วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556

ค่าเงินบาท


ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ผมเพิ่งกลับจากการส่งลูกไปเรียนที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ  เวลาประมาณเกือบสองสัปดาห์ที่อาศัยอยู่ในอพารตเม้นท์ใจกลางลอนดอนที่ผมเช่าให้ลูกพักอาศัยนั้น  ผมพบประสบการณ์หลายอย่างที่อาจจะเป็นสัญญาณบอกว่าอังกฤษซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วอันดับต้น ๆ  ของโลกนั้น   น่าจะมีระดับการพัฒนาที่เสื่อมถอยลงเมื่อเทียบกับประเทศไทยที่กำลังพัฒนามากขึ้น  พูดง่าย ๆ   ความห่างระหว่างรายได้หรือระดับการพัฒนาของอังกฤษกับไทยตามสถิตินั้น  น่าจะลดลงในอนาคต  ว่าที่จริง  ผมเองคิดว่าตัวเลขสถิติความห่างชั้นในปัจจุบันเองนั้น  ก็อาจจะไม่ใช่  “ของจริง” ตามพื้นฐาน  แต่เป็นเรื่องของตัวเลขที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทกับค่าเงินปอนด์ที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง  ทำให้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจของอังกฤษเหนือกว่าของไทยมากมายกว่าสิบเท่า
เริ่มตั้งแต่การตรวจคนเข้าเมือง  ผมต้องใช้เวลาเข้าคิวรอก่อนที่จะผ่านการตรวจประมาณสองชั่วโมง  คิวนั้นยาวมากเป็นร้อย ๆ  คนแต่พนักงานตรวจมีน้อยและไม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากนัก   เปรียบเทียบกับการตรวจของสนามบินสุวรรณภูมิของเราแล้ว  ผมคิดว่าของเราเหนือกว่ามาก  การรอส่วนใหญ่ไม่น่าจะเกิน 15 นาที   จริงอยู่ที่สนามบินลอนดอนอาจจะมีป้ายบอกขออภัยในความล่าช้าเนื่องจากประเด็นเรื่องการก่อการร้าย  แต่ผมดูแล้วก็ไม่เห็นมีการตรวจสอบอะไรเป็นพิเศษที่จะทำให้เสียเวลาเพิ่ม  ดังนั้น  ข้อสรุปของผมก็คือ  ความประทับใจในเรื่องของประสิทธิภาพเสียไปตั้งแต่  “ก้าวแรก”
ห้องที่ผมเช่านั้น  ผมติดต่อไว้ตั้งแต่อยู่เมืองไทย  ราคาค่าเช่านั้นค่อนข้างสูง  ค่าเช่านั้นแพงพอ ๆ  กับค่าเล่าเรียน  สาเหตุอาจจะเป็นเพราะในลอนดอนไม่มีการอนุญาตสร้างตึกสูงทำให้ราคาอพารตเม้นท์แพงส่งผลให้ค่าเช่าแพงตามไปด้วย  ห้องที่ผมอยู่นั้นมีขนาดเล็กเช่นเดียวกับห้องเช่าทั่ว ๆ ไป  แต่ทุกอย่างออกแบบไว้อย่างมีประสิทธิภาพ  เตียงสามารถพับเก็บเข้าผนังได้  ห้องน้ำใหม่และสะอาด  ห้องครัวมีอุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็น  โต๊ะสำหรับนั่งทำงานไม่มี  นี่อาจจะเป็นวัฒนธรรมว่าเขาไม่ทำงานในห้องพัก  อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่ผมแปลกใจก็คือ  เราต้องติดต่อขอใช้บริการกับบริษัทที่ให้บริการน้ำ  ไฟฟ้า  และแก๊สเอง  ซึ่งมีหลายบริษัท  นอกจากนั้น  ผมเพิ่งทราบว่าถ้าเราจะดูทีวี  เราต้องขออนุญาต  และใบอนุญาตนั้นเราต้องเสียเงินเดือนละประมาณห้าร้อยบาท  ทั้งหมดนั้น  สำหรับผมแล้ว  มันเป็นความยุ่งยากโดยเฉพาะถ้าภาษาอังกฤษคุณไม่ดีพอในการติดต่อผ่านทางโทรศัพท์และทุกอย่างคุณต้องทำเอง
สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าอังกฤษอาจจะค่อย ๆ  ตกต่ำลงในแง่ของการเป็นประเทศชั้นนำมากที่สุดของโลกก็คือ  การที่ผมขอติดอินเตอร์เน็ตที่ห้องพัก  เพราะคำตอบที่ได้ก็คือ  จะต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์กว่าจะใช้การได้  ผมไม่ทราบว่าอะไรทำให้การขอใช้อินเตอร์เน็ตนั้นยุ่งยากนัก  แต่นี่คือเครื่องมือที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน  ผมเองคิดว่าถ้าประเทศพัฒนามาก ๆ  แล้ว  ห้องพักแทบทุกห้องน่าจะต้องมีอินเตอร์ติดอยู่เป็นพื้นฐานเหมือนกับน้ำ  ไฟฟ้า  หรือโทรศัพท์  อย่างไรก็ตาม  โชคดีที่ประเด็นนี้สามารถแก้ไขได้โดยการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตไร้สายแต่ก็ต้องจ่ายแพงกว่ามาก
การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมต้องทำ  ความสะดวกสบายนั้นผมคิดว่าเทียบกับธนาคารของไทยไม่ได้  ผมต้องรอประมาณครึ่งชั่วโมงเหตุเพราะพนักงานให้บริการมีน้อย   การเปิดบัญชีที่จะทำให้ผมสะดวกในการโอนเงินหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ  นั้น  ผมต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเดือนละไม่ต่ำกว่า 500 บาท  เปิดเสร็จแล้วเราต้องรออีกหลายวันกว่าจะได้บัตรเอทีเอ็ม  นอกจากนั้น  เครื่องเอทีเอ็มของแบ็งค์เท่าที่เห็นตามสถานที่ต่าง ๆ  นั้น  น้อยกว่าของไทยเรามาก และนี่คือแบ็งค์ชั้นนำในเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ผมมีโอกาสไปเที่ยวที่ตลาดขายของเก่าย่านน็อตติงแฮมในลอนดอนซึ่งผู้คนมากมายไปช็อปปิงในวันหยุด  วันนั้น  ลูกสาวผมถูกล้วงกระเป๋า  เงินสูญไปไม่มากนักแต่บัตรเครดิตที่หายทำให้ผมกังวล  ผมรีบโทรติดต่อกลับมาที่เมืองไทยเพื่ออายัดบัตร  ทุกอย่างทำได้อย่างรวดเร็ว  พนักงานของแบ็งค์ถามว่าจะให้ส่งบัตรไปที่ลอนดอนหรือส่งไปที่บ้านในกรุงเทพ  ผมเลือกอย่างหลังและได้รับบัตรเมื่อผมกลับมาที่เมืองไทยแล้ว  ผมคิดว่าธุรกิจ  บริการ  และความสามารถในการแข่งขันของแบ็งค์ไทยเรานั้นไม่เบาทีเดียว  และนี่อาจจะไปถึงธุรกิจอื่น ๆ  ด้วย
เป็นเรื่องปกติที่ผมจะต้องเดินห้างและหาร้านหนังสือโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ   ผมค่อนข้างผิดหวังที่พบว่าร้านหนังสือส่วนใหญ่ไม่ได้ขายหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจและการลงทุนโดยเฉพาะในเรื่องของหุ้นมากนัก  ดูเหมือนว่าร้านหนังสือใหญ่ ๆ ของไทยจะขายหนังสือแนวธุรกิจและการลงทุนมากกว่าร้านหนังสือในอังกฤษ  นี่แสดงให้เห็นถึงความ “คึกคัก”  ของความ “เป็นธุรกิจ”  ของไทยที่เหนือกว่าหรือไม่แพ้อังกฤษได้เหมือนกัน
นอกจากร้านค้าใหญ่โตหรูหราอย่างห้างแฮร็อดแล้ว  สิ่งที่น่าสนใจก็คือ  อังกฤษนั้นแทบไม่มีร้านสะดวกซื้อที่เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่เลย  ร้าน “โชห่วย”  ที่มีเต็มบ้านเต็มเมืองนั้นเป็นร้านแบบครอบครัวที่ส่วนใหญ่บริหารโดยคนที่มีเชื้อสายอื่นเช่นอินเดียเป็นต้น  ดังนั้น  คุณภาพจึงสู้ร้านสะดวกซื้อของไทยไม่ได้แม้ว่าสินค้าจะมีค่อนข้างครบเหมือนกัน
สิ่งที่อังกฤษดีกว่าไทยมากจริง ๆ  นั้นผมคิดว่าอยู่ที่ระบบการเดินทาง  ระบบรางทั้งที่เป็นรถไฟบนดิน  ใต้ดิน  และรถบัส  นั้น  ต้องเรียกว่า “สุดยอด”   เพราะเราสามารถซื้อตั๋วรายวัน  รายสัปดาห์  หรือรายเดือน ที่ใช้บริการได้ทุกอย่าง  ดังนั้น  จะไปที่ไหนก็สะดวกและรวดเร็วมากด้วยราคาที่ไม่แพง
ผมคงต้องจบประสบการณ์สั้น ๆ  จากอังกฤษด้วยการบอกว่า  สิ่งที่เป็นข้อด้อยที่ผมพบที่อังกฤษนั้น   ผมไม่ได้พบในประเทศย่านเอเซียที่เจริญแล้ว  หลายประเทศในเอเซียที่ผมไปนั้น  ประสิทธิภาพคล้าย ๆ หรือดีกว่าประเทศไทย  นี่อาจจะเป็นการบอกให้เรารู้ว่า  เอเซีย  ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นดีกว่าที่ตัวเลขรายได้ประชาชาติแสดงให้เห็นเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปและอนาคตก็น่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ   ดังนั้น  ค่าเงินบาทและค่าเงินของเอเซียที่แข็งค่าขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว  เพราะมันจะเป็นตัวบอกว่าเราไม่ได้จนและแย่กว่าประเทศพัฒนาแล้วมากขนาดนั้น  และดังนั้น  คนที่ “โวย” และต้องการให้เงินบาทอ่อนค่าลงจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผลกับพื้นฐานของประเทศและในระยะยาวแล้วก็คงจะฝืนไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น