ตลาดหุ้นไทยทรุดแรง 4 วันทำการ ดิ่ง 122 จุด มาร์เก็ตแคปวูบ 1.01 ล้านล้านบาท ขณะที่วอลุ่มซื้อขายทะลุ 1 แสนล้านบาท ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้านโบรกเกอร์ทำนายหุ้นไทยสัปดาห์นี้ร่วงต่อให้แนวรับ 1,450 จุด แนวต้าน 1,500 จุด พร้อมมองตลาดฯเป็นลบไปอีกอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ด้านผู้จัดการตลท.แนะอย่าตื่นตระหนกทิ้งหุ้น ชี้เป็นแค่แรงเทขายทำกำไรหลังดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน ระบุเป็นโอกาสของนักลงทุนระยะยาวสะสมหุ้นราคาถูก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นไทยตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-22 มี.ค. 56) ปรับตัวลดลงอย่างหนัก เพราะถูกกดันจากแรงเทขายทำกำไร และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการออกมาตรการป้องกันค่าเงินบาทแข็ง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของไซปรัส โดยนับตั้งแต่วันที่ 19-22 มี.ค.56 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงรวมกันถึง 122.03 จุด หรือ 7.68% โดยเฉพาะในวันที่ 22 มี.ค. ดัชนีปรับตัวลดลงภายในวันเดียว 50.55 จุด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายในวันดังกล่าวพุ่งสูงถึง 101,361.60 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) นอกจากนี้ภายในสัปดาห์เดียวมูลค่าตลาดรวม(มาร์เก็ตแคป)ยังลดลงถึง 1.01 ล้านล้านบาท
*สมาคมบล.คาดฟอร์ซเซลถล่มหุ้นไทย
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์(สมาคมบล.) เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่าสาเหตุที่ดัชนีฯ ปรับลดลงแรงเพราะคาดว่านักลงทุนถูกบังคับขาย ( force sell ) หลังจากที่ผ่านมาดัชนีฯ ปรับขึ้นสูงมากแล้วและนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับมาตรการดูแลค่าเงินบาท รวมทั้งยังเป็นการขายเพื่อทำกำไร ขณะเดียวกันยังได้รับปัจจัยลบจากวิกฤตการณ์ด้านการเงินของไซปรัสอีกด้วย
' เพราะใกล้จะเข้าเทศกาลหยุดยาวของทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนต้องการจะล้างพอร์ต พอมีคนขายหุ้นออกมา ก็มีคนขายตาม อีกทั้งยังมีเรื่องของ ปปช. ที่จะเข้ามาตรวจสอบกรณีที่นายกปล่อยกู้ให้สามีตัวเอง อีกทั้ง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แม้จะผ่านครม. แล้ว ก็ไม่ช่วยทำให้ตลาดหุ้นบวกมาก อีกทั้งช่วงนี้นักลงทุนยังขายทำกำไรอีกด้วย ' นางภัทธีรา กล่าว
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ขายทำกำไรในหุ้นขนาดเล็กที่มีการเล่นเก็งกำไรโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ สำหรับหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีนักลงทุนยังสามารถถือต่อได้
* 'จรัมพร' ชี้แค่แรงขายทำกำไร
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า คาดว่าสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก น่าจะเกิดจากการขายทำกำไรของนักลงทุนไทยหลังจากที่ซื้อหุ้นมาในต้นทุนที่ต่ำจากปีก่อน จนมาถึงต้นปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นไปเกือบ 50% จึงน่าจะเป็นโอกาสในการขายทำกำไรตามปกติของนักลงทุน เพราะขณะนี้ยังไม่พบว่ามีข่าวหรือประเด็นใหม่ที่จะเข้ามากระทบต่อภาวะตลาดหุ้น นอกเหนือจากประเด็นการขายทำกำไรดังกล่าว
' มองว่าเป็นการขายทำกำไร คาดว่าคนไทยคงขายกันเอง ยังไม่เห็นจะมีเรื่องอื่น ส่วนจะขายหนักหรือไม่หนักแล้วแต่ต้นทุน เพราะคงกำไรกันมากแล้วตั้งแต่ปลายปี 55 และยิ่งใครที่ซื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็ขึ้นมาเกือบ 50% ก็เป็นจังหวะที่จะขาย ' นายจรัมพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการที่ตลาดฯ ติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ยังไม่พบสัญญานการบังคับขายหุ้น (force sell ) และยืนยันว่าการปรับเพิ่มวงเงินประกันในบัญชีเงินสดจาก 15% เป็น 20% รวมถึงการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้โบรกเกอร์ ปฎิบัติตามกฎหมายใหม่ของ ปปง. นั้นไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนเช่นกัน
