วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

"ช้อนซื้อ"หรือ"ใส่เกียร์ถอย"บาทแข็ง“หมดเวลาหุ้นส่งออก”

กางคำทำนาย“กูรูหุ้นไทย” ค่าบาทแข็งโอกาสทอง “เก็บหรือทิ้ง” หุ้นส่งออก “หมอบุญ วนาสิน” ยกมือส่งสัญญาณ “กรุณาหลีกเลี่ยง” หุ้นกลุ่มสินค้าเกษตร
ชื่อ:  news_img_499046_1.jpg
ครั้ง: 1075
ขนาด:  19.4 กิโลไบต์

ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยกำลังคึกคักราว “กระทิงเปลี่ยว” เรียกว่า “ทุบสถิติใหม่” เกือบทุกวัน จู่ๆ SET INDEX ก็ทยอยย่อตัว ก่อน “หล่นตุ๊บ” 50 จุด ปิดตลาดที่ 1,478.97 จุด มูลค่าการซื้อขาย 1.01 แสนล้านบาท (ณ วันที่ 22 มี.ค.56) หลังมีข่าวลือ!!ว่า ทางการเตรียมออกนโยบายสกัดค่าเงินบาทที่แข็งค่า 29.50 บาทต่อดอลลาร์ (ณ วันที่ 20 มี.ค.56) แข็งค่าสูงสุดในรอบ 16 ปี สุดท้าย “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาปฎิเสธข่าว

ทันทีที่ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" พยากรณ์ค่าเงินบาทว่า “กลางปี 2556 ค่าบาทมีแนวโน้มแข็งค่าถึง 29 บาทต่อดอลลาร์ และ 28.5 บาทต่อดอลลาร์ช่วงปลายปี” นักลงทุนหลายรายพากันตั้งคำถามว่า หรือนี่คือโอกาสทอง “ช้อนของถูก” โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มที่มีรายได้เป็นดอลลาร์สหรัฐ อย่างกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์,กลุ่มอาหารส่งออก,กลุ่มโรงแรมและกลุ่มโรงพยาบาล สุดท้ายนักลงทุนควร “ตะลุยช้อนหรือถอยหนี” กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” มีคำตอบจากเหล่ากูรู

“หมอบุญ วนาสิน” ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ วิเคราะห์ผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าให้ "กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท จะมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) 0.1% ฉะนั้นนักลงทุนควร “หลีกเลี่ยง” หุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเช่นนี้

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร อาทิเช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง เสื้อผ้า เครื่องประดับ และโรงแรม เพราะแนวโน้มค่าเงินบาทก็ยังคงอยู่ในระดับแข็งค่า เพราะเงินทุนต่างประเทศยังคงตั้งหน้าตั้งตาไหลเข้ามา จากการที่สหรัฐอเมริกายังไม่หยุดออกมาตราการสารพัด QE

ตรงกันข้ามเงินบาทที่แข็งค่า ก็ส่งผลดีต่อบางอุตสาหกรรม โดยเฉพากลุ่มนำเข้า
 อย่างธุรกิจพลังงงาน น้ำมัน ปิโตรเคมี นำเข้าเครื่องจักร และกลุ่มท่องเที่ยวในต่างประเทศ

แต่ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับค่าบาทที่แข็งค่าขึ้นบ้างแล้ว ถ้าเงินบาทอยู่ในกรอบ 29 บาทต่อดอลลาร์ ผู้ประกอบการยังพอรับมือไหว แต่หากแข็งถึงกว่า 29 บาทต่อดอลลาร์

ผู้ประกอบการ “แย่แน่” !!

