Friday, 17 May 2013
เทคนิคการใช้ Technical Analysis
« โอกาสทอง...จริงหรือ | Main | หุ้นลงตั้งหลักรับมือชะลอ QE »
นักลงทุนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่พอจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) ก็คือ การวิเคราะห์แนวโน้มหุ้นจากกราฟราคาและปริมาณซื้อขายหุ้น รวมไปถึงกราฟที่เรียกว่า Indicator อีกหลายรูปแบบที่มีนักคิดค้นสร้างสูตรส่วนผสมแล้วเกิดเป็นกราฟที่ช่วยคาดคะเนทิศทาง เช่น RSI MACD ฯลฯ
ที่จริงนอกจากในตลาดหุ้นแล้ว ในแวดวงตลาดค้าเงินตราต่างประเทศ ตลาดล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย เช่น น้ำมัน ทองคำ ฯลฯ ก็ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
จุดสำคัญที่ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ นักลงทุน และนักเก็งกำไรจำนวนมากนิยมใช้การวิเคราะห์เทคนิค (ไม่ว่าจะใช้ร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน หรือใช้เทคนิคล้วนๆ ก็ตาม) ก็เนื่องจากสามารถทำนายทิศทางราคาต่อไปข้างหน้าได้พอสมควร บอกบริเวณราคาที่น่าจะมีแรงขายโต้จากแนวต้าน และบอกราคาที่น่าจะมีคนช่วยกันซื้อจากแนวรับ เป็นต้น
เรียกว่าฟันธงกันจะๆ โดยใช้ทฤษฎีเก่าแก่ที่นักเทคนิคชั้นนำของโลกเขียนไว้ รวมกับผลการสังเกตการณ์หรือผลทดสอบผลลัพธ์ของการใช้เครื่องมือทางเทคนิคแต่ละชิ้น
สำหรับในแวดวงตลาดหุ้นไทยนั้น ผมพบว่ามีการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาแล้วไม่ต่ำกว่า 27 ปี หรืออาจนานกว่านั้นก็ได้ ก่อนที่ผมจะเดินเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย
ประมาณช่วงปี 2529-2530 วันที่ผมยังทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งหนึ่ง และเป็นช่วงที่ผมเริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้นใหม่ๆ มีนักลงทุนจำนวนหนึ่งในตลาดหุ้นที่ได้สนใจใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้ว
ขณะที่ผมและเพื่อนๆ ที่ธนาคารก็ได้ใช้เวลาหลังเลิกงานทำการวิเคาะห์งบการเงินของบริษัทหุ้นที่เราสนใจ และเพื่อความรอบคอบจึงนำข้อมูลวิเคราะห์ทางเทคนิคมาประกอบกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้วย
สมัยนั้นยังไม่มี Software วิเคราะห์เทคนิคแพร่หลายในไทยแบบทุกวันนี้ ผมต้องเก็บดัชนีตลาดหุ้น และราคาหุ้นของตัวที่เราสนใจ และคำนวณหาเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ จากนั้นให้เครื่อง PC ทำเป็นกราฟมานั่งเล็งหาสัญญาณซื้อขายกัน
ปี 2531 ผมได้เข้ามาทำงานเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เต็มตัว ก็พบว่า ช่วงนั้นหลายๆ บล.รวมทั้ง บล.ที่ผมทำงานอยู่มีงานวิเคราะห์ทางเทคนิคบริการลูกค้าแล้ว ด้วย Software Computer ที่ดีขึ้นพอสมควร
ผมเองเริ่มต้นชีวิตนักวิเคราะห์ด้วยการเป็นนักวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐาน แต่มีบางจังหวะของชีวิตทำงานที่ได้รับโอกาสโดดข้ามไปทำงานวิเคราะห์ทางเทคนิคอยู่เต็มๆ ช่วง 2533-2535 ก่อนที่จะโยกกลับมาดูงานวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานควบไปกับการคุมทีมนักวิเคราะห์เทคนิคไปพร้อมกัน
ชีวิตจึงคุ้นเคยกับบรรดานักวิเคราะห์ทางเทคนิครุ่นแรกๆ มากพอสมควร และยืนยันได้เลยว่า ประเทศไทยมีบุคลาการที่มีองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อเล่นหุ้น ไม่แพ้ประเทศย่านเอเซียด้วยกัน
ยิ่งในยุค 15 ปีหลังที่บริการข้อมูลวิเคราะห์ทางเทคนิคแพร่หลายมาก และสะดวกสบายไม่ต้องนั่ง Update ข้อมูลราคาเข้าไปเอง ความสนใจและสะดวกใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคจึงแพร่หลายยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะวิ่งแซงหน้าการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานนะครับ
เพราะในความเป็นจริง การวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานก็แพร่หลายกระจายไปถึงผู้ลงทุนเป็นอย่างมากและมากกว่าทางเทคนิคด้วยซ้ำ รวมถึงบรรดาผู้ลงทุนก็มีความรู้ความสนใจในการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานยิ่งกว่าในยุคอดีต
การวิเคราะห์ทางเทคนิค ก็มีทั้งจุดที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างดี และก็มีจุดโหว่บางมุมที่ต้องระวัง จำเป็นต้องสั่งสมประสบการณ์และความชำนาญจากการเรียนรู้ที่ยาวนานเหมือนๆ กับวิชาความรู้ด้านอื่นๆ
เทคนิคของการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคที่อยากนำเสนอกับคุณผู้อ่านหลายท่านที่ยังอยู่ในช่วงแรกๆ ของการฝึกฝนสนใจวิเคราะห์ทางเทคนิค มีดังต่อไปนี้
1. ไม่ควรใช้กับหุ้นที่มีการซื้อขายน้อย หรือมีคนคุมเกมราคาได้แนวรับกับแนวต้านจะจะไร้ความหมายทันที ถ้าหุ้นนั้นถูกซื้อขายด้วยนักลงทุนจำนวนน้อย หรือเป็นหุ้นเล็กที่มีคนปั่นลากไปลากมาได้
หุ้นที่เหมาะกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคคือ หุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าการซื้อขายโดยธรรมชาติมากๆ และสม่ำเสมอมานาน การคาดคะเนความคิดของคนส่วนใหญ่มีโอกาสถูกต้องมากขึ้นกว่าการคาดคะเนคนแค่ไม่กี่คน
สิ่งที่ต้องศึกษาคือ การเปิดกราฟย้อนหลังหลายๆ ปี และจดบันทึกว่า หุ้นตัวนั้นมักจะ Peak ด้วย RSI หรือ Indicators อื่น) แถวไหน เป็นต้น
ถ้าคุณตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นใดด้วยสัญญาณทางเทคนิค (ที่วิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว) โดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับการพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดทางด้านปัจจัยพื้นฐาน
คุณก็อย่าลืมปิดเกมนั้นด้วยเทคนิคไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนในตอนจบ โดยเฉพาะตอนขาลงนั้น หลายๆ ครั้งที่หุ้นประเทศไทยสามารถลงได้อย่างลึกล้ำและฉับไว
บรรดามือเก๋าในการเก็งกำไร จะมีจุด Stop loss ซึ่งหมายถึงกัดฟันขายปิดเกมเพื่อไม่ให้ขาดทุนเกินกว่านั้น
สัญญาณขายทางเทคนิคที่อาจจะมาจากการตกแนวรับใหญ่ การตกจากเส้นค่าเฉลี่ยที่ใช้ หรือ MACD ตัดลง ฯลฯ ก็เป็นจุดที่บอกชัดเจนสำหรับการตัดสินใจ
ในฐานะที่เคยรับบทวิเคราะห์ทางเทคนิคมาพอสมควร รวมถึงเป็นผู้สอนวิชาวิเคราะห์ทางเทคนิคมาประมาณกว่า 10 ปี ผมไม่คิดว่าจะสามารถใช้เวลาแค่ 1 นาทีดูกราฟหุ้นตัวที่เราไม่ได้ดูอยู่ประจำ แล้วฟันธง ขายไปเลยครับ ซื้อไปเลยครับ มันน่าจะมีจุดโหว่เยอะ
ผมยกตัวอย่างคุณมองกราฟรายวันของหุ้นตัวหนึ่ง มีเส้นเฉลี่ย 4 เส้น มี Indicators อีก 3 ตัว คุณย่อมต้องใช้ความคิดพิจารณาระดับหนึ่ง เช่น พบว่าเป็นสัญญานซื้อ
แต่ถ้าดูภาพที่ใหญ่ขึ้น โดยเรียกกราฟรายสัปดาห์มาดู ก็พบว่ามีกรอบแนวต้านจากเส้นแนวโน้มใหญ่ หรือมี Peak ที่สำคัญมากเมื่อ 2 ปีก่อน รอจ่อเป็นแนวต้านอยู่สูงขึ้นไปแค่ 3% คุณก็ต้องเปลี่ยนใจเชื่อแนวต้านใหญ่มากกว่า เลยไม่ซื้อ
ดังนั้น แนะนำให้โปรดใช้เวลาพิจารณายาวกว่าชั่ววูบ ไม่ว่าคุณจะนิยามตัวเองเป็นนักเก็งกำไรที่สั้นมากก็ตาม
กรองขั้นแรกจากนักวิเคราะห์พื้นฐาน แล้วต่อยอดด้วยสัญญาณเทคนิคที่พิจารณาอย่างดีน่าจะเป็นสูตรสำเร็จที่ดี เช่นเดียวกับที่ผมได้รับฟังว่านักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหลายคนก็ใช้วิธีนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น