ทั้งนี้ ตลาดฯ ได้มีการจับตาดูความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นต่อเนื่อง หากดัชนีมีการปรับลดลงถึง 5% ตลาดฯ จะต้องมีการรายงานให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และ ก.ล.ต.รับทราบ อย่างไรก็ตาม อยากฝากเรื่องนี้ให้นักลงทุนได้คิดเป็นอุทาหรณ์ว่าเหรียญมี 2 ด้าน นักลงทุนที่เข้ามาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาก็จะพบแต่เหรียญด้านเดียว ครั้งนี้ก็จะเป็นโจทย์ให้นักลงทุนได้กลับไปศึกษา เพราะอนาคตก็ต้องเจอแบบนี้อีกแน่นอน
* มองพื้นฐานยังไม่เปลี่ยน เป็นจังหวะซื้อหุ้นถูกลงทุนยาว
นายจรัมพร เปิดเผยว่า แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลงแต่เชื่อว่าโดยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงมองว่าการลดลงของดัชนีฯในช่วงนี้เป็นโอกาสของนักลงทุนระยะยาวที่กำลังมองหาหุ้นเพื่อถือลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ ยังเหมาะกับผู้ที่สนใจจะซื้อกองทุน LTF ในจังหวะดังกล่าว
' คิดว่านักลงทุนไม่ควรตกใจ หรือแตกตื่นกับเรื่องตลาดหุ้นที่ลดลง เพราะลดลงมาแค่ประมาณ 6% นับจากที่ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 1,600 จุด แต่ถ้าเทียบกับปีที่แล้วหุ้นไทยขึ้นมาตลอดเกือบ 50% ก็เลยถึงจังหวะที่จะต้องขายทำกำไร นอกจากนี้สถานการณ์ที่ตลาดหุ้นปรับลดลงมาติดกันหลายวันก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดเพราะเมื่อปี 2554 ที่มีข่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆออกมาหุ้นก็เคยปรับลดลงมาถึงระดับนี้ได้เช่นกัน' นายจรัมพร กล่าว
* เตือนอย่าตื่นตระหนก-อย่าเชื่อข่าวลือ ชี้ต่างชาติยังเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย
นายจรัมพร เปิดเผยว่า ตลท. ขอให้นักลงทุนใช้วิจารณญาณในการลงทุนและไม่ควรตื่นตระหนักกับดัชนีฯที่ลดลง เนื่องจากมองว่าเป็นช่วงที่นักลงทุนในประเทศเริ่มขายทำกำไร หลังจากที่ดัชนีฯได้ปรับเพิ่มขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับเป็นช่วงใกล้เทศกาลวันหยุดยาว ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะขายเพื่อปรับพอร์ต อย่างไรก็ตามยืนยันว่าพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยยังมีความแข็งแกร่งและนักลงทุนต่างชาติยังมั่นใจในพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยอยู่ แม้จะมีกระแสข่าวด้านลบเกี่ยวกับเรื่องค่าเงินก็ตาม
"ขอให้นักลงทุนติดตามบทวิเคราะห์และใช้วิจารณญาณก่อนที่จะลงทุน ซึ่งที่ผ่านมามีหลายข่าวที่ไม่มีความเป็นจริง อย่างเช่น เรื่องมาตรการค่าเงินบาท คนที่กลัวน่าจะเป็นนักลงทุนต่างชาติ แต่เขากลับไม่ห่วง และยังลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อ ดังนั้นนักลงทุนจึงไม่ควรตื่นตระหนกตกใจ" นายจรัมพร กล่าว
อย่างไรก็ตามมองว่ากรณีที่ปริมาณการซื้อขายในวันนี้สูงเกิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 38 ปี ไม่ใช่การเก็งกำไรของนักลงทุน แต่เป็นการซื้อขายเพื่อปรับพอร์ตให้เหมาะสมของนักลงทุนในประเทศเอง ทั้งนี้เชื่อว่าจากสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในวันนี้จะทำให้นักลงทุนเริ่มคิดพิจารณาแนวทางการลงทุนใหม่ และควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี
*กูรู ทำนายหุ้นไทยสัปดาห์นี้ร่วงต่อ ให้แนวรับ 1,450 จุด แนวต้าน 1,500 จุด
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเชียพลัส เปิดเผยว่า แนวโน้มของดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะยังคงปรับตัวลดลง และอาจดีดกลับขึ้นมาในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากความไม่แน่นอนในการแก้ไขปัญหาทางการเงินในไซปรัส รวมถึงปัจจัยกดดันจากค่าเงินบาทที่ยังกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน ประกอบกับยังไม่มีปัจจัยบวกใดที่จะส่งผลให้ดัชนีฯสามารถกลับมายืนในแดนบวกได้
กลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้ขาย โดยประเมินแนวรับที่ 1,450 จุด และแนวต้านที่ 1,500 จุด
นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กดดันให้ไซปรัสต้องระดมทุนให้เพียงพอภายในวันจันทร์นี้ (25 มี.ค.56 )มิเช่นนั้น ECB จะตัดความช่วยเหลือทางการเงิน สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนอีกทั้งรายงานตัวเลข PMI ภาคอุตสาหกรรมและการบริการเบื้องต้นลดลงจากเดิมที่ 47.9 เป็น 46.5 กดดันตลาดหุ้นโดยเฉพาะที่ยุโรป ในด้านของค่าเงินบาทปัจจุบันอยู่ที่ 29.22 บาท/เหรียญสหรัฐ และรองนายกฯ กิตติรัตน์มั่นใจว่าค่าเงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นไปถึง 27 บาท/ดอลล์
"มองดัชนีฯ ยังแกว่งตัวลงต่อ ภาพรวมการลงทุนช่วงนี้เป็นลบอีกอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า แนะนำขายลดพอร์ตต่อ และถือเงินสดมากขึ้น หุ้นปันผลอ่อนตัวน่ารับ เพราะมีอัตราผลตอบแทนที่แน่นอนรออยู่ในช่วง 1 เดือนข้างหน้า
บทวิเคราะห์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ระบุว่า ตลาดฯ ยังมีโอกาสอ่อนหรือผันผวนต่อ เนื่องจากวิตกกับปัญหาของไซปรัส โดยล่าสุด ECB ยื่นคำขาดที่จะยุติความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องกับไซปรัสในวันจันทร์นี้ นอกจากนี้ ยังกังวลกับข่าวการปรับเพิ่มการวางหลักประกันในบัญชีเงินสด (Cash Account) จาก 15% เป็น 20% ของโบรกเกอร์ (ซึ่งจะมีการประชุมสรุปเรื่องนี้วันที่ 26 มี.ค.56), ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมือง และเงินบาทแข็งค่า โดยประเมินว่าทางการไทยอาจมีมาตรการดูแลเงินบาทเพิ่มเติมในไม่ช้านี้ ซึ่งส่วนนี้ทำให้นักลงทุนต่างชาติบางกลุ่มชะลอการลงทุนในตลาดไทยไปก่อน อย่างไรก็ดี เราคาดว่ามาตรการจะไม่รุนแรงและกระทบกับตลาดหุ้นไม่มาก
* "กิตติรัตน์" ชี้ ตลาดฯแค่ปรับฐาน ยันพื้นฐานเศรษฐกิจไม่เปลี่ยน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรงในช่วงที่ผ่านมาว่า ถือเป็นการปรับฐานเพื่อทำกำไรในระยะสั้นของนักลงทุน หลังจากที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ฉะนั้น จึงไม่ได้เป็นประเด็นที่ต้องกังวลมากนัก
"เมื่อใดก็ตามที่มีอะไรมาสะกิดใจ แม้ไม่ได้เป็นประเด็นหรือมีปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง การเทขายเพื่อทำกำไรจะเกิดขึ้นทันที หลังจากที่ราคาหุ้นได้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อถึงจุดหนึ่งของการวิเคราะห์ทางเทคนิค นักลงทุนก็พอใจที่จะเทขาย เพื่อทำกำไรระยะสั้น ฉะนั้น จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องตระหนก"
* ผู้ว่า ธปท.แจงหุ้นร่วง ไม่เกี่ยวกระแสทุนเคลื่อนย้าย
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยว่า การปรับลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไม่เกี่ยวกับเงินที่มาจากต่างประเทศ เพราะการซื้อขายในเช้าวันนี้นักลงทุนต่างประเทศยังซื้อสุทธิอยู่ แปลว่าคนที่ขายสุทธิต้องเป็นนักลงทุนไทย เพราะเท่าที่ดูตัวเลขเงินทุนเคลื่อนเมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าเงินทุนจากต่างประเทศไม่ได้เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เท่าใดนัก ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตลาดพันธบัตร
"ภาวะของตลาดหุ้นในช่วง 2-3 วันนี้ ที่หลายฝ่ายมองว่านักลงทุนกังวลถึงมาตรการของธปท. ที่มาดูแลค่าเงินบาทนั้นคงไม่ใช่ โดยมองว่าภาวะที่เกิดขึ้นมาจากการปรับตัวของตลาดหุ้นที่ดัชนีพุ่งขึ้นมาเร็วและแรง เป็นลักษณะการปรับฐานของตลาดหุ้น อย่างที่ได้มีเคยเตือนกันก่อนหน้าว่านักลงทุนก็ต้องระวังในหุ้นบางตัวที่มีราคากระโดดมากผิดปกติ และการที่หุ้นปรับลดลงก็เป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค” นายประสารกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น