คุณหมอยังบอกว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยค่อนข้าง “ผันผวน” คาดว่าน่าจะตกอยู่ในอาการซึมๆ ไปจนสิ้นเดือน เม.ย. จากนั้นตลาดหุ้นจะดีขึ้น "ผมยังเชื่อว่าปลายปี 2556 อาจเห็น SET index ยืนระดับ 1,700 จุด เพราะว่าสัญญาณเงินทุนจากต่างประเทศยังไหลเข้ามาเมืองไทยต่อเนื่อง ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ"

แต่ตอนนี้เป็นห่วงเรื่อง “ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์” เห็นได้ว่าคนที่ซื้อคอนโดมิเนียมไม่ได้ซื้อเพื่ออยู่อาศัย แต่ซื้อ “เก็งกำไร” เพื่อขายต่อ ฟองสบู่ตรงนี้เริ่มเห็นเป็นก้อนใหญ่แล้ว การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาพูดสกัด ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะลดความ “ร้อนแรง” ลงได้บ้าง ตอนนี้คนไทย “รวยจากหุ้น” เยอะมาก เขาทิ้งท้าย

ด้าน "พีรเจต สุวรรณนภาศรี” ผู้บริหาร “ยูเนี่ยน อินทราโก้” ในฐานะนักลงทุน “VI” แนะนำไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้อง “หลีกเลี่ยง” หุ้นกลุ่มส่งออก “วินาทีนี้ไม่ได้เป็นของหุ้นกลุ่มส่งออก” กลุ่มนี้ส่งสัญญาณไม่สวยมาตั้งแต่ปีก่อนแล้ว หากใครสังเกตดีๆก็จะเห็น เพียงแต่รอความชัดเจนเท่านั้นเอง เมื่อเริ่มมีความชัดเจน แถมค่าบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอีก และไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าจะแข็งค่าขึ้นไปจึงจุดไหน

เขายังทำนายว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นไปแตะ 25 บาทต่อดอลลาร์ แต่คงใช้เวลาเป็นปี ในระยะใกล้ๆค่าบาทคงแข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ตราบใดที่เศรษฐกิจในประเทศยังดีอยู่ ภาครัฐยังออกมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอนุมัติโครงการใหม่ออกมาเรื่อยๆ
“ผู้บริหารที่อยู่ในกลุ่มส่งออกน่าจะเตรียมรับมือเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยเฉพาะการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน แต่ถึงมีการทำประกันก็ยังมีโอกาสเสียหายอยู่ดี ฉะนั้นโอกาสที่หุ้นกลุ่มนี้จะกลับมา “คึกคัก” อีกครั้งคงยังไม่ได้เห็น”

“พีรเจต” พูดต่อว่า ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร UIC บริษัทได้รับประโยชน์เต็มๆจากบาทแข็งค่า เนื่องจากธุรกิจเป็นแบบซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) การที่บริษัทมีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ในช่วงที่เงินบาทแข็ง ถือเป็นเรื่องดี ที่ผ่านมาบริษัทมีการป้องกันความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาทแล้ว 
ขณะเดียวกันจะสั่งซื้อสินค้าต่อเมื่อลูกค้ามีคำสั่งซื้อลักษณะเดือนต่อเดือน และเมื่อบริษัทสั่งซื้อสินค้ามาแล้วก็จะจำหน่ายให้หมดภายในระยะเวลา 3 เดือน ทำให้บริษัทมีกระเสเงินสดที่ดี ส่วนเรื่องความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ก็ปรับราคากับลูกค้าได้ตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ทุกวันนี้มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำเพียง 0.5 เท่า เขาคุย..

“เซียนหุ้น” ยังถือโอกาสเล่าทิศทางธุรกิจของ UIC ท่ามกลางบาทแข็งค่าให้ฟังว่า ปีนี้น่าจะมีรายได้ประมาณ 750 ล้านบาท ขยายตัว 15-20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 650 ล้านบาท หลังบริษัทเพิ่มการขายเคมีภัณฑ์ในส่วนของเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทุกวันนี้ทุกเพศมีการดูแลตัวเองมากขึ้น ทำให้ยอดขายดีตามไปด้วย 
อีกอย่างบริษัทได้ลดการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ในส่วนของสีให้น้อยลง เพราะอัตราการเติบโตไม่เข้าตา คาดว่าสัดส่วนรายได้จะมาจากเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ในการดูแลสุขภาพ 60% จากปีก่อนที่อยู่ระดับกว่า 50% ที่เหลือมาจากบรรจุภัณฑ์ 15% อาหารและยา 15% และสี 10%

