สอย SVOA-MFEC รับบาทแข็ง
วงการนักวิเคราะห์ออกโรงแนะนักลงทุนเก็บหุ้น SVOA-MFEC รับอานิสงส์บาทแข็งค่า ขณะที่ฟันธง! ธปท.ไม่งัดมาตรการรุนแรงสกัด แต่ "โต้ง" แนะดูแลใกล้ชิด ห่วงกระทบส่งออก-ท่องเที่ยว ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุแข็งค่าทุบสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี หวั่นหลุด 29 บ./ดอลล์
***เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุ SVOA-MFEC เฮ! รับอานิสงส์บาทแข็งค่า
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าบริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVOA เป็น 1 ในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ 50% มาจากธุรกิจเทรดดิ้งซึ่งต้องนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศ ขณะที่รายได้อยู่ในรูปเงินบาท และราคาหุ้นมีปัจจัยสนับสนุนรออยู่คือการประมูล Tablet ในเดือน เม.ย. 2556 ซึ่งเป็นอัพไซด์ริชที่ยังไม่รวมอยู่ในประมาณการ ขณะที่ครึ่งปีหลัง 2556 เชื่อว่าจะเริ่มเห็นการประมูลงานวางระบบโทรคมนาคมของรัฐบาล ภายใต้โครงการ Smart Thailand มูลค่ารวมสูงถึง 60,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2556 – 2558 และเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มไอซีทีที่ทำธุรกิจรับวางระบบโทรคมนาคม เนื่องจากมูลค่างานที่สูงมาก จึงมีแนวโน้มที่แต่ละบริษัทจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกในทิศทางเดียวกันทุกบริษัท
ทั้งนี้คาดว่ากำไรสุทธิปี 2556 จะเติบโตสูงถึง 99% เป็น 157 ล้านบาท และต่อเนื่อง 29.4% เป็น 204 ล้านบาท ในปี 2557 และราคาหุ้นยังมี Valuation ที่ค่อนข้างถูก โดยซื้อขายบน PER ปี 2556 ที่ 11.7 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มไอซีทีขนาดกลางที่ 15-16 เท่า จึงแนะนำทยอยสะสมหุ้น SVOA โดยให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 3.60 บาทต่อหุ้น ขณะเดียวกันยังประเมินว่าราคาหุ้นของ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC ที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในเกณฑ์ดี โดยจะขึ้น XD เงินปันผลปี 2555 หุ้นละ 0.33 บาท ในวันที่ 30 เม.ย.2556 คิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 4.4% รวมทั้งเป็น 1 ในหุ้น ที่ได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากมีต้นทุนสินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์–โทรคมนาคม ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่รายได้อยู่ในรูปสกุลเงินบาท ดังนั้นจึงส่งผลให้ส่วนต่างอัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มขยับขึ้น
นอกจากนี้ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการปี 2556 ที่จะเริ่มต้นเข้าสู่ขาขึ้นของธุรกิจ โดยมีงานในมือ สิ้นปี 2555 สูงถึง 2,940 ล้านบาท และจะรับรู้รายได้ทั้งจำนวนในปีนี้ คิดเป็น 78% ของประมาณการรายได้ที่ 3,762 ล้านบาท ดังนั้นด้วยสมมติฐานแบบอนุรักษ์นิยมคาดว่ากำไรสุทธิในปี 2556 จะเติบโตสูงถึง 27% เป็น 217 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมอัพไซด์ริชที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะส่งผลให้ต้องปรับเพิ่มประมาณการขึ้น คือโครงการ Smart Thailand มูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาทในช่วงปี 2556 – 2558 ส่วนราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ PE ปีนี้ที่ประมาณ 0.56 เท่า และคาดการณ์เงินปันผลปี 2556 หุ้นละ 0.33 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 4.4% จึงแนะนำนักลงทุนทยอยสะสม โดยให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 8.20 บาท
