วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

ราคาทองตกครั้งใหญ่ 2556

 

คำถามปกติเหมือนเช่นตลาดเก็งกำไรทั้งหลายเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ ราคาทองคำที่ร่วงแรงเป็นการร่วงแล้วร่วงเลย หรือ ร่วงเพื่อปรับฐานก่อนขึ้นต่อหาแนวต้านใหม่
เพื่อให้เข้าใจกันเป็นเบื้องต้น จะต้องตระหนักก่อนว่ามูลค่าใช้สอยของทองคำ กับมูลค่าตลาดนั้นมีความแตกต่างกัน มูลค่าใช้สอยของทองคำจะต้องต่ำกว่ามูลค่าตลาดเสมอ เพราะมูลค่าอย่างหลังนั้น มีการเก็งกำไรล่วงหน้าปะปนอยู่ด้วย
การร่วงลงของราคาทองคำรอบนี้ ก็ไม่ต่างจากการขึ้นของราคาทองคำเมื่อหลายปีที่ผ่านมาจนถึงจุดสูงสุดก่อนถดถอยลงมา นั่นคือมีรากฐานจากการเก็งกำไรของตลาดเป็นหลัก ทั้งกองทุน ผู้บริโภคทั่วไป และผู้ค้าทองคำทุกระดับ
นักเทคนิคระยะสั้นตลาดเก็งกำไรทองคำจึงบอกว่า การร่วงของของราคาทองคำคราวนี้ (ตามตารางประกอบที่ตลาดนิวยอร์ก) มีลักษณะของ "ความคลั่งของฝูงสัตว์" หรือ "กระต่ายตื่นตูม"  ถือเป็นการปรับฐานตัดขาดทุน (ไม่ใช่ทำกำไร) เพื่อที่จะหาฐานซื้อรอบใหม่ หรือ SAP ทำธรรมดา เพราะการร่วงแรง 2 วันแล้วรีบาวด์ในลักษณะ "แมวตายเด้ง"(death cat rebounce) นั้น จะตามมาด้วยการซึมไซด์เวย์ขาลงไปอีกระยะหนึ่งไปสู่ฐานราคาใหม่ที่น่าจะเป็นแนวรับสำคัญที่ระดับ 1,200-1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อเอาน์ซ
เทียบเป็นเงินไทยก็น่าจะประมาณบาท (น้ำหนัก) ละ 16,000-15,000 บาท สำหรับทองคำแท่ง
บางคนที่มองโลกแง่ร้ายสุดๆ บอกไกลกว่านั้นว่า ฐานรับน่าจะอยู่ที่ 800 ดอลลาร์ต่อเอาน์ซ หรือ 12,000 บาทโน่นไปเลย แต่ไม่สมเหตุสมผลมานัก เพราะเอาสถิติเก่ามาอ้างว่า ในปี พ.ศ.2542 นั้น ราคาทองคำเคยร่วงไปถึง 250 ดอลลาร์ต่อเอาน์ซมาแล้ว โดยไม่ได้คิดการเสื่อมของค่าสกุลเงินลงไปด้วย
ผู้จัดการกองทุนเฮดจฟันด์หลายสำนักมองโลกในทางบวก บอกว่า การร่วงของราคาเก็งกำไรทองคำในช่วงนี้ สอดรับกับการเคลื่อนตัวของตลาดโลหะมีค่าและไม่มีค่าทั้งหมด เพราะเห็นได้ว่า ราคาทองคำขาว เงิน ทองแดง นิกเกิล หรือ ดีบุก ก็ล้วนราคาร่วงระนาวทั้งนั้น
หากดูสัญญาณทางเทคนิคที่เห็นการดำดิ่งในระยะใกล้ของราคาทองคำและโลหะอื่นเป็นรูปแบบของ head and shoulder pattern (เทียบสามยอดสุดท้ายสูงสุดก่อนร่วงลงแรง) คล้ายกับสถานการณ์ตลาดก่อนภาวะวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 5 ปีก่อน จะเห็นชัดเจนว่า การซึมยาวหาแนวรับใหม่เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ในสองสามเดือนข้างหน้า แต่จะไม่ลงถาวรแน่นอน เนื่องจากการร่วงลงแรง จะทำให้เกิดสัญญาณซื้อครั้งใหม่
