‘คลัง’ดันรถไฟฟ้าทุกสาย
การเงินการคลัง วันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ผู้เข้าชม : 48 คน
คลังเร่งผลักดันรสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา รวมทั้งท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ท่าเรือสงขลา เข้าพรบ. เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ กฎหมายPPP เริ่มกันยายนนี้ ลดกู้เงินเพิ่ม
นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่าพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมาย PPP หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.56 จากนี้จะต้องออกกฎหมายลูกอีก 16 ฉบับ เช่น ประกาศกระทรวงการคลัง การตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน จากฝ่ายต่างๆ
ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทำหน้าวางนโยบายการลงทุนและคัดเลือกว่าโครงการใดเข้าข่าย PPP โดยต้องทำการแต่ตั้งให้เสร็จภายใน 120 วัน
สำหรับการออกประกาศเกี่ยวกับการกำหนดมูลค่าการลงทุน ว่าการลงทุนประเภทใด จำนวนเงินลงทุนเท่าใด จึงเข้าข่ายอยู่ใน พ.ร.บ.PPP โดยจะต้องทำการศึกษาแนวทางของต่างประเทศมาปรับใช้ให้มีมาตรฐานสากล เพราะมีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาแล้วหลายประเทศ
และเมื่อนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้จะทำให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของไทยคืบหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะได้แก้ไขจุดบกพร่องใน พรบ.ร่วมทุนเดิมไปหมดแล้ว ดังนั้นคาดว่าจะเริ่มใช้ได้หลังเดือนกันยายน และใช้กับทั้งโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท และโครงการป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะทำให้โครงการลงทุนดังกล่าวสร้างแล้วเสร็จได้ทันตามกำหนด
โดยโครงการที่เข้าข่ายใช้ใน PPP เช่น การสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆในกรุงเทพฯและปริมณฑล การสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ท่าเรือสงขลา แม้จะเป็นโครงการลงทุนในการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารจัดการ แต่จะไม่ให้กระทบต่อค่าบริการกับประชาชน เพราะจะมีคณะกรรมการจากภาครัฐควบคุมดูแลไม่ให้ค่าโดยสารหรือค่าบริการสูงจนประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อน แต่จะมีการวัดให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนได้รับผลตอบแทนในส่วนที่คุ้มการลงทุนด้วยเช่นกัน
ในการดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะไม่มีการโยกงบประมาณไปดำเนินโครงการอื่นนอกเหนือจากโครงการที่ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยขณะนี้จะอยู่ระหว่างการแปรญัตติ ซึ่งอาจมีการยกเลิกบางโครงการได้ตามความเหมาะสม ส่วนโครงการใดที่ดำเนินการแล้วพบว่าไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็จะไม่กู้เงิน หรือบางโครงการที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบของ PPP ก็จะไม่กู้เงินในส่วนนั้น และการประกวดราคาจะเน้นวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีออคชั่น แต่บางโครงการเช่นโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาแบบนานาชาติ ก็คงดำเนินการต่อไป
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่อภิปรายกันมากถึงเส้นทางไปภาคเหนือยาวถึงเชียงใหม่ ขณะที่เส้นทางไปยังภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แผนมีถึงหนองคาย แต่ของบก่อสร้างแค่นครราชสีมา ขณะที่ภาคใต้แผนมีถึงปาดังเบซาร์ แต่ของบก่อสร้างแค่หัวหินนั้น จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าปริมาณผู้โดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีเป็นจำนวนมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น