20-3-2012
วงการประสานเสียง หุ้นไทยแค่ปรับฐานระยะสั้นทางด้านจิตวิทยา หลังทดสอบแนวต้าน 1,600 จุด จึงมีแรงขายทำกำไร ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยไม่เปลี่ยน ส่วนเงินบาทแข็งค่าเพราะต่างชาติไหลเงินเข้าลงทุนบอนด์ระยะยาว เชื่อแบงก์ชาติไม่ออกมาตรการดูแลบาท แนะช่วงที่ตลาดแพนิกควรหาจังหวะช้อปปิ้งของถูก ก่อนที่จะหลุดแนวรับ 1,530 จุดอาจเป็นขาลงแล้ว แนะเก็บกลุ่มไอซีที เช่น TRUE - INTUCH
ภาพรวมตลาดหุ้นไทยวานนี้ ยังร่วงลงติดกันเป็นวันที่ 2 หลังตลาดหวั่นวิตกว่าแบงก์ชาติจะออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท เพราะเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 16 ปีติดกัน 2 วันทำการและเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยนับจากสิ้นปีก่อนถึงวานนี้แข็งค่าขึ้นแล้วราว 5% ขณะที่ดัชนีฯ วานนี้ร่วงลงต่ำสุด 33.98 จุด แตะที่ระดับ 1,534.27 จุด ก่อนจะรีบาวน์ในช่วงท้ายตลาดขึ้นมา ปิดลบ 24.58 จุด หรือปิดที่ 1,543.67 จุด ลดลง 1.57% ด้วยมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 83,656.86 ล้านบาท ขณะที่ต่างชาติขายสุทธิ 3.2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อรวม 1-19 มีนาคม 2556 ต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นไทย 8.89 พันล้านบาท
*** ชี้หากหลุดแนวรับ 1,530 จุด ตลาดเป็นขาลง ช่วงนี้ควรเก็บของเข้าพอร์ต
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ eFinanceThai.comว่า ขณะนี้ภาพรวมของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยเริ่มน่ากังวลมากขึ้น เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามามีผลกระทบในเชิงลบกับบรรยากาศการลงทุน แต่เชื่อว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการลดลงของตลาดหุ้นไทยมากที่สุด น่าจะเป็นแรงขายทำกำไรของนักลงทุนประเภทรายย่อย สังเกตได้จากหุ้นในกลุ่ม SET50 ที่ไม่ได้ปรับตัวลงมากนัก แต่กลับเป็นหุ้นขนาดกลางและเล็กที่ปรับลดลง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ส่วนประเด็นอื่นที่กดดันตลาด น่าจะเป็นเรื่องความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการที่จะออกมาดูแลค่าเงินบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หลังจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่าตลาดฯ จะเป็นทิศทางขาลงแล้วหรือไม่ เพราะต้องติดตามว่าดัชนีฯ จะปรับตัวลดลงหลุดแนวรับสำคัญที่ 1,530 จุดหรือไม่ ซึ่งหากดัชนีฯ หลุดระดับแนวรับสำคัญดังกล่าวแล้ว ก็เชื่อได้ว่าภาวะตลาดฯ จะเป็นขาลงอย่างชัดเจน
สำหรับกลยุทธ์ในการลงทุน ในภาวะตลาดหุ้นเป็นเช่นนี้นักลงทุนควรถือหรือหาจังหวะเข้าซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี อาทิ หุ้นกลุ่มไอซีที ได้แก่ TRUE INTUCH เป็นต้น
' กรณีที่ดัชนีฯได้ปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดเดิม 5% ถือว่าการปรับลดลงอยู่ในภาวะปกติ โดยระดับสูงสุดเดิมของดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ราว 1,600 จุด และหากลดลง 5% ก็จะอยู่ที่ 1,530 จุด ซึ่งรอบนี้ถือว่าเป็นแนวรับที่สำคัญมากเพราะหากหลุดแนวรับดังกล่าวแล้วก็มีโอกาสที่จะลงไปลึก แต่ก็ยังไม่สามารถคาดได้ว่าตอนนี้เป็นขาลงแล้วหรือยังเพราะต้องรอดูความชัดเจนอีกซักระยะหนึ่ง'นายสุกิจ กล่าว