นักเศรษฐศาสตร์ตลาดทองคำที่มีมุมมองมหภาคยืนยันว่า ราคาทองคำที่ร่วงลงมาเป็นปฏิกิริยาตามเหตุผลของตลาดเก็งกำไร ไม่ใช่เหตุผลเชิงเศรษฐศาสตร์ เพราะ หากพิจารณาจากความสมเหตุสมผลแล้ว จะต้องเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์กลยุทธ์ของโกลด์แมน แซคส์ได้ศึกษาเอาไว้คือ ราคาทองคำเป้าหมายปีนี้ จะอยู่ที่ เหนือ 1,500 ดอลลาร์ต่อเอาน์ซ และราคาเป้าหมายปีหน้าคือ 1350ดอลลาร์ต่อเอาน์ซ แต่ราคาที่ร่วงลงไปใกล้เคียงกับเป้าปีหน้ายามนี้ เร็วเกินสมควร ดังนั้น จะต้องมีการรีบาวด์กลับเมื่อตลาดสงบลง แม้ว่าราคาทองคำใน 2 ปีข้างหน้านี้จะยังคงเป็นขาลง หลังจากที่ขึ้นมายาวนาน 12 ปี โดยไม่ปรับฐานเลย
นักกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทวิจัยความเสี่ยงทางการเงินในลอนดอนหลายราย ระบุตรงกันว่า การร่วงลงของราคาทองคำช่วงนี้ มีเหตุผลทางจิตวิทยาสำคัญมากกว่าสัญญาณทางเทคนิค เพราะนับตั้งแต่วิกฤตราคาน้ำมันล่าสุดที่เริ่มในปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ผู้คนทั้งหลายทั่วโลกในยามนั้นจนถึงปี2555 แสวงหา "สภาพคล่อง" กันจ้าละหวั่น ทำให้ราคาหลักทรัพย์เก็งกำไรสะพัดไปทั่ว รวมถึงโภคภัณฑ์เก็งกำไรที่รวมเอาทองทำเข้าไปด้วย
พวกเขามองว่า สงครามค่าเงินที่เริ่มต้นขึ้นมาในปลายปี 2554 และระบาดแรงปลายปี 2555 เพราะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกพากันแข่งขันลดค่าเงินและพิมพ์ธนบัตรสู่ระบบเงินโลกอย่างรุนแรงยิ่งกว่าคลื่นสำนามิ เป็นต้นมาและจะลุกลามต่อไปอีกหลายปี สภาพคล่องจะไร้ความหมายลง เพราะผู้คนจะหันพฤติกรรมไปหาสินทรัพย์ที่จับต้องได้มากขึ้นเช่น ทิ่ดิน หรืออื่นๆแทน ดังนั้นความจำเป็นต้องเก็บทองคำมหาศาลเอาไว้ อาจจะไม่มีคุ้มค่า
ข้อสรุปข้างต้น ใช้อธิบายเฉพาะพฤติกรรมของกองทุนเก็งกำไรขนาดใหญ่ หรือ สถาบันการเงินอย่างธนาคารกลางของโลกเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงคนสามัญทั่วไปที่ต้องการถือครองทองคำในจำนวนแค่หนวดกุ้งทั้งหลายในโลก ที่เคยหวาดผวากับราคาทองคำที่แพงลิ่วจนไม่อาจหาซื้อมาครอบครองได้
ยามราคาทองคำร่วงเช่นนี้ เป็นโอกาสอันดีของการเข้าซื้อสะสมรอบใหม่ แต่ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ด้วยตื่นตระหนก เพราะราคาทองคำร่วงมาให้ซื้อรอบนี้ ยาวนานหลายเดือนแน่นอน 
ที่สำคัญ หนุ่มไทย หรือ สาวฮินดู ที่เคยสูญเสียโอกาสแต่งงานมาหลายปีเพราะทองคำราคาแพง ก็เป็นโอกาสอันดีในการลดต้นทุนค่าสินสอดได้บานเบอะทีเดียว ก็จะได้สุขสมหวังกับทุกขลาภของการมีภรรยาหรือสามีเสียที ส่วนคนที่คิดจะแต่งใหม่ ก็เป็นโชคซ้ำสองเช่นกัน

โดย...วิษณุ  โชลิตกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น