ชื่อ:  news_img_498719_1.jpg
ครั้ง: 23
ขนาด:  12.1 กิโลไบต์

หลังวางมือจากผู้บริหารมืออาชีพ ไปเป็นเรือจ้างให้ความรู้ให้แก่บรรดาลูกศิษย์ราว 4-5 ปี มิวายที่ "กฤษนัน งามผาติพงศ์" อดีตผู้บริหารมือดีจาก บริษัท แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) จะคันไม้คันมือ อยากหวนคืนวงการอีกครั้ง ถึงขั้นนั่งเขียนประวัติตัวเอง ร่อน CV ผ่านอีเมล สมัครงานมากถึง 30 บริษัท แต่กลับไม่มีใครตอบรับ ไม่น่าเชื่อเขาตกงานนานถึง 3 เดือน

ก่อนที่ "วิชัย ทองแตง" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เคเบิลไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ซีทีเอช จะหยิบยื่นโอกาสนั้นให้ ประเดิมเป็นพนักงานคนแรกของซีทีเอช เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ในตำแหน่ง "ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร"


"อยากทำงาน 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น สมัครไปก็ไม่มีใครรับ ตอนนั้นเงินเดือนไม่ค่อยเกี่ยง" กฤษนัน เล่าปนเสียงหัวเราะ จนมาลงตัวที่ซีทีเอช

ทว่า เมื่อได้เข้ามาทำงาน กลับต้องเจอคำถามมากมาย โดยเฉพาะคำถามว่าการเมืองมีเอี่ยวไหม ที่ทำให้เขานั่งเก้าอี้ตัวนี้ ? ไม่แปลกที่คนจะสงสัย ความที่เขาเคยทำงานให้กับเอไอเอสของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่วิชัย ยังเป็นอดีตทนายความทักษิณ

เจ้าตัวยอมรับว่า สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความกดดันลึกๆ !!!

เขาชี้แจงว่า การตัดสินใจร่วมงานกับซีทีเอช มีเหตุผลเดียวคือ การเข้ากันได้ระหว่างเขากับวิชัย


"ผมไม่เชื่อเรื่องคนเก่ง แต่เชื่อตลอดเวลาในเรื่องของเคมิสทรี หรือเคมีที่ต้องเข้ากันได้ ผมยังเป็นคนเชื่อในทีมเวิร์คว่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนมากกว่าคนเก่ง คนเก่งเยอะบางทีไปไม่รอด แต่การมีเคมีที่เข้ากันและทีมเวิร์คดี อะไรก็ไปได้"

ถามว่า "วิชัย" มองเห็นอะไรในตัวเขาถึงได้มอบเก้าอี้ซีอีโอให้ กฤษนันบอกว่า "คงเพราะส่งอะไรมาผมก็ทำส่งกลับไปได้หมด" (หัวเราะ)


"ผมชอบแกด้วย แกหัวสมัยใหม่ เป็นนายที่ฟัง ไม่เถียงลูกน้องแต่ให้คำแนะนำ ฟังทุกอย่างให้จบ เป็นผู้ฟังที่ดีมากๆ โอเพ่นมาก บางทีจะขอคำแนะนำจากผมถ้าไม่แน่ใจ ผมไม่สงสัยในการทำธุรกิจของแก ที่สำคัญเคมีของเราตรงกัน" เขาย้ำ


พร้อมกับบอกด้วยว่า เมื่อก้าวเข้ามาในองค์กรซีทีเอช สิ่งที่มองเห็นคือคนส่วนใหญ่จะมีพลังงานในการทำงาน กล้าที่จะเดินใกล้นาย ทำงานอยู่ข้างๆนาย เป็นวัฒนธรรมการทำงานอย่างเป็นมิตร กลายเป็นการกำหนดทิศทางในการทำงานในฐานะซีอีโอซีทีเอช ที่จะต้อง "แชร์ทุกอย่างร่วมกัน"


"วีแชร์(We SHARE) บอกคนแรกเลย แชร์คือการแบ่งปันทุกสิ่ง S-spirit ของเรา H-humble นอบน้อมถ่อมตน รู้สิ่งที่ทำคืออะไร A-achievement ทำอะไรจะต้องประสบความสำเร็จ ไปซ้ายขวาแต่เป้าหมายเดียวกัน R-relevant ทำอะไรต้องผูกมัดศรัทธากับสิ่งนั้น E-equity เป็นเจ้าของทุกเรื่อง ทั้งหมดยังกลายเป็นโลโก้ หรือสโลแกนของซีทีเอช"

ทุกวันนี้ เขากับทีมงานทำงานหนักมาก เพื่อให้แพลตฟอร์มของซีทีเอชเสร็จสมบูรณ์


"เราพยายามทำให้มาก ทำให้ดี คนอื่นทำกัน 8 ชั่วโมง เราทำ 12 ชั่วโมง มากกว่าคนอื่น เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องทำให้เสร็จตรงตามเวลา"

สิ่งหนึ่งที่ กฤษนัน ยึดมั่นและคงคอนเซ็ปต์เสมอ เมื่อบริหารงาน นั่นคือการเป็น "Market Maker" เพราะไม่ว่าจะร่วมหัวจมท้ายกับบริษัทใด อาทิ โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือธุรกิจการสื่อสารใต้ปีกเอไอเอส ที่ต้องแข่งขันกับดีแทค และออเรนจ์ (ทรู) เขาก็มักจะสร้างสรรค์บริการนอนวอยซ์ใหม่ๆให้ตื่นเต้นอยู่เสมอ