บริษัทยังมีแผนจะนำสินค้าใหม่ๆ เข้ามาจำหน่ายมากขึ้น เพื่อความครบวงจร และยังมีแผนจะขยายฐานลูกค้าใหม่ และเพิ่มยอดขายในส่วนของลูกค้ารายเดิม “บริการที่ดี ส่งมอบตรงเวลา สินค้ามีคุณภาพ” นี่แหละ “จุดแข็ง” ของ UIC

“ภายในปี 2556 บริษัทจะลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าประมาณ 80-100 ล้านบาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเช่าคลังสินค้า และจัดเก็บสินค้าให้ได้คุณภาพที่ดี เพราะ สินค้าของเราต้องมีการควบคุมในเรื่องแสง อุณหภูมิ ปัจจุบันเราเช่าที่เก็บสินค้าจำนวน 4 แห่ง ล่าสุดอยู่ระหว่างหาซื้อที่ดิน

ส่วน “ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ” เจ้าของฉายา “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” บอกว่าสั้นๆว่า ต้อง “หลีกเลี่ยง” หุ้นส่งออก บอกได้คำเดียว ไม่ควรเข้าไปลงทุน จริงๆตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ไม่เหมาะแก่การลงทุนด้วยซ้ำ จากการมอนิเตอร์พบว่า หุ้นไทยยังคงอยู่ในช่วง “ขาลง” จะเห็นว่าที่ผ่านมา “หุ้นบลูซิพ” ไม่ได้ขยับขึ้นเยอะเลย จะมีวิ่งก็เพียงแต่หุ้นขนาดเล็กๆและขนาดกลาง

ฉะนั้นหุ้นไทยน่าจะถึงจุด “อิ่มตัว” แล้ว นักลงทุนรายย่อยส่วนหนึ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาแล้วเกิดอาการ “ขาดทุน” หลังตลาดหุ้นปรับลดลงมาแรง ทุกคนเจ็บตัวกันหมด 
"คุณลองกลับไปดูปริมาณการซื้อขายสิหายไป เหลือเพียง 30,000-40,000 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่วอลุ่มเคยแตะ 100,000 ล้านบาท"

ถามเรื่องค่าเงินบาทกับ “ทอม” ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เขาบอกว่า ยอมรับทิศทางค่าเงินบาทยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แนวโน้ม 3-6 เดือนข้างหน้า ค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นแต่คงไม่มาก เพราะทุกอย่างในประเทศยังดี ทั้งเศรษฐกิจในประเทศและโครงการที่ภาครัฐอนุมัติ

"ตอนนี้บ้านเราอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ส่วนอเมริกาอยู่ในช่วงยังไม่ “ฟื้น” แต่หากอเมริกาประกาศหยุดอัดฉีดเงินเข้าระบบ ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงมาได้ แต่คิดว่าไม่เยอะ"

สถานการณ์เงินบาทคาดการณ์ได้ยาก เพราะว่าเงินไหลเข้าทั้งภูมิภาค แม้ว่าค่าเงินประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะยังไม่แข็งค่าเท่าเงินบาทก็ตาม แต่ยังไม่น่าตกใจ เพราะว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี และการที่ประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่มเรตติ้งประเทศ บวกกับเงื่อนไขของประเทศถือว่าค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับเงินลงทุนมากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นผู้ส่งออกต้องพยายามปรับตัว

“ป๋อง”สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บอกว่า ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทจดทะเบียน ที่มีรายได้หลักจากการส่งออกที่ไม่มีต้นทุนเป็นเงินดอลลาร์เลยจะได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตร อาหารทะเล ฉะนั้นนักลงทุนควร “หลีกเลี่ยง” กรุณาโยกไปเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่นแทน

ภายในช่วงไตรมาส 1/56 คงยังไม่เห็นว่าธุรกิจส่งออกได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะว่าออเดอร์ต่างๆ เป็นการสั่งซื้อล่วงหน้าและบริษัทเอกชนส่วนใหญ่มีการทำประกันความเสี่ยง และสถานการณ์ค่าเงินบาทยังไม่เห็นสัญญาณการอ่อนค่าลงมาก เนื่องจากเงินจากต่างประเทศยังไหลเข้ามาตลอด เศรษฐกิจอเมริกาก็เริ่มดีขึ้น

