Economies of Scale
« โรงเรียนสอนเปียโน | MainMonday, 3 June 2013
ในการวิเคราะห์หุ้นหรือเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจนั้น ผมคิดว่าหลักการของ Economies of Scale (EOS) หรือ “การประหยัดเนื่องมาจากขนาด” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ว่าที่จริงสำหรับผมแล้ว นี่เป็นแนวความคิดหรือหลักการที่ผมใช้มากที่สุด เหตุผลก็เพราะว่าขนาดนั้นมักจะก่อให้เกิดความได้เปรียบที่ยั่งยืนมากกว่าเรื่องอื่น ๆ รวมถึงเรื่องของยี่ห้อหรือคุณภาพหรือคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมาก จริงอยู่กิจการหลายอย่างนั้นอิงอยู่กับเรื่องของยี่ห้ออย่างยิ่งยวดตัวอย่างเช่นสินค้าระดับหรูหราสุด ๆ แบบ Super Luxury เช่นกระเป๋าหลุยส์วิตตอง แต่ถ้ามองกันให้ลึกลงไปก็จะพบว่ายังมีปัจจัยที่สำคัญทาบซ้อนอยู่นั่นก็คือความจริงที่ว่า ในบรรดากระเป๋าที่อยู่ในกลุ่มหรูสุด ๆ นั้น หลุยส์วิตตองน่าจะเป็นรายใหญ่ที่สุดและน่าจะใหญ่กว่าเบอร์สองมาก และนี่ก็ทำให้เกิดEOS ซึ่งก็คือ มันทำให้กระเป๋าหลุยส์วิตตองได้เปรียบคู่แข่งในแง่ที่มันสามารถมีรูปแบบที่หลากหลายกว่าคู่แข่งเพราะมันคุ้มที่จะทำ มันทำให้หลุยส์วิตตองมีร้านค้ามากกว่าซึ่งทำให้ผู้คนเห็นมันทั่วโลกซึ่งเท่ากับเป็นการ “โฆษณาสินค้า” ที่กว้างขวางกว่าคู่แข่ง ซึ่งนี่ทำให้ยี่ห้อของหลุยส์วิตตองแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่ตกลงไป ซึ่งก็เท่ากับว่ามันทำให้ความได้เปรียบทางด้านของยี่ห้อของหลุยส์วิตตองมีความยั่งยืน EOS ยังทำให้การผลิตของหลุยส์วิตตองมีราคาต่อหน่วยต่ำกว่าคู่แข่งและทำให้บริษัทกำไรมากขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง กำไรนี้ทำให้กิจการมีเงินสดหรือฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่ทำให้สามารถต่อสู้กับการคุกคามต่าง ๆ ได้ดีกว่าคู่แข่ง นี่ช่วยรับประกันว่ากระเป๋าหลุยส์วิตตองไม่ถดถอยได้ง่าย ๆ
ธุรกิจโทรศัพท์มือถือหรือผมอยากจะเรียกว่า “คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่”นั้น ถ้ามองแบบผิวเผินก็จะดูเหมือนว่าแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดของการใช้งานหรือการออกแบบไม่ได้แข่งกันที่ “ขนาด” ของกิจการ แต่นี่เป็นเรื่องจริงหรือ? ในช่วงหนึ่งที่โนเกียเป็น “ราชัน” นั้น ยอดขายของโนเกียน่าจะสูงมาก อย่างไรก็ตาม มันไม่น่าจะ “ชนะขาด” หรือใหญ่กว่าคู่แข่งอันดับรองมากนัก จุดด้อยก็คือ ตลาดในประเทศอย่างฟินแลนด์นั้นเล็กนิดเดียวทำให้โนเกียต้องพึ่งตลาดต่างประเทศเกือบทั้งหมด และนี่เป็นข้อเสียเปรียบที่สำคัญพอสมควรและทำให้แอปเปิลซึ่งในช่วงแรกโดดเด่นขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดก้าวขึ้นมาแทนที่อย่างรวดเร็วและกลายเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในธุรกิจมือถือ แต่ขนาดของแอปเปิลเองนั้น เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้ทิ้งห่างจากรายที่รองลงมามากจนได้เปรียบชัดเจน ว่าที่จริงซัมซุงนั้นน่าจะมียอดขายมากกว่าแอปเปิลด้วยซ้ำในขณะนี้ ผลก็คือ แอปเปิลเองก็ไม่สามารถ “ครอบงำ” และได้เปรียบคู่แข่งอย่างยั่งยืนในธุรกิจเมื่อเปรียบเทียบกับหลุยส์วิตตอง อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทแอปเปิลมีกำไรมากมายและเก็บเงินสดไว้ “มโหฬาร” ก็เป็นสิ่งที่การันตีว่าแอปเปิลคงไม่แพ้ง่าย ๆ เพราะเงินเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขันทุกด้านรวมถึงเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ที่จะใช้ในการต่อกรกับคู่แข่ง
ถ้าลองมองกว้างขึ้นมาในระดับของประเทศ EOS เองก็มีส่วนสำคัญในการแข่งขันซึ่งจะส่งผลไปถึงการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ มีการพูดกันในช่วงก่อนหน้านี้ว่าประเทศที่จะก้าวหน้าเร็วในช่วงต่อไปจนกลายเป็นพลังทางเศรษฐกิจสำคัญของโลกในอนาคตก็คือประเทศในกลุ่มBRIC ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน เหตุผลมีการพูดกันมากมายแต่ปัจจัยร่วมกันอย่างหนึ่งของทั้งสี่ประเทศก็คือ มันคือประเทศที่มีคนมากที่สุดและมีปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างอื่นค่อนข้างพร้อม ต่อมาก็มีการเพิ่มเติมขึ้นว่าประเทศอย่างอินโดนีเซียหรือไนจีเรียก็จะเจริญเติบโตเร็วและมีความสำคัญในระดับโลกมากขึ้น เหตุผลก็คือ นี่คือประเทศที่มีพลเมืองมากมายและจำนวนคนนับวันจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราการเกิดยังสูงลิ่วกว่าประเทศอื่นมาก
