วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556

2เจ้าสัวเปิดศึกศักดิ์ศรี MAKROมูลค่ากระฉูด ‘เจริญ’ ทุ่มซื้อหุ้นละ 865 บาท - ‘ธนินท์’ เร่งโรดโชว์


2เจ้าสัวเปิดศึกศักดิ์ศรี
MAKROมูลค่ากระฉูด
‘เจริญ’ ทุ่มซื้อหุ้นละ 865 บาท - ‘ธนินท์’ เร่งโรดโชว์

ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2556 
ผู้เข้าชม : 98 คน 

“เสี่ยเจริญ” ท้าชนเจ้าสัว จับมือ “แบงก์กรุงเทพ-กรุงไทย” ทำ Counterbid หุ้น MAKRO จากกลุ่มเอสเอชวี โฮลดิ้ง เอ็นวี แข่งกับซีพีออลล์ ราคา 826-865 บาทต่อหุ้น สูงกว่าซีพีที่ 787 บาท หลังพบแม็คโครซ่อนราคาที่ดินไว้เพียบ ด้าน “ธนินท์” ไม่สน เตรียมเดินสายแจงกลุ่มผู้ถือหุ้นทั้งกองทุน และสถาบันต่างชาติ ศึกศักดิ์ศรีครั้งนี้อาจมีผลให้ราคา MAKRO พุ่งกระฉูดแรงต่อ

แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาทางการเงิน เผยว่า ล่าสุดกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี จับมือกับธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย เพื่อสนับสนุนวงเงินในการทำ Counterbid หรือบิดราคาแข่งกับกลุ่มซีพี ในการเสนอซื้อหุ้นบมจ.สยามแม็คโคร หรือ MAKRO จำนวน 154,429,500 หุ้น คิดเป็น 64.35% จากบริษัท เอสเอชวี โฮลดิ้ง เอ็นวีฯ หรือ SHV คล้ายกับกรณีของดีลหุ้นเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือ F&N ที่ผ่านมา ที่กลุ่มไทยเบฟต้องแข่งกับบริษัท โอเวอร์ซีส์ ยูเนียน เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (โอยูอี) จากอินโดนีเซีย
“การทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างซีพีออลล์กับ SHV จากเนเธอแลนด์ยังไม่ถือว่าดีลนี้จบ เป็นเพียงการเสนอราคาขั้นต่ำสุดที่จะเสนอซื้อ MAKRO เท่านั้น หากเสี่ยเจริญเสนอราคาสูงกว่าหุ้นละ 787 บาท ผู้ขายก็ต้องพิจารณาใหม่ หรือเรียกวิธีการนี้ว่า Counterbid ซึ่งเกิดกับดีล F&N และดีลที่ปตท.สผ. ซื้อหุ้นบริษัทโคฟ เอนเนอจี้ หรือ Cove Energy แข่งกับเชลล์มาแล้ว”
ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยเจริญมีวงเงินที่จะสามารถเบิกล่วงหน้าจากธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทยรายละ 3-5 หมื่นล้านบาทอยู่แล้วในแต่ละปี นอกจากนี้ ยังมีแบงก์ต่างประเทศที่จะสนับสนุนเงินกู้ในครั้งนี้ ได้แก่ แบงก์จากประเทศสิงคโปร์ และจีน รวมทั้งแบงก์จากญี่ปุ่น ซึ่งการทำ Counterbid ครั้งนี้หากฝ่ายเสี่ยเจริญชนะก็จะไม่มีแบงก์ไทยพาณิชย์เข้าร่วมปล่อยกู้ด้วย
แหล่งข่าว กล่าวว่า ราคาเสนอซื้อของกลุ่มเสี่ยเจริญในครั้งนี้จะสูงกว่าราคาที่กลุ่มซีพีซื้อที่ 787 บาทต่อหุ้น บวกอีก 5-10% หรือประมาณ 826-865 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่บริษัท เอสเอชวี โฮลดิ้ง เอ็นวีฯ หรือ SHV จากเนเธอแลนด์ไม่สามารถปฏิเสธได้ เนื่องจากต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทให้ได้รับประโยชน์สูงที่สุด
ขณะที่กลุ่มเสี่ยเจริญสนใจที่จะซื้อธุรกิจค้าปลีกมานานแล้ว ตั้งแต่คาร์ฟูร์ แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น การเสนอราคาแข่งกับซีพีครั้งนี้จึงต้องสู้ราคา โดยเล็งเห็นถึงมูลค่าของที่ดินของแม็คโครที่ซ่อนไว้เป็นจำนวนมหาศาลในสาขากว่า 62 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งราคาที่ดินที่ลงบัญชีไว้ต่ำกว่าราคาตลาด 8-10  เท่า ยกตัวอย่างสาขาลาดพร้าวเพียงสาขาเดียวเนื้อที่ 31 ไร่ ลงบัญชีไว้เพียงไร่ละ 5 ล้านบาท แต่ราคาตลาดประมาณ 40-50 ล้านบาทต่อไร่
ด้าน THE WALL STREET JOURNAL รายงานว่า กลุ่มนายเจริญมีแผนจะเข้าซื้อหุ้น MAKRO ซึ่งขณะนี้กลุ่มนายเจริญกำลังติดต่อสถาบันการเงิน เพื่อขอสนับสนุนวงเงินที่จะใช้ซื้อหุ้น MAKRO แข่งกับกลุ่มซีพี
                นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี ในฐานะประธานกรรมการ CPALL กล่าวว่า บมจ.ซีพี ออลล์  มั่นใจที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนมิ.ย. จะอนุมัติให้บริษัทซื้อหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร แต่ยอมรับว่าสิ่งที่ผู้ถือหุ้นกลัวที่สุด คือเรื่องการเพิ่มทุน จะทำให้สัดส่วนของตัวเองลด
ผู้บริหาร CPALL ยืนยันกับผู้ถือหุ้นแล้วว่า บริษัทจะไม่มีการเพิ่มทุน ความกังวลจากเรื่องผลกระทบดังกล่าวจึงไม่มี ดังนั้น เชื่อว่าในการประชุมเพื่อขอมติเรื่องซื้อหุ้น MAKRO น่าจะผ่านความเห็นชอบ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา CPALL ไม่สามารถที่จะขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศได้ เพราะการขยายธุรกิจจะต้องขออนุญาตจากบริษัทแม่ที่สหรัฐ แต่เมื่อซื้อ MAKRO แล้ว ก็จะขยายธุรกิจได้ภายใต้แบรนด์ของ "สยามแม็คโคร" ซึ่งในอนาคตอาจจะให้แบรนด์สยามแม็คโคร ขยายแฟรนไชส์ และขายไลเซนส์ เหมือนกับที่แบรนด์เซเว่นฯทำ
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CPALL กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ถือหุ้นที่เป็นกองทุนและสถาบันต่างชาติ ส่งสัญญาณในการยอมรับการเข้าซื้อหุ้น MAKRO เนื่องจากได้ชี้แจงทางโทรศัพท์กับผู้ถือหุ้นบางรายแล้ว รวมทั้งมีแผนจะเดินทางไปเจรจาและพูดคุยกับผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นรายใหญ่ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เข้าใจถึงเป้าหมายการจะซื้อ MAKRO โดยจะไปสิงคโปร์ และฮ่องกง
หลังจากซื้อ MAKRO จะทำให้การจ่ายเงินปันผลของ CPALL เพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา เนื่องจาก CPALL มีความสามารถในการทำกำไรที่ดี และมีเป้าหมายจะเปิดสาขาให้ครบ 1 หมื่นสาขา ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่มีราว 7 พันสาขา
ขณะที่มองว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการซื้อหุ้น MAKRO ใกล้เคียงกับผลกำไรของ MAKRO ซึ่งสามารถนำไปชำระหนี้ได้ ทำให้ CPALL อาจไม่ต้องใช้เงินของบริษัท หรือใช้เพียงเล็กน้อย สำหรับการชำระค่าดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ยังมีเป้าหมายจะทำให้ค่าพี/อี เรโชของ MAKRO ลดลงมาอยู่ที่ 20 เท่า จากปัจจุบันที่ราว 40 เท่า เนื่องจากจะทำให้ MAKRO มีการขยายงาน และการเติบโตแบบรวดเร็ว
“CPALL ไม่มีความจำเป็นต้องถือหุ้น MAKRO ในสัดส่วนถึง 90% ดังนั้น หากทำคำเสนอซื้อหุ้น แล้วสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเป็นระดับ 90% แต่มีคนสนใจซื้อหุ้น MAKRO และให้ราคาที่ดี CPALL ก็พร้อมจะขายหุ้นออกบางส่วน” นายก่อศักดิ์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น