"ผมมองว่าค่าเงินบาทภายในปี 2556 จะยืนในกรอบ 29-29.50 บาทต่อดอลลาร์" 
“หนุ่มป๋อง” พูดต่อว่า จะเริ่มเห็นผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในช่วงไตรมาส 2/56 ชัดเจนมากขึ้น เพราะว่าเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการตัดสินใจว่าจะบริหารจัดการต่อคำสั่งซื้อรอบใหม่อย่างไร เนื่องจากต้นทุนการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางการผันผวนของค่าเงิน นี่คือ สิ่งที่ต้องจับตาดู

แม้ธุรกิจส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่บริษัทที่มีรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินเป็นสกุลต่างประเทศ ก็จะเกิดการบริหารความเสี่ยงแบบธรรมชาติ (Natural Hedge) ยกตัวอย่างเช่น บมจ.ปตท. (PTT) เขาจะได้รับผลดีจากการนำเข้าสินค้า ซึ่งต้นทุนจะลดลง และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ที่นำเข้าอุปกรณ์มาลงทุน 3G รวมถึงบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ก็จะได้ผลดีด้วย

ถามเรื่องค่าเงินบาทในมุมของผู้บริหาร “สุนันทา เตียสุวรรณ์” ประธานบริหารการเงินกลุ่มบริษัท “แพรนด้า จิวเวลรี่” (PRANDA) เธอเล่าว่า แนวโน้มค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพคล่องเข้ามาสู่ตลาดไทยมาก ทำให้ผู้ส่งออกกังวลการแข็งค่าที่รวดเร็ว ซึ่งรัฐควรเข้ามารักษาเสถียรภาพมากกว่านี้ 
โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุก 1% กำไรของบริษัทจะลดลงไป 2 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการขาดทุนทางบัญชี ไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยไตรมาสแรกของปีนี้ กำไรของบริษัทอาจลดลง เพราะผลกระทบจากเรื่องนี้เต็มๆ

เธอ ถือโอกาสเล่าแผนธุรกิจให้ว่า ปีนี้ตั้งงบลงทุนไว้ระดับ 430 ล้านบาท โดยใช้ในการขยายธุรกิจในตลาดอินเดีย และอินโดนีเซียประมาณ 150 ล้านบาท รวมถึงซื้อเครื่องจักรใหม่ 80 ล้านบาท และอีก 200 ล้านบาท ใช้สร้างอาคารใหม่ โดยจะกู้เงินจากแบงก์ ไม่ต้องห่วงเรื่องอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) เพราะยังอยู่ในระดับต่ำ 0.7 เท่า
ปี 2556 ผลประกอบการอาจเติบโต 5%จากปีก่อนที่มีรายได้ 4,177 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 449 ล้านบาท เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯดีขึ้น และราคาทองคำย่อตัวลงมา ทำให้มีคำสั่งซื้อเครื่องประดับทองมากขึ้น แม้ว่ามาร์จินเครื่องประดับทองคำจะต่ำกว่าเครื่องประดับเงินก็ตาม ส่วนในแง่ของอัตรากำไรขั้นต้นคงใกล้เคียงปีก่อนที่อยู่ระดับ 33.9% หลังเราลดต้นทุนการผลิต

“บริษัทจะเน้นเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากสินค้าแบรนด์ตนเอง (OBM) มากขึ้นเป็น 50% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ 30% โดยจะขยายจุดจำหน่ายสินค้า OBM ผ่านการค้าส่งให้กับร้านค้าปลีกรายย่อยและร้านค้าปลีกเครือข่าย โดยตั้งเป้าการเติบโตสินค้า OBM จากในตลาดกลุ่มประเทศยุโรปเพิ่มขึ้นกว่า 100% ภายใน 3 ปีข้างหน้า และขยายตลาดใหม่อย่างต่อเนื่องไปยังตะวันออกกลาง และเอเชีย


ที่มา BIZWEEK ONLINE

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น