เมื่อสวมบทเป็นกุนซือปั้นซีทีเอช เขาจึงต้องการ "สร้าง" แพลตฟอร์มธุรกิจเพย์ทีวี สานต่อภารกิจ "ยกระดับ" เคเบิลภูธรให้เป็นเคเบิลที่มีมาตรฐาน เป้าใหญ่กว่านั้น คือการ "สร้างบรอดแบนด์" ที่จะช่วยพลิกโฉมให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคของการสื่อสารที่มีศักยภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ

"ฉายาเก่าผมคือ Market Maker ผมชอบสร้างอะไรใหม่ๆ ตลาดใหม่ ไม่เดินตามแนวทางเดิม ซีทีเอชก็เช่นกัน สิ่งนี้ยังเป็นโลโก้ติดตัวผมอยู่ จากนี้ไปคงเห็นอะไรใหม่ เปิดทฤษฎีและรูปแบบการตลาดใหม่" เขาเล่า
สิ่งที่สำทับที่มาของการเป็นนักการตลาด ผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเสมอ เช่น ตอนอยู่เอไอเอส กฤษนันคือผู้คิดบริการต่างๆจำนวนมาก


เขาโยนคำถามกลับมาว่า "ให้คุณลองทายซิว่าผมคิดเซอร์วิสให้กับมือถือปีหนึ่งกี่บริการ?" คำตอบคือ 300 บริการต่อปี หมายถึงเกือบทุกวันใน 1 ปีต้องมีบริการใหม่ๆเกิดขึ้น


จึงไม่แปลกที่นักคิดนักสร้างอย่างเขา จะมุ่งสร้างปรากฎการณ์ให้กับแวดวงทีวี ตลอดจนธุรกิจโทรคมนาคมด้วยการวางระบบบรอดแบนด์ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง สร้างความประหลาดใจให้ตลาดได้อีก


เขายังมองว่า ในอนาคตไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีเท่านั้นที่จะต้องแข่งขันกันเอง แต่มองไปถึงการรับมือกับผู้เล่นเกมนี้ในเวทีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล แอนดรอยด์ ไมโครซอฟท์ ที่หันมาลุยธุรกิจมีเดียกันหมด


"ธุรกิจเหล่านี้เข้ามาบ้านเราแน่ และเมื่อเข้ามาอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่แข็งแกร่ง แต่ซีทีเอชไม่กลัวฝรั่ง เพราะมั่นใจว่าคนไทยเข้าใจพฤติกรรมคนไทยมากกว่า และสุดท้ายเราต้องแข่งกันที่บริการ"


"บรอดแบนด์ระดับชาติ" คือเป้าหมายที่กฤษนันตั้งไว้ เพราะเขามองว่าการให้บริการการสื่อสารด้วยความเร็วสูงจะช่วยพัฒนาประเทศได้อีกมาก แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่เขาได้หารือกับผู้บริหารไทยรัฐ (หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ซีทีเอช) และยังกลายเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีช ที่วิชัยตั้งปณิธานไว้


เขายังบอกด้วยว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะเป็นสูตรสำเร็จช่วยผลักดันให้ซีทีเอชมีรายได้เพิ่ม และกลายเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจเคเบิลทีวีได้ไม่ยาก


แม้จะเข้ามาบริหารซีทีเอชยังไม่ถึงปี แต่สร้างความฮืฮฮาให้กับวงการไม่น้อย โดยเฉพาะประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษ(EPL)มาได้ 3 ฤดูกาล นั่นยังไม่ใช่ผลงานวัดความสำเร็จเขาบอก เพราะทุกอย่างเพิ่งเริ่ม การวัดผลงานคงต้องลุ้นกันตอนสิ้นปีนี้ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ทั้งรายได้ กำไร และฐานสมาชิกและวันนี้เขาพยายามปั้นแพลตฟอร์มซีทีเอช เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ๆให้ลูกค้า เพิ่มบริการ ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า การแข่งขันทำให้ธุรกิจยกระดับการบริหารให้ดีขึ้น


"เวลาจะเป็นผู้ตัดสินให้เราเอง ที่ต้องทำคือตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้ การแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดา แต่มั่นใจเสมอในชีวิตที่ทำงานมา ผู้บริโภคคือคนตัดสิน เราต้องแข่งการบริการให้กับลูกค้าทำให้ชนะใจเขา ชนะสิ่งที่เขาคาดหวัง ทำให้มากกว่านั้น"


"กลยุทธ์" ยังเป็นอีกปัจจัยที่เขาให้น้ำหนัก ทุกครั้งที่เข้าไปอยู่ที่องค์กรใดจะต้องสร้างนักคิด ต้องมีแผนกวางแผนด้านกลยุทธ์ ซึ่งจะผลักดันให้นักบริหารที่ฉายแววก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอ กุมบังเหียนและกำหนดทิศทางของบริษัท
กฤษนัน กล่าวทิ้งท้ายกับบทบาทบริหารครั้งใหม่ในซีทีเอชว่า จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรลุผลตามเป้าหมาย นั่นคือการทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ สร้างสีสันให้กับธุรกิจเพย์ทีวี นับจากนี้ 


ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