ลองนึกเท่าที่จำได้ ...
โดยใช้ตัวเลขดัชนีประมาณ 800-1300 จุด ช่วงก่อน Crisis นะครับ เพราะช่วง 1500-1700 จำได้ว่าหุ้นวิ่งแบบไม่มีใครสนใจ P/E กันอยู่แล้ว
หุ้นสื่อสาร เป็นหุ้นที่ทุกคนยอมรับว่า P/E ต้องสูงมาก เพราะ Growth สูง ถ้าเป็น SHIN หรือ ADVANC P/E ก็ 30-40 เท่า แต่คนที่ลงทุนใน SHIN ADVANC ตอนนั้นถึงปัจจุบันก็ยังพอกำไร เพราะธุรกิจมือถือเติบโตได้จริง
ส่วนสื่อสารตัวอื่นๆ TT&T ตอนเข้าตลาดก็ประมาณ 150 บาท (ปัจจุบันยังพาร์เดิมอยู่คือ 10 บาท) ส่วน TA ก็ 100 กว่าบาทเหมือนกัน เมื่อไม่นานนี้ช่วงดอทคอมบูมคือปี 2543 TA หรือ TRUE ปัจจุบันก็เคยขึ้นจาก 10 กว่าบาทเป็น 70 กว่าบาท ปัจจุบันเหลือ 5 บาทกว่า ... ลงเหมือนแตกพาร์
ส่วน SAMART ราคา IPO 80 บาท ราคานอกตลาด 200 กว่า เทรดวันแรกประมาณ 450 ( พาร์ 10 ) ตอนนี้แตกพาร์เหลือ 1 ราคาหุ้นตอนนี้ก็ 8 บาท คนถือตอนนั้นก็ไม่เสียหายเท่าไหร่ ราคาหุ้นกลับมาที่ IPO พอดี
ส่วน JAS หรือ Jasmin Inter ราคาเทรดวันแรก 450 บาท ตอนเข้าตลาดมีโฆษณา TV เป็นฉากการประชุม มีผู้บริหาร ( ซึ่งเข้าใจว่าเป็นนักแสดง ) ประชุมแบบถกกันหน้าตาเคร่งเครียดแล้วประธานก็ทุบโต๊ะแล้วพูดว่า “โปรเจ็คต์นี้พลาดไม่ได้ เพราะผมหมายถึงชื่อเสียงของประเทศ” (Admin เกิดทัน ยังจำโฆษณานี้ได้ครับ) แล้วจบท้ายว่า Jasmin สยายปีกเทคโนโลยีสื่อสารไทย ฟังแล้วรู้สึกว่าอีกไปกี่ปีจากนี้ประเทศไทยต้องยิ่งใหญ่ในระดับโลกแน่ๆ เลยครับ
สมัยเมื่อสิบกว่าปีก่อน เขาว่ากันว่าในปี 2020 แม้บอลไทยจะชนะฝรั่งเศสไม่ได้ก็ตาม แต่ GDP ของเราจะโตแซงฝรั่งเศส!!!
ตอนนี้ราคาหุ้น JAS ก็อยู่ 1 บาทกว่า ผมเลยไม่แน่ใจว่าโปรเจ็คต์ที่หมายถึงตอนนั้นประมูลได้หรือเปล่า หรือเพราะประมูลได้จึงเป็นเช่น ณ ปัจจุบันนี้
ส่วนหุ้นอสังหาฯ ตอนนั้นจำได้ว่าในสายตานักลงทุนบ้านเรานั้น BLAND หรือ TYONG หรือที่เรียกกันว่า “ตี๋ย้ง” นั้นดูจะดังกว่า LH เสียอีกครับ P/E กลุ่มก็ประมาณ 20-50 เท่าเหมือนกัน
Story ของ TYONG ก็คือรถไฟฟ้า BTS ครับ ถ้าช่วง 2-3 ปีนี้หุ้น EVER ดัง เมื่อก่อนหุ้น RR ก็ดังประมาณนี้เหมือนกัน โดย RR เขาจะขึ้นลงตามหุ้นอีกตัวหนึ่งคือ FCI เพราะผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน จึงเรียกหุ้นคู่นี้กันว่า “คู่แฝดอภินิหาร” แต่ปัจจุบันคู่แฝดที่ว่านี้ไม่อยู่แล้ว เข้าใจว่าตัวหนึ่งหายไปก่อน อีกตัวเลยตรอมใจตามไป (555 – Admin)
