อัพราคาหุ้นแบงก์ 6-10%
* งบ Q1/56 แจ่ม บุ๊คปันผลวายุภักษ์-ค่าใช้จ่ายลด
โบรกฯ ปรับเพิ่มเป้าหมายราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ขึ้นอีก 6-10% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า หลังประเมินสินเชื่อปีนี้โตราว 11% ได้อานิสงส์โครงการรถยนต์คันแรก-รัฐบาลเร่งลงทุน-เอกชนขยายงานรับ AEC หนุน คาดกำไรแจ่มตั้งแต่ Q1/56 เป็นต้นไป หลังค่าใช้จ่ายและภาษีนิติบุคคลลด แถมบุ๊คปันผลพิเศษกองทุนวายุภักษ์ ส่วนทั้งปีประเมินกำไรโต 32.5% คงน้ำหนักลงทุนมากกว่าตลาด ระบุ KTB- KK-TCAP เด่นสุด ขณะที่อีก 2 สัปดาห์ลุ้นมูดี้ส์เพิ่มอันดับเครดิตไทย เชื่อส่งผลบวกต่อแบงก์
*** เพิ่มราคาเป้าหมายกลุ่มแบงก์ขึ้นอีก 6-10%
บทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า ได้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยปรับไปใช้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้า (สิ้นไตรมาสแรกปี57) ส่งผลให้ราคาเป้าหมายปรับเพิ่มขึ้นระดับ 6-10% ยกเว้น KTB, KK, และ TCAP ที่มีการปรับเพิ่มประมาณการขึ้นเฉพาะตัว โดยภาพรวมยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อทิศทางการเติบโตของสินเชื่อและผลการดำเนินงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น จึงยังคงน้ำหนักลงทุนมากกว่าตลาด โดยเลือก KTB, KK และ TCAP เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม
*** สินเชื่อรายย่อย-รายใหญ่หนุน
ทิศทางของอุตสาหกรรมยังเป็นขาขึ้น โดยเชื่อว่าภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของการบริโภคในต่างจังหวัด, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ, การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันความต้องการสินเชื่อให้ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยสำหรับปี 56 นี้ ประเมินว่าสินเชื่อภาคการบริโภค (สินเชื่อรายย่อย) จะยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกปี56 โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่จะยังคงได้อานิสงส์ต่อเนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรก ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังปี 56 เชื่อว่าความต้องการสินเชื่อภาคการลงทุน (สินเชื่อภาครัฐและสินเชื่อรายใหญ่) จะเร่งตัวขึ้นจากแผนการลงทุนภาครัฐ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องสู่การขยายการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการลงทุนเพื่อรองรับการเปิด AEC
*** คาดกำไรกลุ่มแบงก์โตราว 32.5%
ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปีนี้จะเติบโตโดดเด่น 32.5% จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของยอดสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียม, ส่วนต่างดอกเบี้ย(NIM) ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย, การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง และการปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% จากเดิม 23% ขณะที่กำไรก่อนการตั้งสำรอง คาดว่าจะเติบโตประมาณ 22.3% และเชื่อว่าอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในทิศทางที่เป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับธนาคารที่คาดว่ากำไรสุทธิเติบโตโดดเด่นที่สุดในปี 56 คือ TMB, TCAP, KTB และ KK ตามลำดับ
*** เริ่มโดดเด่นตั้งแต่ Q1/56 เป็นต้นไป ค่าใช้จ่าย-ภาษีลด
กำไรไตรมาสแรกปี56 กลับมาเติบโตโดดเด่นหลังชะลอตัวลงในไตรมาส 4ปี 55 ที่ผ่านมา โดยกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี55 ที่ผ่านมาหดตัวลงจากการตั้งสำรองพิเศษและการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายตามผลของฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ด้านรายได้ยังคงเติบโตได้ดีทั้งจากการขยายตัวของสินเชื่อ และการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกปี56 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของกำไรสุทธิอย่างมีนัยสำคัญจากแรงส่ง(Momentum)ของการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าใช้จ่ายคาดว่าจะลดลง ทั้งจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง นอกจากนี้อัตราภาษีนิติบุคคลที่ลดลงเหลือ 20% จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยผลักดันกำไรสุทธิให้กลับมาเติบโตอย่างโดดเด่นทั้งเมื่อเที่ยบกับไตรมาสก่อนหน้า และจากช่วงเดียวกันปีก่อน