ด้านนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด (บลจ.บัวหลวง) เปิดเผยกับ eFinanceThai.comว่า คาดว่าสาเหตุที่ภาพรวมดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ปรับตัวลดลงในช่วงนี้ ในเบื้องต้นคงมาจากประเด็นความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ว่าจะมีออกมาหรือไม่ แต่เชื่อว่าโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะประกาศใช้มาตรการในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก หรืออาจไม่ใช้เลย
นอกจากนี้ น่าจะเป็นประเด็นความกังวลฟองสบู่ของหุ้นที่มีคุณภาพไม่ดีแต่ราคาได้ปรับตัวขึ้นสูงทำให้จึงเป็นโอกาสที่นักลงทุนในประเทศหาจังหวะขายหุ้นเพื่อทำกำไร
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังพบว่านักลงทุนต่างชาติก็ยังไม่ได้นำเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยมากนักเพราะสะท้อนได้จากหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มธนาคาร พลังงาน และอาหาร ราคาหุ้นก็ไม่ได้ปรับตัวลงแบบผิดปกติและก็มีแรงซื้อเข้ามาบ้าง ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้น เช่นเหตุวางระเบิด ก็เชื่อว่านักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นในช่วงนี้จะได้หุ้นที่ราคาถูก ส่วนประเด็นความกังวลเรื่องไซปรัสมองว่าไม่ได้มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง ซึ่งเป็นปัญหาของทางประเทศในแถบยุโรปมากกว่า
พร้อมกันนี้ อยากแนะนำให้นักลงทุนศึกษาหุ้นที่จะเข้าไปลงทุนก่อนซึ่งหากนักลงทุนถือหุ้นที่ตนไม่รู้จักก็อย่าเข้าไปลงทุนเพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ผิดปกติขึ้นจะได้ไม่ตื่นตระหนกตกใจ ส่วนนักเก็งกำไรก็ให้ระมัดระวังเพราะตลาดมีทั้งผู้เข้ามาซื้อขายแบบลงทุนจริงและไม่จริง
ทั้งนี้ ถ้าหากเป็นนักลงทุนระยะกลางและยาวก็ไม่ต้องมีความกังวล เนื่องจากเชื่อว่าแนวโน้มในอีก 10 ปีข้างหน้าหุ้นในเอเชียจะมีเงินเข้ามาลงทุนเป็นอย่างมากเพราะมีอัตราการเติบโตที่มากหากเทียบกับชาติตะวันตกที่มีอัตราการเติบโตเพียง 6% เท่านั้น ดังนั้นจึงอยากให้นักลงทุนเข้าไปสะสมหุ้นที่มีพื้นฐานดีและราคาไม่สูงจนเกินไป
' ต่างชาติยังไม่ได้นำเงินแห่ออกจากตลาดหุ้นไทยเพราะมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นใหญ่อย่างธนาคาร พลังงานและอาหาร เพราะก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ผิดปกติในบ้านเมือง อย่างเช่นวางระเบิด ทำให้เชื่อว่าหุ้นลงช่วงนี้คนมีโอกาสจะได้ซื้อของที่ถูกลง'นางวรวรรณ กล่าว
*** ผู้จัดการกองทุนมองการอ่อนตัวของตลาดหุ้นช่วงนี้ เป็นจังหวะทยอยซื้อสะสม
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า ในภาวะตลาดช่วงนี้ กองทุนหุ้นของบริษัทได้ปรับลดพอร์ตการลงทุนบ้าง หลังพบว่ามูลค่าหุ้นหลายบริษัทได้ปรับขึ้นมากค่อนข้างมากแล้ว อย่างไรก็ตาม มองว่า ด้วยแนวโน้มของความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้น ประกอบกับเงินทุนจากต่างชาติยังไหลเข้ามาในไทย เชื่อว่า จะส่งผลให้ภาพรวมของตลาดหุ้นไทย
ยังมีทิศทางที่สดใส
นายวิน กล่าวว่า ในกรณีปกติ ประเมินว่าหุ้นไทยน่าจะปรับฐานอย่างมากมาอยู่ที่ 1,450 จุด เว้นเสียแต่ว่ามีกรณีเลวร้าย เช่น วิกฤตยุโรปรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ดัชนีฯ หลุดลงไปที่แนวรับ 1,200 จุดได้