หุ้นหลายตัวตอน IPO นั้น เฟื่องขนาดมีงบโฆษณาเข้าตลาด แม้กระทั่งหุ้นอสังหาฯ อย่าง CNTRY หรือ บริษัท คันทรีประเทศไทย ก็โฆษณาเป็นเพลงเพราะเชียว คือใช้เพลง Sailing เป็นภาพเรือใบล่องโต้คลื่นในทะเล ผมจำได้ว่า หุ้นหลุดจองตั้งแต่วันแรก เลยเพิ่งตีความภายหลังว่าในเพลงที่ร้องว่า I ‘m sailing นั้นมันคือ I’m selling เสียมากกว่า (555 เหมือนถูกเช็คอายุ Admin จำโฆษณานี้ได้ครับ :p)
หุ้น CNTRY นั้น หายไปปรับโครงสร้างหนี้อยู่นานก่อนกลับมาในชื่อใหม่ว่า EVER หมายถึง “ เคย ” อยู่ในตลาดหุ้นมาก่อนนั่นเอง (คุณ คเชนทร์ มุกเยอะจริง ^^)
อสังหาฯ ตอนนั้นนโยบายบัญชี คือ “รับรู้รายได้เมื่อจอง” คือลูกค้าเอาเงินมาจอง 5 หมื่นบาท ยังไม่ทันสร้างอะไรก็เริ่มรับรู้รายได้กันแล้ว ตอนนั้นหลายๆ บริษัทเปิดจองโครงการใหม่ พอเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าทิ้งเงินจองเงินดาวน์ แต่รับรู้รายได้ไปแล้วเสียเยอะเลย เราจึงเห็นหุ้นอสังหาฯ บางตัวตอนปี 39-40 มีรายได้เป็นเครื่องหมายลบ ดังนั้น มาตรฐานทางบัญชีใหม่ที่บอกว่าวิธีรับรู้ตาม % ของงานนั้นไม่ Conservative ให้เปลี่ยนเป็นรับรู้เมื่อโอนทั้งหมด ถ้าย้อนไปดูสมัยก่อนแล้วจะตกใจยิ่งกว่าครับ
สมัยนั้น อสังหาฯ บูมขนาดที่เจ้าของโครงการเอาเงินไปมัดจำที่ดินจะสร้างตึกแถว สถาปนิกเพิ่งเขียนแบบร่างเสร็จ ก็ขายหมดแล้วครับ พอขายหมดก็อาจจะโดนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงต่อว่า ว่ามีของดีแบบนี้ทำไมไม่บอก
LPN หรือ PS ที่ว่าขายดีเทน้ำเทท่า เปิดวันแรกจอง 100% ผมว่าจำนวน Unit ตอนนั้นต้องสู้โครงการแฟล็ตปลาทองกระรัตไม่ได้ครับ ตอนนั้นเป็นโฆษณาเพลง โดยใช้นักแสดงตลกชื่อดังๆมาร้องเพลงโฆษณา “ดาวน์ก็น้อยผ่อนนิดโอนสิทธิ์โฉนดเอาไปเลยง่ายดาย ย้า ยา ยา หย่า ยา จะไปจะไปใกล้หมด สะดวกมีรถเมล์ผ่าน มีสระว่ายน้ำและมีสวนหย่อมปลาทองมีพร้อมทุกสิ่ง” เพลงนี้เด็กอนุบาลยังจำไปร้องกันได้เลยครับ ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่าแฟล็ตปลาทองที่ว่านั้นอยู่ส่วนไหนของประเทศไทยเลยครับ แต่ได้ยินว่าสร้างเสร็จจนได้ครับ (Admin ร้องเพลงแฟล็ตปลาทองได้ครับ ^^)
ถ้าจะไม่พูดถึงเลยคงไม่ได้คือ “หุ้นไฟแนนซ์” เป็นสุดยอดหุ้น Blue Chip สมัยนั้นไม่ว่าจะเป็น FIN1 DS CMIC NFS P/E ก็ 30-50 เท่าตลอด และคงไม่มีใครที่เล่นหุ้นช่วงนั้นจะไม่เคยมีหุ้น Finance เหล่านี้อยู่ในพอร์ต อย่างน้อยต้องมีไม่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ดังนั้นใครที่ท่องหลักการว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ขอให้ดูประวัติศาสตร์ด้วยครับ
