DELTA ฟื้นตัว 5.7% ราคาเกินพื้นฐาน ฉวยจังหวะบาทแข็งซื้อเครื่องจักรใหม่
วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2556 เวลา 15:15:11 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ล่าสุด ณ เวลา 14.54 น. อยู่ที่ 37.00 บาท บวก 2 บาท หรือ 5.71% มูลค่าการซื้อขาย 80.40 ล้านบาท ทั้งนี้ ราคาหุ้น DELTA อ่อนตัวลงต่อเนื่องจากระดับราคา 40.25 บาท มาแตะที่ระดับ 34 บาท และเริ่มดีดตัวขึ้นเป็นวันที่ 2 โดยล่าสุด DELTA ซื้อขายที่ระดับ P/E ที่ 10.04 เท่าและ P/BV ที่ 1.94 เท่า ขณะที่ข้อมูลจาก www.settrade.com ระบุว่า บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จำนวน 1 แห่ง แนะนำ “ขาย” DELTA อีก 1 แห่ง แนะนำ “ถือ” โดยให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 28.45 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาในกระดานในขณะนี้

นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ภายใต้สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าได้ถือเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัท เนื่องจากในปีนี้ได้กำหนดงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้สั่งซื้อเครื่องจักรรองรับแผนการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม ดังนั้น เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาจะส่งผลให้ DELTA มีต้นทุนการสั่งซื้อเครื่องจักรลดลงไปตามกลไกของค่าเงิน พร้อมกับถือเป็นโอกาสดีในการเข้าสั่งซื้อเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น และยังสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานหรือลดต้นทุนจากการจ้างแรงงานที่มีค่าแรงขั้นต่ำต่อวันสูงกว่าในอดีต

บริษัทตั้งเป้าหมายอัตรากำไรจากการดำเนินงานปี 56 มีแนวโน้มเติบโตสองหลัก โดยมีปัจจัยผลักดันมาจากจำนวนออเดอร์งานของลูกค้าที่ได้รับคำสั่งซื้อเข้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาวะเศรษฐกิจในโซนยุโรปเริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัวและกำลังเริ่มทยอยฟื้นขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้าของ DELTA ที่มีความต้องการสูง ได้แก่กลุ่มData center power supply ที่จะเติบโตไปตามอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และกลุ่มพลังงานทดแทนที่บริษัทขายสินค้าอย่าง Solar inverter

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ว่า ในกรณีทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่ามีผลต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้ 1) บริษัทที่คาดว่าจะมีผลกำไรปรับลดลงมากที่สุด คือ HANA เพราะรายได้อยู่ในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้ง 100% แต่ต้นทุนเป็นสกุลต่างประเทศราว 80% โดยไม่มีภาระหนี้สิน (ทั้งบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ) จึงทำให้ผลกระทบต่อกำไรสุทธิจะลดลงราว 3.4% จากเดิม 2) บริษัทที่ได้รับผลกระทบรองลงมา เรียงจากมากไปหาน้อย คือ DELTA, CCET, KCE และ SMT โดยฐานรายได้อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศทั้งหมด (ส่วนใหญ่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ) ยกเว้น CCET ที่มีรายได้จากสกุลเงินบาท 35% ของรายได้รวม ขณะที่ต้นทุนเป็นสกุลต่างประเทศราว 80%-90% และยังมีภาระหนี้สินต่างประเทศบางส่วน เมื่อเทียบกับหนี้สินรวม จึงช่วยหักล้างผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าได้บ้าง โดยผลกระทบต่อกำไรสุทธิจะลดลงเท่ากับ 3.3%, 3%, 2.9%, 2.8% จากเดิม ตามลำดับ และ 3) บริษัทที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในกลุ่มฯ คือ SVI แม้ว่าฐานรายได้อยู่ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศทั้งหมด (90% เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนที่เหลือเป็นสกุลเงินยูโร) แต่ต้นทุนเป็นสกุลต่างประเทศในสัดส่วนใกล้เคียง 90% และยังมีหนี้สินต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 100% ของหนี้สินรวม จึงช่วยลดผลกระทบจากเงินบาทไปได้ค่อนข้างมาก โดยผลกระทบต่อกำไรสุทธิจะลดลงเพียง 2.6% ซึ่งน้อยที่สุดในกลุ่มฯ (ดังแสดงในตารางหน้าถัดไป)

ฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักการลงทุน เท่ากับตลาดในกลุ่มชิ้นส่วนฯ ด้วยปัจจัยบวกของการฟื้นตัวของธุรกิจชิ้นส่วนฯ ในประเทศไทย โดยเลือก SVI เป็น Top pick ของกลุ่มฯ เนื่องจากบริษัทฯ ได้ฟื้นฟูกำลังการผลิตทั้งหมดจนใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติน้ำท่วมแล้ว บวกกับการขยายตลาดใหม่ๆ โดยเน้นต่อยอดฐานรายได้เฉพาะกลุ่มสินค้า Margin สูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไรขั้นต้นสูงขึ้น และหนุนให้การเติบโตเฉลี่ยของผลการดำเนินงานในปี 2556-57 เป็นไปในเชิงรุก 37% p.a. ซึ่งหักล้างจากผลกระทบเชิงลบจากเงินแข็งค่าไปได้ทั้งหมด

ที่มา ข่าวหุ้น