" ดังนั้น หากยังไม่มีสัญญาณว่ายุโรปจะเลวร้ายลง หรือมีช็อกอื่นๆ เข้ามาในตลาด มองว่าการอ่อนตัวลงของตลาดหุ้นในช่วงนี้ น่าจะเป็น จังหวะให้นักลงทุนเข้ามาทยอยซื้อสะสมได้ " นายวิน ระบุ
ด้านนายสุรสีห์ จงไชโย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานลงทุน บลจ. ฟินันซ่า เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นปรับลดลงแค่ปรับฐานเท่านั้น หลังจากปรับขึ้นมาค่อนข้างมาก รวมถึงหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ปรับขึ้นมาจนราคาเริ่มแพง ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ ประกอบกับเงินทุนไหลเข้ามาสะท้อนจากเงินบาทที่ยังแข็งค่า ยังช่วยสนับสนุนให้ตลาดไม่ร่วงลงไปมากกว่านี้ จึงประเมินว่า การปรับฐานรอบนี้น่าจะอยู่ที่ 1,520 จุด นอกเสียจากว่า มีมาตรการเซอไพรซ์ตลาด เช่น การออกมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน ตลาดอาจร่วงราว 10%
*** 'เสี่ยป๋อง' คาดปีนี้ลุ้นจุดสูงสุดใหม่ 1,789 จุด
นายวัชระ แก้วสว่าง(เสี่ยป๋อง) นักลงทุนรายใหญ่ เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ที่ปรับตัวลดลงมาเกิดจากการขายทำกำไรตามปกติของนักลงทุน หลังจากก่อนหน้านี้ตลาดฯ ปรับขึ้นมาจาก 1,250 จุดจนมาแตะที่ระดับ 1,600 จุดโดยที่ไม่ได้พักฐาน ดังนั้น รอบนี้จึงคาดว่าเป็นการปรับฐานของตลาด และน่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะปัจจัยทางพื้นฐานเศรษฐกิจไทยไม่ได้เปลี่ยน เงินทุนยังไหลเข้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดี และบริษัทจดทะเบียนมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ แนะนำให้นักลงทุนปรับลดพอร์ตการลงทุน หรือโยกกลุ่มลงทุนโดยเน้นหุ้นที่มีพื้นฐานดีเพราะสังเกตว่าหุ้นที่พื้นฐานที่ดีราคาก็ไม่ได้ปรับตัวลดลง โดยกลุ่มที่น่าสนใจ ได้แก่ หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เช่น กลุ่มธนาคาร รับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มที่ทำการค้ากับผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งในปีนี้รัฐบาลจะสนับสนุนการลงทุนในประเทศเป็นจำนวนสูงมากทำให้เศรษฐกิจของไทยก็จะขยายตัวตามไปด้วย และแนวโน้มต่อไปเงินลงทุนจากต่างประเทศก็จะไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นเพราะเล็งเห็นศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
นายวัชระ กล่าวต่อว่า กรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศที่กำลังมีปัญหาอย่างประเทศสหรัฐฯและยุโรปที่ใช้นโยบายผลิตเงินออกมาเป็นจำนวนมากทำให้ไทยเป็นแหล่งที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุน เพื่อหาส่วนต่างผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า
สำหรับสาเหตุหลัก ที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรงเมื่อวานนี้ เนื่องจากมีคนในวงการโบรกเกอร์ ปล่อยข่าวลือว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะมีการประชุมด่วน เพื่อออกมาตรการสกัดการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ทำให้นักลงทุนรายใหญ่บางรายรวมถึงรายย่อยมีการเทขายหุ้นออกมา
