ITD ทุ่ม 9 พันลบ.เดินเครื่องนิคมฯทวาย
ITD ประเดิมทุ่มเงินลงทุน 9 พันล้านบาท วางโครงสร้างพื้นฐานนิคมฯทวายในพม่า ก่อนจัดตั้ง SPV เพื่อระดมทุนก้อนใหญ่พัฒนาทั้งโครงการ มูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาท ขณะที่สัปดาห์หน้าเตรียมเซ็นเอ็มโอยูร่วมทุนกับผู้จัดจำหน่ายก๊าซแอลเอ็นจีรายใหญ่สุดของโลก เพื่อส่งก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าในโครงการ ด้านโบรกเกอร์ฟันธง โครงการนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนอนาคตของ ITD แนะลุยซื้อให้ราคาเป้าหมาย 8.61 บาทต่อหุ้น
แม้จะเป็นหุ้นที่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)สั่งให้ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด(แคช บาลานซ์) แต่ราคาหุ้นของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง รับข่าว ความคืบหน้าการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยหากนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมี.ค.เป็นต้นมา ราคาหุ้น ITD ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้ว 1.05 บาท หรือ 16.53% ขณะที่วานนี้ ITD ปิดการซื้อขายที่ระดับ 7.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หรือ 2.07% มีมูลค่าการซื้อขาย 577.96 ล้านบาท
*** ทุ่มงบ 9 พันลบ. เดินเครื่อง"ทวาย"
นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหาร บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียมงบลงทุนประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9 พันล้านบาท )ซึ่งเป็นการกู้เงินจากธนาคารต่างๆ เพื่อนำไปใช้ลงทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แบ่งเป็นเงินลงทุนในโครงการท่าเรือ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เขื่อน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่พักอาศัย 200 ไร่ มูลค่า 4-5 พันล้านบาท และโครงการในนิคม 4-5 พันล้านบาท โดยคาดว่างบลงทุนดังกล่าวจะครอบคลุมการลงทุนจนกว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลรายย่อย (SPCs) ทั้ง 8 บริษัท และนิติบุคคลเฉพาะกิจ(SPV)
สำหรับขั้นตอนภายหลังจากการลงทุนดังกล่าว บริษัทจะแปลงเงินลงทุนทั้งจำนวนเป็นเงินลงทุนใน SPCs ทั้ง 8 บริษัท ตามที่คณะทำงานและอนุกรรมการ 6 ชุด ไทย-พม่า ที่ได้ข้อตกลงร่วมกันที่จะระดมทุนและขับเคลื่อนโครงการผ่าน SPV ซึ่งจะเป็นโฮลดิ้งคอมพานี และมีการจัดตั้งนิติบุคคลรายย่อย หรือ SPCs แยกสำหรับแต่ละส่วนทั้ง 8 โครงการ ได้แก่ ท่าเรือ ถนน ระบบไฟฟ้า น้ำ ระบบราง นิคมอุตสาหกรรม ไอที และทาวน์ชิด โดย ITD ซึ่งเป็นผู้ถือสัมปทานเดิมของทวายจะเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนเข้าถือหุ้นในแต่ละบริษัทอย่างต่ำ 25%
นายเปรมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนในทวาย จากการให้บริษัททวายดีเวล็อปเมนต์ จำกัด หรือ DDC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ITD เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการมาเป็นโฮลดิ้งคอมพานี โดยมีแกนหลัก คือ หน่วยงานของรัฐบาลไทยและพม่าจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่โครงการ รวมถึงสร้างโอกาสที่จะมีนักลงทุนแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในโครงการนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้โครงการทวายเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
"งบลงทุนของทวายอยู่ที่ 300 ล้านเหรียญ จะใช้จนถึง SPCs เปิดเรียบร้อย และ ITD จะเป็นผู้ถือหุ้นใน SPCs เหล่านี้ เราอยากถือแต่ละบริษัทอย่างต่ำ 25% แต่จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเปล่ายังไม่รู้ เพราะรัฐบาลพม่าก็จะมีการระดมทุนจากผู้ที่สนใจเข้ามาถือใน SPCs เหล่านี้ โดยเงินที่ ITD ลงทุนไป 9 พันล้านบาท จะถูกแปลงเป็นทุนอยู่ในทั้ง 8 บริษัท แต่เขาก็ให้เราเลือกได้ว่าจะลงทุนเท่าไหร่ ถ้าขาดเหลือก็ใส่เงินเข้าไปได้ แต่ในระหว่างที่ SPV และ SPCs ยังไม่เสร็จ ITD ก็จะยังดำเนินการต่อไปภายใต้เฟรมเวิร์คเดิมจนกว่าทั้ง 8 บริษัทจะเพิ่มทุนเสร็จและถือหุ้นแล้ว ซึ่ง