การมีคนมากนั้นทำให้ประเทศพัฒนาเร็วได้อย่างไร? ทำไมในสมัย 40-50 ปีก่อนประเทศที่มีคนมากจึงไม่เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ? คำตอบของผมก็คือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้นก็คือการพัฒนาหรือก่อตั้งธุรกิจเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการขายให้คนอื่นที่มีเงินซื้อ ดังนั้นมันต้องการความรู้หรือเทคโนโลยีในการผลิต มันต้องการผู้ประกอบการที่มีเงินและมีความสามารถ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือมันต้องมีแรงงานมาผลิต ในอดีตนั้น ประเทศที่มีคนมากดังกล่าวนั้นอาจจะมีเทคโนโลยี เงิน และผู้ประกอบการไม่เพียงพอที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณค่าที่ดีได้ นอกจากนั้น คนที่มีเงินพอที่จะซื้อสินค้าเองที่มักเป็นคนในประเทศก็อาจจะมีอย่างจำกัด ทำให้การพัฒนาทำได้ช้า แต่ในยุคปัจจุบันที่เป็นโลกาภิวัฒน์ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง--ยกเว้นคน—สามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของประเทศโดยง่ายเพื่อที่จะหาผลตอบแทนที่สูงที่สุด ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี เงินและผู้ประกอบการทั่วโลกจึงวิ่งไปหาประเทศที่มีคนมาก ไม่ใช่เพื่อที่จะหาแรงงานอย่างเดียว แต่ยังหาตลาดของสินค้าและบริการต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น ประเทศที่มีคนมากจึงได้รับการลงทุนต่าง ๆ มากมาย ตัวอย่างเช่นจีนที่กลายเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่ใหญ่โตที่สุด เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ในอนาคตก็จะผลิตรถยนต์ไม่น้อยทั้ง ๆ ที่ประเทศยังไม่ก้าวหน้ามากนักแต่มันคุ้มค่าที่จะทำเนื่องจาก “ขนาด” ของตลาด
การประหยัดเนื่องจากขนาดหรือ EOS นั้น ในอดีตที่ผมเคยเรียนในมหาวิทยาลัยเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น ภาพของมันมักจะอิงอยู่กับขนาดของโรงงานที่ผลิตสินค้าที่จับต้องได้ แนวความคิดหลักก็คือ โรงงานที่ใหญ่กว่าจะมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าโรงงานขนาดเล็ก แต่เมื่อขนาดของโรงงานหรือกิจการใหญ่ถึงจุดหนึ่ง การประหยัดเนื่องจากขนาดก็จะหมดไป และถ้าทำให้ใหญ่ไปกว่านั้นอีก บางทีต้นทุนกลับจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น โรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมจึงมีขนาดที่ “เหมาะสม” โดยที่โรงงานขนาดที่เล็กเกินไปในที่สุดก็ค่อย ๆ ต้องปิดตัวลง คำว่าโรงงานใหญ่ได้เปรียบจึงมีความหมายน้อยลงไปมาก แนวความคิดเรื่อง EOS ก็น่าจะลดความสำคัญลงไปมาก อย่างไรก็ตาม ในด้านของธุรกิจบริการนั้นผมคิดว่า EOS ยังมีความสำคัญและน่าจะสำคัญยิ่งขึ้นไปอีกเพราะธุรกิจบริการสมัยใหม่นั้นต้องอาศัยระบบไอทีและการตลาดในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ต้นทุนเหล่านี้จะต้องถูก “กระจาย” หรือจัดสรรให้กับลูกค้าแต่ละคนหรือยอดขายแต่ละบาทที่ทำได้ ดังนั้น ยิ่งลูกค้าหรือยอดขายมาก ต้นทุนของสินค้าหรือของบริษัทก็ถูกลง กำไรของบริษัทก็มากขึ้น หรือไม่กิจการก็สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งขันที่มีขนาดเล็กกว่ามาก
ประเด็นสุดท้ายก็คือ EOS ของบริษัทนั้นจะแปลงเป็นกำไรและราคาหุ้นของบริษัทในตลาดได้มากน้อยแค่ไหน? นี่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกำหนดเป็นการทั่วไปได้อย่างแน่นอน แต่ละธุรกิจเองก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นอุตสาหกรรมการผลิต โอกาสก็เป็นไปได้ว่าขนาดอาจจะมีผลไม่มาก โดยทั่วไปในธุรกิจบริการนั้น ผมคิดว่ายิ่งธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยหรือผลดีที่จะได้รับก็มากขึ้น บริษัทที่มีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่พอนั้น นอกจากจะมีต้นทุนต่ำลงแล้ว พวกเขาก็สามารถมี “ลูกเล่น” ได้สารพัดทั้งทางด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การส่งเสริมการขาย และการสร้างภาพพจน์ที่ดีในแง่ของการเป็นผู้นำ จากการสังเกตของผมนั้น กำไรของบริษัทที่มี EOS ที่ดีมากเทียบกับคู่แข่งนั้นจะสูงกว่าบริษัทที่เป็นรองมาก ส่วนราคาหุ้นหรือมองจากค่า PE ก็มักจะสูงกว่า มูลค่าตลาดหรือ Market Cap. ของหุ้นที่มีขนาดใหญ่กว่ามากนั้นมักจะสูงกว่าคู่แข่งระดับรองหลายเท่า ดังนั้น ในการวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียนทุกครั้ง การมองไปถึง EOS จึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น