' นักลงทุนรายใดมีกำไรมากแล้ว ก็เร่งขายออกมามากวานนี้ จากความตื่นตระหนกกับประเด็นดังกล่าวประกอบกับทางโบรกเกอร์ได้ปรับลดพอร์ตของนักลงทุนที่ปล่อยมาร์จิ้นให้ แต่ไม่ใช่เป็นการบังคับขาย (Force Sell) แต่เป็นเพียงการจำกัดเงินทุนในการปล่อยมาร์จิ้นของโบรกเกอร์เท่านั้น หลังจากเงินทุนที่ปล่อยมาร์จิ้นให้กับนักลงทุนเกือบจะเต็มเพดานแล้ว 'นายวัชระ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่า การปรับลดลงของตลาดหุ้นไทยรอบนี้ เชื่อว่า เมื่อตลาดหายตื่นตระหนก ก็น่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ค่อนข้างเร็วและแรง โดยปีนี้มีความมั่นใจในระดับ 80% ว่าดัชนีฯ จะขึ้นไปทำระดับสูงสุดใหม่ และยังคงเป้าหมายเดิมว่าหุ้นไทยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าจะถึง 2,500-2,900 จุด หากตลาดรับข่าวร้ายจากทางยุโรปไปจนหมดแล้วภายใน 3-5 ปี ส่วนปีนี้ คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นไปทำระดับสูงสุดรอบใหม่จากระดับสูงสุดเดิมที่ 1,789 จุด
*** กูรูคาดวันนี้ร่วงต่อ
นายทวีรัชต์ มัททวีวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในวันนี้ คาดว่า ดัชนีฯ จะผันผวน และจะมีแรงขายทำกำไรออกมาในระยะนี้ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังมีข่าวลือว่าพรรคเพื่อไทยอาจมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และกาศประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนช่วงไตรมาส 1/2556 ในสัปดาห์หน้า
โดยกลยุทธ์การลงทุน แนะนำนักลงทุนควรเล่นสั้น หากดัชนีฯอยู่เหนือบริเวณ 1,500 จุด สามารถถือต่อได้ และหากดัชนีฯหลุด 1,500 จุด จะมีโอกาสเป็นขาลง นักลงทุนควรขายเพื่อปรับลดพอร์ต
ทั้งนี้ ประเมินแนวรับไว้ที่ 1,500 จุด และประเมินแนวต้านแรกไว้ที่ 1,550 จุด แนวต้านถัดไปไว้ที่ 1,570 จุด
*** "ประสาร" ชี้บาทแข็งเพราะตลาดแพนิก จึงเร่งทำธุรกรรม
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทอย่างราดเร็วในรอบนี้ ไม่ใช่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินไหลเข้าอย่างรุนแรงจนผิดปกติ แต่มองว่าอาจเป็นการเข้ามาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น หลังนักลงทุนคาดการณ์ทิศทางค่าเงินว่ามีแนวโน้มแข็งค่า ส่วนจะมีการเก็งกำไรหรือไม่นั้น เชื่อว่าเป็นธรรมดาของการลงทุนที่ต้องหวังกำไร
' 2 วันนี้การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้านราคาเร็วไปสัดนิด แต่ Flow ไม่ได้รุนแรงมากขึ้น ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ แต่คนถ้าเขาอยากซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน เขาอยากมา ก็เป็นเรื่องราคาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ' นายประสาร กล่าว
*** ชี้ต่างชาติขนเงินลงทุนบอนด์ระยะยาว
อย่างไรก็ดี การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จะลงในตลาดตราสารหนี้มากกว่าตลาดหุ้น และเป็นการเข้ามาในพันธบัตรระยะยาว เนื่องจากต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุนพันธบัตรระยาวจากประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรระยะยาวในระดับสูงที่ 30-40% ขณะที่ไทยมีเพียง 5-6% เท่านั้น ทำให้สภาพคล่องและความเสี่ยงในการลงทุนมีต่ำกว่า ซึ่งภายหลังจากการเข้ามาเพิ่มสัดส่วน ทำให้ขณะนี้พันธบัตรไทยมีสัดส่วนการถือครองของต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 12-13% แต่ยังถือว่าไม่ผิดปกติ ทั้งนี้ การที่นักลงทุนต่างชาติเลือกเข้ามาลงทุนในไทย เกิดปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งมองว่ามีทิศทางที่ดี