SPCs จะเข้ามาดำเนินการต่อไป ส่วนการระดมทุน แต่ละบริษัทจะเป็นผู้จัดหาเงินกู้เอง และตอนนี้รัฐบาลพม่าก็เข้ามาศึกษาจากข้อมูลเดิมที่เราศึกษาไว้ แปลว่า DDC ก็จะกลืนไปเป็น SPV ส่วนการถือหุ้นใน SPV หลักๆจะเป็นรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทยถือรวมกัน 60% อีก 40% คงมีทั้งนักลงทุนญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น การทำแบบนี้ช่วยเราได้เยอะจากเดิมเป็นการคุยของเอกชนกับรัฐบาลพม่า แต่ตอนนี้เป็นรัฐบาล-รัฐบาลก็จะทำให้เกิดความมั่นคงกับโครงการอย่างมาก และนักลงทุนก็จะมั่นใจลดเรื่องความขัดแย้งในอนาคตได้" นายเปรมชัย กล่าว
**** เตรียมเซ็นเอ็มโอยูกับผู้จัดจำหน่ายก๊าซแอลเอ็นจีรายใหญ่สุด
นายเปรมชัย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าบริษัทฯจะมีการลงทุนข้อตกลง MOU กับผู้จัดจำหน่ายก๊าซ LNG รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะร่วมเป็นพันธมิตรถือหุ้น 30% ในโครงการสร้าง LNGเทอมินอล หรือ โรงเก็บก๊าซ LNG ก่อนที่จะถูกแปรสภาพส่งไปยังโรงไฟฟ้า รวมทั้งพันธมิตรดังกล่าวจะเป็นผู้ส่งซัพพลาย LNG ในปริมาณ 3 ล้านตันต่อปี ให้แก่โครงการ นอกจากนี้บริษัทพันธมิตรดังกล่าวจะเข้าร่วมทุนถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซ LNG ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทวาย
"อาทิตย์หน้าเราจะเซ็น MOU กับผู้จำหน่าย LNG ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งไม่ใช่กาตาร์และจะร่วมทำ LNG Terminal และจะส่งซัพพลาย LNG เข้าโครงการ และเขาจะร่วมทุนในโครงการด้วย ถือหุ้น 30%" นายเปรมชัย กล่าว
ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซ LNG ในเบื้องต้นจะมีกำลังการผลิต 280 เมกะวัตต์ มูลค่ารวมประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่บริษัท ส่งออกในนิคมอุตสาหกรรม โดยหลังจากนั้นอาจจะมีการขยายโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้นให้มีขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดรวม 8,000 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็นโครงการก๊าซ LNG ไฟฟ้า และก๊าซ LNG โฟร์ ไฟร์ โดยในส่วนของโฟร์ ไฟร์ จะมีขนาด 7.2 พันเมกะวัตต์ มูลค่าเมกะวัตต์ละ 1.5-1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะแบ่งขายในนิคม 3,000 เมกะวัตต์ และอีก 4,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะส่งออกมายังประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลพม่า
*** งานในมือพุ่ง 2.3 แสนลบ. รับรู้รายได้ปีนี้ 25-30%
นายเปรมชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ มีงานในมือคิดเป็นมูลค่า 2.3 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 25-30% ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้รายได้ทั้งปีสูงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 4.7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังมีโครงการที่จะเข้าร่วมประมูลอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เช่น โครงการน้ำ รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น รวมถึงการประมูลรถไฟรางคู่ 7 งาน มูลค่า 5-6 หมื่นล้านบาท การปรับปรุงรางรถไฟ 14 งาน มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท รวมถึงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีเขียว สีชมพู สีส้ม ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ เคยได้รับงานประเภทดังกล่าวแล้วทำให้มองว่ามีโอกาสสูงที่จะยังได้รับงานต่อเนื่อง ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าในปีนี้จะมีงานใหม่ที่เข้าร่วมประมูลคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท
'เรามีงานที่รัฐบาลพูด ก็จะเข้าประมูลเร็วๆนี้ ทั้ง MRT สีเขียว สีชมพู สีส้ม ซึ่งเราเป็นเจ้าเก่าอยู่แล้ว โอกาสที่จะได้ก็สูง การรถไฟทั้งรางคู่ และปรับปรุงราง รวมถึงโครงการน้ำที่รัฐบาลจะทำเราก็มีโอกาสสูงว่าจะได้เยอะ และโครงการ 2 ล้านล้านบาทคงได้ครึ่งหนึ่ง และถ้าผมไม่หยุดก็คงได้มากกว่าครึ่งและมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการลงทุนที่ลงไปแล้วก็เริ่มมีผลคืนมา เพราะฉะนั้นตอนนี้ถือเป็นช่วงโอกาสที่ดีของบริษัทฯ' นายเปรมชัย กล่าว