***บล.เคจีไอ ฟันธง! ธปท.ไม่งัดมาตรการรุนแรงสกัดบาทแข็ง
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าและแนวโน้มในบทวิเคราะห์นี้ ฝ่ายวิจัยให้มุมมองเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา โดยการแข็งค่าของเงินบาทนั้นที่จริงแล้วเป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์ของบล.เคจีไอ คาดการณ์ โดยเคยมองว่าเงินบาทต่อดอลลาร์ฯ จะแข็งค่าแตะระดับ 29 บาท และอาจแข็งค่าแตะระดับ 28.3 บาท ภายในสิ้นปี 2556 ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเร็วกว่าสกุลเงินอื่นๆ นั้น มีสาเหตุหลักมาจากผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรที่อยู่ในระดับที่สูงอีกหลายประเทศ บวกกับอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ดีกว่าประเทศในภูมิภาคหลายประเทศ
ขณะที่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยในขณะนี้อยู่ในระดับที่ดีโดย ณ ขณะนี้สถานะเงินลงทุนในตลาดพันธบัตรนับจากต้นปีได้เกินระดับ 1 แสนล้านบาทแล้ว ส่วนการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทนั้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อมาตรการควบคุมเงินบาทที่อาจจะออกมา ถึงแม้ว่าผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรมว.คลัง ได้ออกมายืนยันแล้วว่าจะไม่มีมาตรการควบคุมค่าเงินที่ผิดธรรมชาติ แต่ด้วยเงินบาทที่แข็งเร็วมากส่งผลให้นักลงทุนยังคงกังวล โดยฝ่ายวิจัยสรุปความเห็นเกี่ยวกับมาตรการสกัดการแข็งค่าของเงินบาทว่ามาตรการที่น่าจะเป็นไปได้ในการควบคุมเงินบาทคือการสนับสนุนให้มีการลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีมาตรการดังกล่าวอยู่แล้ว นอกจากนี้ ธปท. อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบาย (ฝ่ายวิจัยคาดว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25-0.50%) อย่างไรก็ดียังคาดว่าจะไม่มีการใช้มาตรการรุนแรงใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้าหรือมาตรการกันสำรอง 30% ซึ่งเคยสร้างความเสียหายอย่างมากเมื่อปี 2549
***FSS แนะเก็บแบงก์-วัสดุก่อสร้าง-อสังหาฯ -รับเหมา-ค้าปลีก
บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่าเงินทุนที่ไหลเข้าไม่ใช่สาเหตุของเงินบาทที่แข็งค่าเร็วในระยะนี้ เงินบาทที่แข็งค่าถึง 1.4% ในช่วง 3 วันที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับการขายหุ้นและ Futures ของต่างชาติ และการซื้อพันธบัตรเฉลี่ยเพียงวันละ 4 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้อย เนื่องจากโฟล์วที่ไหลเข้าในช่วงนี้ไม่ได้มากจนเป็นเหตุให้บาทแข็งค่าเร็ว จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นการเร่งทำธุรกรรมในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเองและการเร่งซื้อเงินบาทของผู้ส่งออกซึ่งน่าจะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว ประกอบกับเมื่อดูหุ้นกลุ่มที่ต่างชาติขายออกมาในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ยิ่งเชื่อว่าเป็นเพียงการปรับฐานของตลาดหุ้น เพื่อไปต่อ เพราะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถูกขายมากสุด แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยจะไม่แพงพีบีวีเฉลี่ย 1.7 เท่า แต่เป็นกลุ่มที่ต่างชาติซื้อมากสุดตั้งแต่ต้นปี กลุ่มที่ถูกขายมากรองลงมาคืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ราคาหุ้น Outperform ตลาดที่สุดในปีนี้ ถัดมาคือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะ SCC เพราะราคาหุ้น Outperform มาก +10% YTD และมีพีอีแพงถึง 20 เท่า จึงแนะนำให้รอตลาดฯ อ่อนตัวลงอีกและจะแนะนำทยอยสะสมหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (KBANK, KTB) วัสดุก่อสร้างขนาดเล็ก (DCON, TMT) บ้าน (PS, SIRI) รับเหมา (CK) ค้าปลีก (HMPRO, BIGC)