สมัยนั้น หุ้น Fin1 นั้นกลุ่มเขามีหลายตัว ถ้าเป็นหลักทรัพย์ก็มี Fin1 S-one FAS ซึ่งถือหุ้นโดย ONE ซึ่งอยู่กลุ่มสิ่งทอ ทำเหมือนเป็น Holding Company หุ้นกลุ่มนี้ติด top Active อยู่เป็นประจำต่อเนื่อง ถ้าไม่ล้มไปก่อนไม่ทราบจะเหมือน Berkshire Hathaway ได้หรือเปล่า ช่วงสักปี 37-38 ก็เล่นข่าวกันว่า Fin1 จะ Take Over ธนาคาร ไทยทนุ แล้วยกระดับเป็นธนาคาร แต่ตอนปี 39 เริ่มมีปัญหา ก็มีข่าวว่าธนาคาร ไทยทนุ จะไปช่วยเหลือ Fin1 กลับตาลปัตรภายในเวลาอันรวดเร็ว
หุ้นธนาคารช่วงนั้นเหมือนโดนรัศมีหุ้น Finance กลบไปเยอะครับ หุ้นธนาคารที่เหมือนจะ Hot สุดคงจะหนีไม่พ้น BBC หรือ ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ ถ้าตอนนี้หุ้นแขกเป็นที่นิยม ตอนนั้นเขาก็เล่นหุ้นแขกเหมือนกัน แต่แขกที่ว่านั้นคือ ราเกซ สักเสนา ครับ แต่ใครถือหุ้นแขกก็อย่าตกใจไป มันคงจะต่างกันครับ หุ้นธนาคารเล็กๆ หลายแห่ง เช่น BMB LTB นครธน สหธนาคาร ไทยทนุ IFCT ปัจจุบันถูกลดทุนเหลือ 1 สตางค์ ไปรวมกับอะไรต่ออะไรไปเสียหมดแล้ว ที่จริงสัญลักษณ์ของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการนั้นคือ “สตางค์แดง” เขาเลยเรียกว่าแบงค์สตางค์แดง
เหมือนคนคิดสัญลักษณ์นั้นมี Six Sense ว่าท้ายสุดแล้วมันจะเหลือ 1 สตางค์จริงๆ ครับ (555 – Admin)
เรื่องเพิ่มทุนของหุ้นในตลาดทำกันเป็นว่าเล่น ตอนนั้นไม่ต้องเพิ่มทุนบวกวอร์แรนท์ให้เมื่อย แค่ประกาศเพิ่มทุนหุ้นก็วิ่งทั้งก่อนและหลังประกาศแล้ว XR เสร็จหุ้นก็วิ่งต่อ ยิ่งอัตราเพิ่มทุน “สวย” เท่าไรหุ้นยิ่งวิ่งแรง
คำว่า “สวย” สมัยนั้นกับสมัยนี้ไม่เหมือนกัน แน่นอนครับ สวยสมัยนั้นต้องประมาณ 1: 2 หรือ 1: 3 ผมไม่ได้เขียนสลับนะครับ 1 หุ้นเดิมต่อ 3 หุ้นใหม่ ถ้าขืนเพิ่มแบบเขียมๆ อย่างปัจจุบันประเภท 2: 1 หรือ 3: 1 หุ้นไม่วิ่งหรอกครับ ยุคสมัยเปลี่ยนไป คำว่า “สวย” ก็เปลี่ยนไป ผมดูภาพวาด Impressionist ของยุโรปสมัยศตวรรษที่ 18 ผู้หญิงสวยของเขาต้องอ้วนหน่อย มีพุง สมัยนี้ต้องผอมบาง ถ้าไปอยู่ยุคอดีตเขาคงคิดว่าเป็นโรค ดังนั้น “เวลาเปลี่ยน อะไรๆ ก็เปลี่ยน” ผู้หญิงคนไหนที่ตัวใหญ่หน่อยก็มองโลกในแง่ดีไว้ครับ ... เราเกิดช้าไปแค่ 200 ปีเอง (555 – Admin)
ดังนั้นสมัยนี้ หุ้น P/E เกิน 10 บางตัวว่าค่อนข้างแพง P/E เกิน 20 คือ แพงมาก เกิน 30 แพงอย่างไร้เหตุผล ถ้าเป็นเมื่อปี 253x ผมเห็นหุ้น P/E เกิน 30 อยู่น่าจะเกินครึ่งหนึ่งของตลาดครับ
ผมเริ่มแก่แล้วล่ะครับ
คเชนทร์ เบญจกุล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น