ชื่อ:  408018_235906769882422_85707019_n.jpg
ครั้ง: 1974
ขนาด:  58.9 กิโลไบต์



มูลค่าเพิ่มจากไฮสปีดเทรน - พิเชษฐ์ ณ นคร

--------------------------------------------------------------------------------

การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28-29 มี.ค ที่ผ่านมา เป็นประเด็นฮอตที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านลบและบวก

แม้หลายฝ่ายจะมองในทิศทางเดียวกันว่า หากทำสำเร็จ นอกจากจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศแล้ว ยังพลิกโฉมการเดินทางและการขนส่งสู่มิติใหม่

ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั้งประเทศครั้งใหญ่ แต่ส่วนใหญ่เป็นห่วงเกี่ยวกับภาระหนี้ก้อนโตที่จะตกทอดถึงรุ่นลูกหลาน ขณะเดียวกัน หากการบริหารจัดการโครงการไม่มีประสิทธิภาพ จะเกิดปัญหารั่วไหล มีการทุจริตคอร์รัปชั่นตามมาเพื่อผ่อนคลายจากเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส ขอถ่ายทอดข้อมูลจากการฉายภาพความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หากผลักดันโครงการมูลค่า 2 ล้านล้าน โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน 4 สายทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ได้สำเร็จ แม้บางโครงการอาจถูกตัดตอนเหลือแค่เฟสแรก อย่างกรุงเทพฯ, นครราชสีมา, พัทยา และหัวหิน

นอกเหนือจากประโยชน์ทางตรงคือความสะดวกสบาย และประหยัดเวลาในการเดินทางและการขนส่งแล้ว มูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นในทางอ้อม ทั้งในส่วนของการส่งเสริม

การท่องเที่ยว สร้างตลาดใหม่ในการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับการสร้างช่องทางใหม่ๆ ในการขายสินค้าและบริการ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สินค้า OTOP รวมทั้งการเติบโตของเมืองหรือชุมชนตามแนวเส้นทาง

โดยร้านค้าต้นแบบ OTOP Store และ Thai Pinto โมเดลต้นแบบในการพัฒนาอาหารกล่องสำหรับรับประทานระหว่างเดินทางบนรถไฟ กำลังถูกออกแบบโดยพัฒนาจากอาหารประจำท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ เพื่อนำมาขายในสถานีไฮสปีดเทรน ทั้งหมดนี้นำต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้กลางปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ส่งทีมงานไปดูงานเกี่ยวกับการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มจากไฮสปีดเทรนในญี่ปุ่น

พบว่าบริษัท JR East Tokyo และ JR Kyushu ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น มีกลยุทธ์สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้จากสถานีรถไฟ โดยนำแนวคิด Transit Oriented Development ของสหรัฐอเมริกามาปรับพัฒนากลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนโตเกียว จนสามารถสร้างรายได้และกลายเป็นธุรกิจหลักของบริษัทจนถึงปัจจุบัน

ญี่ปุ่นแบ่งการประกอบกิจการเป็น 8 กลุ่มกิจการ ได้แก่
1) ร้านค้าย่อยและภัตตาคาร 2,000 ร้านค้า
2) อาคารสำนักงาน 22 แห่ง
3) การพัฒนาพื้นที่ในสถานีรถไฟเป็นโซนๆ
4) ฟิตเนสและคลับ 16 แห่ง
5) ศูนย์การค้า 144 แห่ง
6) ธุรกิจโฆษณา
7) ธุรกิจโรงแรม 44 แห่ง 6,400 ห้อง
8) ธุรกิจพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟ

ที่น่าสนใจคือในส่วนของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำมาพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขายในสถานีรถไฟและไฮสปีดเทรนนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทรถไฟร่วมกันส่งเสริมสนับสนุน โดยพัฒนามาจากสินค้าในท้องถิ่นที่อยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟ ลักษณะคล้ายสินค้า OTOP ของไทย

ขณะเดียวกัน การพัฒนาบริการต่างๆ ในสถานีรถไฟส่วนใหญ่เป็นการนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์มาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุตกแต่งภายในบริเวณตู้โดยสาร สถานี รวมพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ของใช้รูปแบบใหม่ๆ จำหน่ายให้กับผู้ใช้บริการตลอดจนนักท่องเที่ยวสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ในส่วนของไทยนั้นขอเพียงรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นและเกิดประโยชน์ในระยะยาว และจะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า เมกะโปรเจ็กต์ก็น่าจะแจ้งเกิดสำเร็จ การสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการก็จะมีตามมา


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
THE HEKONOMIST