*** เผยกำลังอยู่ในช่วงศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายได้ประชุมร่วมกับผู้แทนประเทศเมียนมาร์ในด้านการลงทุนระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ในโครงการทวาย เช่น การลงทุนด้านน้ำ และ การก่อสร้างเขื่อนว่าอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์ผลกระทบจากแผ่นดินไหว หากสามารถผลิตน้ำประปาเพื่อใช้ที่วันละ 11 ล้านลูกบาศก์เมตรในราคา 23.5 บาท จะคุ้มค่าการลงทุน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมในแนวทางการใช้ถนนคู่กับทางรถไฟ เพื่อเตรียมรองรับการขยายโครงการในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตามทางฝ่ายไทยได้เสนอให้ปรับลดขนาดถนนที่จะก่อสร้าง เพื่อเชื่อมจากชายแดนประเทศไทยไปท่าเรือทวายระยะทาง 132 กิโลเมตร เหลือ เพียง 2 ช่องจราจร จากเดิมกำหนดไว้ 4 ช่องจราจร เนื่องจากได้มีการปรับรูปแบบโครงการ ดังนั้นในช่วงแรกคาดว่าการจราจรยังไม่มากนัก นอกจากนี้เห็นว่าการลงทุนก่อสร้างถนนนั้นมีผลตอบแทนการลงทุนช้า ทั้งนี้ การปรับลดขนาดถนนดังกล่าวจะช่วยประหยัดเงินลงทุนได้กว่า 30% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท โดยวงเงินลงทุนรวมตามแผนเดิมอยู่ที่ประมาณ 30,000 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเสนอให้ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บค่าผ่านทาง
*** ASP แนะลุยซื้อ เป้าหมาย 8.61 บ.
บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การประชุมร่วมระหว่างคณะทำงานและอนุกรรมการ 6 ชุด ไทย-พม่า เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อตกลงร่วมกันที่จะระดมทุนและขับเคลื่อนโครงการผ่านการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ซึ่งจะเป็นโฮลดิ่ง คัมปะนี และมีการจัดตั้งนิติบุคคลย่อย (SPCs) แยกสำหรับแต่ละส่วนของโครงการเช่น ถนน ท่าเรือ ระบบไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดย ITD ซึ่งเป็นผู้ถือสัมปทานเดิมของโครงการทวาย จะเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนใน SPCs ต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น และสามารถใช้สิทธิในสัมปทานที่มีอยู่ มาแปรเป็นสิทธิในการลงทุนใน SPCs ต่างๆได้ ทั้งนี้คาดว่าพื้นที่โซนอุตสาหกรรมขั้นต้น บนเนื้อที่ 8,000 ไร่ จะเปิดขายพื้นที่ใน 2Q56และน่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานได้ภายใน 3Q57
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนในทวาย จากการให้บริษัท ทวายดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (DDC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ITD เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ มาเป็นโฮลดิ่งคอมพานี โดยมีแกนหลักคือหน่วยงานของรัฐบาลไทยและพม่าและมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นด้วย จะทำให้การระดมทุนเพื่อผลักดันโครงการทวายเป็นไปได้เร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อ ITD ให้สามารถรับรู้ผลตอบแทนจากโครงการทวายได้ ทั้งในฐานะที่เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีโอกาสเข้าไปรับงานก่อสร้างในโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้น รวมถึงยังสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในโครงการต่างๆจากการแปลงสิทธิในสัมปทานที่มีอยู่ มาเป็นทุนแทนการใช้เงินสดแม้ ITD จะต้องถูกลดบทบาทลงไปเป็นเพียงผู้ลงทุนในนิติบุคคลย่อย (SPCs) ก็ตาม โดยฝ่ายวิจัยเชื่อว่าความสำเร็จของโครงการทวาย จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ ITD ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกโครงการมาตั้งแต่ต้นและจะทำให้หุ้น ITD กลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้ง ฝ่ายวิจัยคงแนะนำ ซื้อ โดยประเมิน Fair Valueอิงที่ PBV 3.6 เท่า จะให้ราคาเหมาะสมที่ 8.61 บาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น