***ASP ระบุบาทแข็ง เพราะเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ 2.6 แสนลบ.
บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้และกำลังทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี เป็นผลจากเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้กว่า 2.6 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีแรงจูงใจจากส่วนต่างดอกเบี้ยที่สูง ( ดอกเบี้ยนโยบายของไทย 2.75% เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วต่ำมาก เช่น สหรัฐ 0.25% สหภาพยุโรป 0.5% และ ญี่ปุ่นเกือบ 0%) ซึ่งจะเห็นว่าสวนทางกับตลาดหุ้นไทย ที่ต่างชาติชะลอการซื้อในปลายไตรมาสแรกของปีนี้
ขณะที่บทบาทของนักลงทุนรายบุคคลในช่วงไตรมาสแรของปีมีอิทธพลต่อตลาดมากขึ้น สะท้อนจากที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 54% ในปี 2555 เป็น 63% ในงวดนี้ ขณะที่บทบาทของนักลงทุนสถาบันไทยไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ยกเว้นนักลงทุนต่างประเทศ มีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือ 19% เทียบกับ 25% ในปี 2555 อย่างไรก็ตามการที่ดัชนีตลาดหุ้นที่ซื้อขายระดับเคอร์เรนท์พีอี 18 เท่า หรือ ณ ดัชนีตลาดที่ 1,600 จุด น่าจะยืนอยู่ยาก จึงมีแนวโน้มจะลดลงมาอยู่ในระดับ 16 เท่า ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งเทียบเท่ากับดัชนีฯ ที่ 1,532 จุด (ในระหว่างไตรมาสน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,475-1,532) และน่าจะลดลงเหลือ 15 เท่า สิ้นปี 2556 หรือ ดัชนีฯ เป้าหมายที่ 1,596 จุด นั่นหมายว่าดัชนีฯ จะมีการปรับฐานในไตรมาส 2 แล้ว หลังจากนั้นน่าจะมีโอกาสฟื้นตัวอีกครั้งในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2556
***"โต้ง" แนะธปท.ดูแลใกล้ชิด หวั่นกระทบส่งออก-ท่องเที่ยว
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าแม้ค่าเงินบาทในปีนี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่แตะที่ 27 บาท/ดอลลาร์ แม้ว่าหลายฝ่ายจะมีการคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะหลุดระดับ 28 บาท/ดอลลาร์ หลังจากเริ่มมีสัญญาณการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากระบบกลไกทางเศรษฐกิจของประเทศจะมีการทำงานก่อน หากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าขึ้นย่อมกระทบต่อภาคการส่งออก และสิ่งที่จะตามมาคือการยกเลิกการจ้างงาน
" ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะต้องมีแนวทางเข้ามาดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่ามากเกินไปกว่านี้ เพราะหากปัญหาค่าเงินแข็งค่าจนมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจแล้วจะแก้ไขได้ลำบาก และจะมีผลกระทบในระยะยาว" นายกิตติรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้รัฐบาลเห็นว่าการกำหนดนโยบายร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับผู้ที่ดูแลนโยบายทางการเงิน ควรจะต้องดำเนินนโยบายก่อนที่จะเกิดผลกระทบหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากไปกว่านี้ ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงาน การส่งออก และการท่องเที่ยวของประเทศ
***KResearch ระบุบาทแข็งค่าทุบสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี หวั่นหลุด 29 บ./ดอลล์
ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด หรือ KResearch เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี สะท้อนภาพการแข่งขันที่ฉีกตัวออกจากภูมิภาค โดยล่าสุดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 5.2% มาอยู่ที่ระดับ 29.09 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าค่าเงินบาทจะมีโอกาสทดสอบ 29 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในเร็วๆ นี้ โดยเป็นผลจากปัจจัยทางจิตวิทยาภายหลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดแนวรับสำคัญที่ 29.40 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้มีแรงเก็งกำไรค่าเงินบาทจากการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ มองว่ามีโอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งค่า 28.