' ก็รายงานไปว่ามีต่างประเทศเข้ามาลงทุน แต่ก็ไม่ได้มากเป็นพิเศษ และลงในตราสารหนี้มากกว่ามากกว่าตลาดหุ้น ส่วนตราสารหนี้ที่เข้ามานั้นเป็นพันธบัตรระยะยาว ลงทุนจากพื้นฐานเศรษฐกิจของเรา ซึ่งเวลานี้มีพื้นฐานที่ค่อนข้างดี แต่หลายประเทศในภูมิภาคมีความไม่แน่นอนทางการลงทุน เขาก็อยากมาหาทางลงทุนในประเทศอื่นๆ พันธบัตรระยะยาวของเรามีสัดส่วนต่างชาติค่อนข้างต่ำ เทียบกับเพื่อนบ้าน มาเลเซีย 30% อินโดนีเซีย 40% โดยธรรมชาติเมื่อนักลงทุนเข้าลงทุนในพันธบัตรในประเทศใดแล้ว หากเขาต้องการสภาพคล่อง เขาจะทำได้เร็วขนาดไหนเพราะต้องไปแย่งขายกับอีก 30-40% แต่ก่อนหน้านี้เราแค่ 5-6% ตอนนี้ 12-13% สภาพคล่องก็ดีกว่า' นายประสาร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประสาร ปฏิเสธที่จะตอบข้อซักถามในประเด็นว่าจะมีการออกมาตราการดูแลค่าเงินบาทหรือไม่ หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 29.14 บาท อย่างไรก็ดี ยอมรับเพียงว่า ค่าเงินบาทแข็งค่ามากและรวดเร็วเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้น มองว่าไมได้เกี่ยวข้องกับ ธปท.
'การเคลื่อนไหวเร็วและมากไปสักนิด ตลาดหุ้นที่ลงไม่เกี่ยวกับเรา' นายประสาร กล่าว
*** ครม.ศก.เห็นฟ้องไม่ใช้มาตรการพิเศษสกัดบาทแข็ง หวั่นส่งผลเสียในระยะยาว
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ)วานนี้ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษมาแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า และไม่ต้องการให้ใช้มาตรการที่ผิดธรรมชาติเหมือนในอดีต เพราะจะส่งผลเสียในระยะยาว โดยเห็นว่าควรจะปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดไปก่อน แล้วคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากแข็งขึ้นมากกว่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ยอมรับว่า มีความกังวลกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นความกังวลต่อเนื่องมาตั้งแต่ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว ซึ่งยืนยันว่าไม่เคยเสนอให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่าธรรมชาติ แต่มองว่าอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้สูงเกินธรรมชาติ จึงควรปรับลดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดย ธปท.ไม่ควรมองว่าข้อเสนอแนะของรัฐเป็นการแทรกแซงทางการเมือง
ส่วนกรณีดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรงนั้น ไม่ได้เกิดจากกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ 2 ล้านล้านบาท แต่อาจจะเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศมากกว่า ส่วนการดูแลตลาดทุนไทยไม่ให้เกิดการกำไรระยะสั้นนั้น เชื่อว่ามาตรการในการดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ประกอบกับการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐจะส่งผลดีให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในระยะยาวมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น