนใหญ่แล้วกำไรที่ขึ้นๆ ลงๆ มาจากราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วในแต่ละปี สำหรับผมแล้ว ถ้ากำไรผันผวนมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผมมักหลีกเลี่ยงบริษัทเหล่านี้

ตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่สำคัญและเป็นตัวที่บอกว่า อาจเป็นกิจการที่ “โชว์ห่วย” ก็คือ กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต่ำโดยเฉพาะที่ต่ำกว่า 10% เป็นส่วนใหญ่ในช่วง 5-10 ปี ที่ผ่านมา เพราะนี่คือเหตุผลที่บริษัทหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ ไม่ควรลงทุนเนื่องจากมันไม่คุ้มที่จะเสี่ยงถ้าเอาเงินของตัวเองลงไปในบริษัทแล้วได้ ผลตอบแทนไม่ถึง 10% ต่อปี

ข้อสี่ก็คือ ในการดูตัวเลขหลายๆ ปี เช่น 5 ปีย้อนหลัง บางทีผมก็อาจดูตัวเลขกำไรโดยรวมด้วยว่า 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรรวมกันเท่าไร บางครั้งพบว่าบางปีบริษัทขาดทุนหนัก จนทำให้กำไรรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีน้อยมาก แม้กำไรปีหลังๆ จะดูน่าประทับใจ แบบนี้ผมก็จะต้องระวังเป็นพิเศษเหมือนกันว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าเป็นเรื่องของธุรกิจหลัก อาจจะเป็นตัวบอกเหมือนกันว่านี่เป็นสัญญาณของกิจการ “โชว์ห่วย” ที่กำไร 4 ปี ต้องหมดไปกับการขาดทุนเพียงปีเดียว

ข้อห้าเป็นเรื่องเชิงคุณภาพที่จะบอกว่า เป็นกิจการที่แย่หรือไม่ก็คือ จำนวนผู้ผลิตหรือคู่แข่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงที่เข้ามาแข่งขันในตลาดเดียวกัน นี่อาจจะรวมถึงคู่แข่ง หรือสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย ถ้าดูแล้วคู่แข่งมีเต็มไปหมด แบบนี้ต้องสงสัยว่า จะเป็นกิจการในกลุ่ม “โชว์ห่วย” ที่อาจจะทำกำไรได้ยาก

ข้อหก ลองคิดดูว่า สินค้าที่บริษัทขาย คนซื้อจะมีความภักดีต่อยี่ห้อมากน้อย แค่ไหน หรือคนสนใจโปรโมชั่น หรือราคามากกว่า ถ้าเป็นอย่างหลัง โอกาสคือบริษัท เป็นผู้ผลิต หรือขายสินค้า “โชว์ห่วย” ที่มักจะไม่สามารถทำกำไรที่ดีกว่าปกติได้

ข้อเจ็ด ในบางครั้งบริษัท “โชว์ห่วย” อาจจะมีข้อมูลดีมากติดต่อกันอาจจะถึง 4-5 ปี จนทำให้เราเข้าใจผิดว่าเป็นบริษัท “โชว์สวย” ที่จริงบริษัทเหล่านี้ อาจจะดียิ่งกว่าบริษัทที่ดีเยี่ยมด้วยซ้ำ เพราะตัวเลขทุกตัวเติบโตขึ้นแรงต่อเนื่องกันหลายปี แต่ข้อมูลด้านคุณภาพบอกว่าน่าจะเป็นบริษัท “โชว์ห่วย” เหตุผลที่ตัวเลขดีติดต่อกันหลายปีนั้น อาจเกิดจากสถานการณ์ผิดปกติบางอย่างเช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านของอุปสงค์-อุปทาน อย่างที่ไม่มีคนคาดคิดมาก่อนและการปรับตัวของกำลังการผลิตทำไม่ได้เร็วพอ ราคาสินค้าอาจเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องยาวนานหลายปี ทำให้บริษัทมีกำไรน่าประทับใจ จนคนเข้าใจคุณสมบัติของบริษัทผิดไป

ข้อสุดท้ายคือ กรณีที่ตัวเลขบางตัว เช่น กำไรต่อยอดขายอาจจะไม่สูง เช่นเดียวกับกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่อาจจะปริ่มๆ ที่ 10% ต้นๆ ตัวสินค้าที่ขาย อาจดูเหมือนว่า เป็นสินค้าที่คนไม่ติดยึดยี่ห้อแต่เน้นราคามากกว่า เช่นเดียวกัน คู่แข่งที่มีศักยภาพ ก็มีอยู่มาก ดูแล้วอาจจะบอกว่าน่าจะเป็น “โชว์ห่วย” ตัวเลขกำไรมีความสม่ำเสมอ ปีแล้วปีเล่าและอาจจะมีแนวโน้มค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในกรณีแบบนี้เราอาจต้องดูลึกลงไปอีกหน่อยว่า บางทีบริษัทอาจมี “Local Monopoly” หรือมีพลังทางตลาด เพราะสถานที่ตั้งของกิจการ หรือร้านค้าที่ทำให้คู่แข่งไม่สามารถมาแข่งขันได้หรือเปล่า เพราะกรณีแบบนี้ ลูกค้าที่อยู่ในรัศมีการเดินทาง อาจต้องการใช้บริการจากบริษัทมากกว่าจะเดินทางไปหาบริการจากคู่แข่ง ผลคือ การแข่งขันโดยใช้ราคาก็ไม่ถึงกับรุนแรงจนหากำไรไม่ได้

การที่จะสรุปว่าหุ้น หรือกิจการตัวไหนน่าจะเป็น “โชว์ห่วย” หรือตัวไหนน่า จะเป็น “โชว์สวย” นอกจากการดูข้อมูลด้านตัวเลขและข้อมูลด้านคุณภาพดังที่กล่าวมาแล้ว บางทีเราอาจต้องดูอย่างอื่นๆ ที่ผมนึกไม่ถึง หรือรายละเอียดที่ไม่สามารถเขียนได้หมด จริงอยู่ กิจการหรือบริษัทหลายๆ แห่งนั้นมี “หลักฐาน” ทั้งที่เป็นตัวเลขและคุณสมบัติอย่างอื่นบอกว่า เป็น “โชว์ห่วย” แต่หลายๆ บริษัทก็ไม่ชัด และหลายบริษัท อาจจะเป็นข้อยกเว้น เพราะเหตุผลพิเศษอย่างอื่นทำให้ไม่ใช่ เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว เราสามารถตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นตัวนั้นได้ โดยอิงอยู่กับคุณค่าที่ควรจะเป็นของมัน นั่นก็คือ หุ้น “โชว์ห่วย” เราจะให้มูลค่าที่สูงมากไม่ได้ คิดจากค่า PE และเฉพาะ PB ที่ต้องไม่สูง มิฉะนั้นเราอาจจะเสียหายเมื่อในที่สุดตัวตนที่แท้จริงของกิจการปรากฏ ออกมา


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น