*** คงน้ำหนักมากกว่าตลาด KTB- KK-TCAP เด่นสุด
ดังนั้น จึงคงน้ำหนัก “มากกว่าตลาด" เลือก KTB, KK และ TCAP เป็นหุ้นเด่น(Top pick) โดยยังคงมุมมอง “เป็นบวก” สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากแรงส่งของการเติบโตของสินเชื่อและผลการดำเนินงานที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง โดยยังคงน้ำหนัก การลงทุนมากกว่าตลาด (Overweight) สำหรับการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์
สำหรับคำแนะนำในหุ้นรายตัว ยังคงคำแนะนำเดิม ยกเว้น TMB ที่ราคาหุ้นขึ้นมาอย่างร้อนแรงนับตั้งแต่ต้นปีจนอยู่ในระดับที่น่าจะสะท้อนภาพการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานแล้ว จึงได้ปรับลดคำแนะนำลงมาเหลือเพียง “ถือ” โดยหุ้นเด่นคือ KTB, KK และ TCAP
" สำหรับหุ้นเด่น เรายังคงเลือก KTB, KK และ TCAP โดยเราชอบ KTB ในประเด็นการลงทุนภาครัฐและการเติบโตอย่างโดดเด่นของผลการดำเนินงาน ส่วน KK มีประเด็นการควบรวมกับ PHATRA และความร้อนแรงของธุรกิจตลาดทุน ขณะที่ TCAP ยังมีมูลค่าที่ถูกที่สุดในกลุ่มและกำไรเติบโตโดดเด่น"
*** คาดสินเชื่อปี 56 โต 11.6%
คาดสินเชื่อและกำไรยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2556 เราเชื่อว่าภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของการบริโภคในต่างจังหวัด, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ, การเปิด AEC ในปี 58 รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันความต้องการสินเชื่อให้ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยสำหรับปี 56 นี้ มองว่าสินเชื่อภาคการบริโภค (สินเชื่อรายย่อย) จะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกโดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่จะยังคงได้อานิสงส์ต่อเนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรก ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าความต้องการสินเชื่อภาคการลงทุน (สินเชื่อภาครัฐและสินเชื่อรายใหญ่) จะเร่งตัวขึ้นจากแผนการลงทุนภาครัฐ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องสู่การขยายการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการลงทุนเพื่อรองรับการเปิด AEC
ทั้งนี้ คาดว่ายอดสินเชื่อในปี 56 จะเติบโต 11.6% ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) น่าจะทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากการเน้นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง (High yield loans) มากขึ้น ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมคาดขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและสินเชื่อ ขณะที่ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองคาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากมีการตั้งสำรองพิเศษในระดับสูงในไตรมาส 4 ปี 55 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ การปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงจาก 23% เป็น 20% จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยผลักดันการเติบโตของกำไรสุทธิปี 2556 ที่คาดว่าจะเติบโต 32.5%
*** เคจีไอ ลุ้นมูดี้ส์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตไทย เชื่อส่งผลบวกกับแบงก์
บทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ ระบุว่า ในกรณีที่มูดี้ส์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตไทย จะส่งบวกโดยตรงต่อหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังลุ้นอีก 2 สัปดาห์ว่า บริษัทมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จะปรับขึ้นอันดับเครดิตไทยเป็นระดับ A3 จาก Baa1 หรือไม่ ซึ่งกระทรวงการคลังมองว่า ไทยควรที่จะได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือขึ้นเป็นระดับ A หรือเทียบเท่ามานานแล้ว หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และเทียบกับอีกหลายประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีกว่าไทย เศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับที่ดีธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง บวกกับหนี้สาธารณะไม่ได้สูงมาก และการเมืองมีเสถียรภาพ จะเป็นปัจจัยบวกต่อการปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือ
*** บล.ฟิลลิป ชี้ปันผลจาก "กองทุนวายุภักษ์" ดันงบไตรมาสแรก
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 55 และไตรมาส 1 ปี 55 อย่างมาก เนื่องจากในปีนี้อัตราการเติบโตของสินเชื่อรายใหญ่และรายย่อยมีสูงมาก อาทิ สินเชื่อจากรถคันแรก ขณะที่ไตรมาส 1 ปีนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์จะมีค่าใช้จ่ายด้านพนักงานและมาร์เก็ตติ้งลดลงจากไตรมาส 4 ปีก่อน รวมถึงหลายธนาคารยังได้ปันผลพิเศษจากกองทุนวายุภักษ์ ทำให้มีอัตราการเติบโตอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการประเมินเป็นตัวเลขว่าจะมีการเติบโตในอัตราเท่าใด ทั้งนี้ หุ้นเด่นที่บริษัทฯ แนะนำ ได้แก่ BBL แนะให้ทยอยซื้อ ในราคาพื้นฐานของปีนี้ที่ 235 บาท เนื่องจากประเมินว่า BBL จะได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ของรัฐบาลและเอกชน รวมถึง BBL มีความพร้อมที่จะเติบโตด้านสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากเป็นธนาคารที่เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อขนาดใหญ่และมีเครือข่ายในต่างประเทศที่พร้อมรองรับลูกค้าที่ลงทุนในต่างประเทศด้วย
TCAP แนะนำให้ทยอยซื้อและให้ราคาพื้นฐานปีนี้ที่ 48 บาท ทั้งนี้ เนื่องจาก TCAP มีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อเช่าซื้อเป็นอันดับ 1 และได้ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ให้กับลูกค้าในโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลสูงถึง 70,000 คัน ประกอบกับบริษัทจะมีรายรับพิเศษจากการขายธุรกิจประกันภัย ซึ่งจะมีรายรับเข้ามาประมาณ 6,000 กว่าล้านบาทด้วย
*** บล.คันทรี่กรุ๊ป ประเมิน 5 แบงก์ใหญ่มีกำไรปีนี้ราว 1.7 แสนลบ. โต 17.5%
นายชัยยศ จิวางกูร ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.คันทรี่กรุ๊ป เปิดเผยว่า คาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารในไตรมาส1 ปี56 จะยังเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตัวเลขการปล่อยสินเชื่อในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาก็ออกมาเติบโตเพิ่มขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศได้ปรับตัวขึ้นกว่าก่อนหน้านี้มาก และคาดว่าผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งถัดไปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อลดแรงกดดันของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นผลเชิงบวกต่อการบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านก็ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกลุ่มธนาคารเนื่องจาก ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำจะทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลดต่ำลง ในขณะที่การเเข่งขันของธนาคารสูงขึ้นทั้งจากการเร่งระดมทุนของภาครัฐ แต่ธนาคารจำเป็นต้องรักษาระดับของเงินฝากเพื่อไปปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น การลดดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ ล่าสุดตัวเลขสินเชื่อของธนาคารในเดือน ม.ค.ก็ออกมาดี และหากเดือน ก.พ.ออกมาดีต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่บริษัทจะทบทวนราคาพื้นฐานของหุ้นกลุ่มธนาคารใหม่ เพราะปัจจุบันราคาหุ้นกลุ่มธนาคารก็เหลืออัพไซด์ของราคาไม่มากแล้ว
โดยหากประเมินแนวโน้มของผลประกอบการหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่งได้แก่ BBL SCB KBANK KTB และBAY คาดว่าปีนี้จะมีกำไรสุทธิรวม 1.7 แสนล้านบาทหรือเติบโต 17.5%เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ TCAP SCB และTISCO
สำหรับ TCAP แนวโน้มกำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตอย่างโดดเด่นจากการขายธุรกิจประกันชีวิตทำให้มีรายรับพิเศษเข้ามากว่า 1.7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรจากการขายครั้งนี้ 5-6 พันล้านบาท โดยประเมินราคาพื้นฐานที่ 49 บาท/หุ้น มีส่วนต่างจากราคาเป้าหมายเหลืออยู่ 6% ส่วน SCB มีจุดเด่นที่ราคาหุ้นมีส่วนต่างจากราคาเป้าหมายเหลือถึง 11% ต่ำกว่ากลุ่มธนาคารและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ประเมินราคาพื้นฐานที่ 196 บาท/หุ้น และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 4.3 หมื่นล้านบาท ส่วน TISCO มีจุดเด่นเรื่องเงินปันผล เพราะมีการจ่ายปันผลเพียงปีละครั้ง โดยงวดสิ้นปี55 จ่ายปันผลที่ 2.40บาท/หุ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น