วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

เอเชียกรีนรุกโรงไฟฟ้าชีวมวล


"เอเชียกรีน" เล็งควบรวม "เอเชีย ไบโอแมส" ผงาดธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล 100 เมกะวัตต์ เชื่อแนวโน้มแอดเดอร์ขยับเพิ่ม หลังกระทรวงพลังงานสนับสนุน ฟาก "พนม" เผยเซ็นสัญญาออร์เดอร์ขายถ่านหินอินเดียแล้ว
พนม ควรสถาพรพนม ควรสถาพรเตรียมส่งล็อตแรก 5-6 หมื่นตัน ส่วนยอดส่งออกจีนยังฉลุย หนุนรายได้จากต่างประเทศปีนี้โตเท่าตัว ตั้งเป้าโกยทั้งปีทะลุ 6 พันล้าน วางแผน 5 ปี ทุ่ม 1 หมื่นล้าน กว้านซื้อเหมืองถ่านหินอินโดฯ
    แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น ล่าสุดบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เตรียมจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้เศษไม้ กะลาปาล์ม และแกลบ เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 10 แห่ง ขนาด 10 เมกะวัตต์ต่อแห่ง รวมกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงประมาณ 1 หมื่นตันต่อเดือน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อแห่ง รวมมูลค่าลงทุน 6-7 พันล้านบาท
    "การลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว จะเริ่มเห็นความชัดเจนภายในปี 2556 โดยบริษัท เอเชียกรีนฯ เตรียมควบรวมกับบริษัท เอเชีย ไบโอแมส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปัจจุบันดำเนินธุรกิจจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวล อาทิ เศษไม้ กะลาปาล์ม และแกลบ โดยมีรายได้รวมกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี จากนั้นจะจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลต่อไป"
    ด้านนายพนม ควรสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียกรีนฯกล่าวว่า บริษัทสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากเห็นว่ากระทรวงพลังงานสนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มขึ้น ขณะที่ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(แอดเดอร์) จากชีวมวล ปัจจุบันอยู่ที่ 30 สตางค์ต่อหน่วย และอาจมีการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นได้ยาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยต้องพึ่งพาการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้ามากถึง 70%
    ขณะเดียวกันบริษัทในเครือดำเนินธุรกิจจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอยู่แล้ว โดยส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ทำให้มีปริมาณเชื้อเพลิงเพียงพออย่างแน่นอน ตามแผนคาดว่าจะเห็นโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกของบริษัทได้ภายในปีนี้ ส่วนที่เหลือจะทยอยก่อสร้าง ซึ่งแต่ละแห่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี
    "ล่าสุดบริษัทได้เซ็นสัญญาส่งออกถ่านหินไปประเทศอินเดียแล้ว โดยล็อตแรกจะส่งออกภายในไตรมาส 2 ปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นตัน และจะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกถ่านหินไปจีน ยังคงเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยจีนมีความต้องการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้ามากถึง 3 พันล้านตันต่อปี เทียบกับประเทศไทยอยู่ที่ 10 ล้านตันต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ขณะที่อินเดียก็มีความต้องการถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเป็นที่ยอมรับแล้วทั่วโลก โดยมีปริมาณซัลเฟอร์ไม่ถึง 1%
    อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้ไว้ที่ 6 พันล้านบาท โดยมาจากยอดขายจากต่างประเทศ 2 พันล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้กว่า 1 พันล้านบาท หรือเติบโตเกือบเท่าตัว ส่วนรายได้ในประเทศอยู่ที่ 4 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้กว่า 3 พันล้านบาท หรือเติบโต 10%
    ส่วนแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2556-2560) บริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี หรืออาจมากกว่านี้หากมีกิจการที่บริษัท สนใจจะซื้อ อาทิ เหมืองถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันบริษัทศึกษาเพื่อเข้าซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังเตรียมลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,832 วันที่  4 - 6  เมษายน พ.ศ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น