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ในสิ้นปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มของค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าเป็นหลักจากปริมาณเงินในระบบที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยยังต้องอยู่ในสภาวะเงินร้อนไปอีกประมาณ 1 ปีจากนี้
" ค่าเงินบาทมีโอกาสทดสอบที่ระดับ 29 บาทเร็วๆ นี้ เพราะเป็นผลจากการที่นักลงทุนตื่นตกใจเมื่อมีแรงซื้อขายเงินบาทและดอลลาร์ออกมาจนหลุดแนวรับที่ 29.40 มาที่ 29.30 และมาที่ 29.10 จนกลายเป็นการแข็งค่าที่เร็วและแรงจนเกินไป สถานการณ์ตอนนี้มีปริมาณเงินจำนวนมากที่เกิดจากการดำเนินนโยบายซึ่งไทยยังต้องเจอสถานการณ์เงินร้อนไปอีก 1 ปีจากนี้ บาทยังเสี่ยงอัพไซด์แข็งค่า ขณะที่ทางการมีเครื่องมือที่จำกัดคงทำได้แค่บางจังหวะ ถ้าทำตลอดคงนำมาซึ่งการขาดทุนจำนวนมาก นโยบายดอกเบี้ยถ้ามองเรื่องดอกเบี้ยก็คงมีผล แต่ฟันด์โฟลว์มองจากอัตรากำไรเป็นหลัก ดอกเบี้ยคงมีผลน้อยลง เช่น เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาดอกเบี้ยคงไม่มีผลเลย เขามองแค่เก็งกำไรอย่างเดียว แต่การลดดอกเบี้ยจะยิ่งทำให้กดดันอสังหาฯ มากขึ้น และกดดันเศรษฐกิจไทยให้นำไปสู่ความท้าทายข้างหน้า ส่วนมาตรการทางภาษีคงถูกวิจารณ์ว่าเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ ประเทศไม่ควรประกาศมาตรการกีดกันเงินทุนออกมาจะทำก็ต่อเมื่อสามารถชี้แจงได้ว่าประเด็นนี้กระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก" นายเชาว์ กล่าว
***ค่าเงินบาทเฉลี่ยปีนี้คาดอยู่ที่ 29.50 บาทต่อดอลลาร์
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่าค่าเฉลี่ยเงินบาทในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะยังคงสอดคล้องกับสมมติฐานกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.8% และการส่งออกขยายตัว 10% ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าหากค่าเงินบาทแข็งค่าทุก 1% จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง 0.1-0.3% และกดดันการส่งออกประมาณ 0.6-1.1%
***วันนี้คาดค่าบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ
นักค้าเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท วานนี้ (21 มี.ค.56) ปิดตลาดที่ระดับ 29.21 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวจากที่เปิดตลาดในช่วงเช้า โดยค่าเงินบาทเริ่มทรงตัวในกรอบแคบๆ หลังตลาดรอดูความชัดเจนของทางการว่า จะมีมาตรการอะไรออกมาดูแลค่าเงินหรือไม่ โดยค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 29.10 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ระดับ 29.24 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับในวันนี้ คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.15-29.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยตลาดยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของทางการอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีมาตรการออกมาดูแลเงินบาทหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการขายทำกำไรของตลาดเงินบาทในต่างประเทศ (ออฟชอว์)บ้างแล้ว
"คงวิ่งในกรอบ 29.15-29.30 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจมีกลัวว่าทางการจะมีอะไรออกมาหรือไม่ ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการ Take Profit จากฝั่งอออฟชอว์ แต่คิดว่าคงแข็งค่าหรืออ่อนค่าไม่มากสำหรับวันพรุ่งนี้' นักค้าเงิน กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น