วันพุธที่ 10 เมษายน 2556 เวลา 16:12:49 น.
ผู้เข้าชม : 294 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ราคาหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ยังคงแกร่งส่วนกระแสการแข็งค่าของเงินบาท โดยล่าสุด ณ เวลา 15.56 น. ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หลังจากช่วงเช้าแข็งค่าขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 28.86 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ล่าสุดอยู่ที่ 36.75 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 1.38% ระหว่างวันขึ้นไปสูงสุดที่ 37.50 บาท บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI อยู่ที่ 4.34 บาท บวก 0.02 บาท หรือ 0.46%
ส่วนบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 25.25 บาท บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE อยู่ที่ 15.10 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน มีเพียงบริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT ที่อ่อนตัวลง 2.07% มาอยู่ที่ระดับ 9.45 บาท ด้านบริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CCET อยู่ที่ 3.28 บาท ลดลง 1.2%
เมื่อพิจารณาจากราคาหุ้นในเดือนมี.ค. เปรียบเทียบกับเดือนเม.ย. แล้ว ราคาหุ้น SVI SMT CCET และ KCE อ่อนตัวลงค่อนข้างแรงกว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกัน หลังจากในเดือนก.พ. มีแรงเก็งกำไรเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วน HANA และ DELTA ราคาค่อยๆ ทยอยขึ้นค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้ว่าจากผลการวิเคราะห์บริษัทที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากค่าบาทแข็งมากที่สุด คือ HANA ก็ตาม
โดยล่าสุดราคาหุ้น SVI ซื้อขายที่ระดับ P/E ที่ 6.81 เท่าและ P/BV ที่ 3.37 เท่า SMT ขายที่ระดับ P/E ที่ 5.48 เท่าและ P/BV ที่ 2.28 เท่า CCET ขายที่ระดับ P/E ที่ 11.29 เท่าและ P/BV ที่ 0.89 เท่า KCE ขายที่ระดับ P/E ที่ 9.77 เท่าและ P/BV ที่ 2.27 เท่า HANA ขายที่ระดับ P/E ที่ 12.24 เท่าและ P/BV ที่ 1.36 เท่า DELTA ขายที่ระดับ P/E ที่ 10.40 เท่าและ P/BV ที่ 2.01 เท่า
บล.เกียรตินาคินระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (10 เม.ย.) ว่า วานนี้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าในรอบ 16 ปี แตะ 28.95 บาทต่อดอดลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ ธปท. ระบุ ค่าเงินบาทมีระดับการแข็งค่าที่ค่อนข้างเร็ว โดยมีสาเหตุบางส่วนจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นผ่อนคลายมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อีกทั้งน่าจะเป็นผลจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนเพื่อชำระค่าจองซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรธ (BTSGIF)
ทั้งนี้ ผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะกดดันอัตรากำไรขั้นต้นของหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดย.HANA กระทบมากสุด ค่าเงินบาทแข็งเป็นปัจจัยกดดันยอดขายสกุลเงินบาท และอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทกลุ่มนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่มียอดขายสกุลดอลลาร์เกือบ 100% ขณะที่โครงสร้างรายได้และต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นสกุลดอลลาร์ (Natural Hedge) จะช่วยลดผลกระทบได้บางส่วน
หากประเมินผลกระทบค่าเงินบาทแข็งต่อบริษัทกลุ่มนี้ 4 แห่งที่ศึกษา (DELTA, HANA, KCE และ SVI) พบว่า HANA จะถูกกระทบมากสุด เนื่องจากมีสัดส่วนนำเข้าวัตถุดิบสกุลดอลลาร์ต่ำสุด 60-65% รองลงมาคือ KCE มีสัดส่วนวัตถุดิบสกุลดอลลาร์ราว 70% ขณะที่ DELTA และ SVI มีสัดส่วนนำเข้าวัตถุดิบใกล้เคียงกันราว 80-90% เราประเมินทุก 1 บาท จะกระทบกำไรของ HANA และ KCE ลดลงประมาณ 10% และ 7% ตามลำดับ ส่วน DELTA และ SVI จะมีผลกระทบต่อกำไรลดลงประมาณ 5-6%
อยู่ระหว่างทบทวนค่าเงินบาทในประมาณการปี 2556-2557 เราอยู่ระหว่างทบทวนสมมติฐานค่าเงินบาทที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในประมาณการปี 2556-2557 ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ของบล.ภัทร (House View) ที่ประเมินค่าเงินบาทต่อดลลาร์สหรัฐปีนี้ที่ 28 บาท และ 27 บาทในปี 2557 ในเบื้องต้นการปรับสมมติฐานค่าเงินบาทปีนี้เป็น 28 บาทจาก 30 บาท จะส่งผลให้กำไรของบริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 4 บริษัทที่ศึกษาลดลงเฉลี่ย 6% จากประมาณการ
วันนี้ (10 เม.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะทำงานกำกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าโดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงการแข็งค่าของเงินบาท พร้อมสั่งให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวางมาตรการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าค่าเงินบาท ขณะนี้แข็งค่าเร็วจนเกินไป ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการส่งออก จึงได้ขอความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ อาทิ การบริหารความเสี่ยง ขณะเดียวกันจะติดตามการไหลเข้าของเงินมีความผิดปกติหรือไม่
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ยังมีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายการเงิน พร้อมแนะผู้ประกอบการกู้เงินในประเทศมากกว่าภายนอกประเทศ ส่วนโครงการในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น จะกู้เงินในประเทศเป็นหลัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น