เล่นหุ้นตามเซียน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในช่วงเร็วๆ นี้ แนวทางการลงทุนหรือเล่นหุ้นที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุด น่าจะเป็นการลงทุนแบบ Value Investment

เพราะหุ้น Value หรือหุ้นมี "พื้นฐาน" ดีหลายตัว มีราคาปรับขึ้นอย่างโดดเด่น นอกจากนั้น ปริมาณซื้อขายหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมาก หลายตัวกลายเป็นหุ้นยอดนิยมมีปริมาณซื้อขายติดอันดับสูงสุด 1 ใน 10 ของตลาดหุ้นทั้งที่เป็นหุ้นขนาดเล็ก

อะไรทำให้หุ้นคุณค่ากลายเป็นหุ้นยอดนิยม คำตอบผมคิดว่าเกิดจากจำนวนนักลงทุนที่เป็น Value Investor หรือ VI มีมากขึ้นและที่สำคัญกว่าคือ มีเม็ดเงินใช้ลงทุนมากขึ้นมาก นักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้าตลาดช่วงหลังนี้ เริ่มเห็นคุณค่าการลงทุนในกิจการที่ดีและมีราคาถูกให้ผลตอบแทนคุ้มค่า เมื่อเทียบฝากเงินซึ่งให้ดอกเบี้ยน้อยมาก

แต่ปัญหาของนักลงทุนคือจะหาหุ้นตัวไหนที่จะเป็นหุ้น Value ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ ที่จะวิเคราะห์หุ้นได้ลึกซึ้ง ดังนั้น ทางออก คือ คอยดูว่าคนที่วิเคราะห์หุ้นเก่งระดับ "เซียน" ว่า เขาซื้อหุ้นตัวไหน เสร็จแล้วซื้อตาม นี่เป็นวิธีการ "ลอกการบ้าน" ที่ไม่มีครูจับได้ อีกด้านหนึ่งเซียนเอง บ่อยครั้งก็อยากให้ลอกการบ้าน หลายคนพยายามกระจายคำตอบให้คนอื่นลอกด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้ามีคนซื้อหุ้นตามมากๆ หุ้นที่ตนเองซื้อไว้จะมีราคาปรับขึ้น

ดังนั้น ทั้งคนลอกการบ้านและคนให้ลอกต่างก็ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะในช่วงสั้นๆ ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป และนี่คือ สิ่งที่ผมจะพูดถึงการลงทุน "กระแสใหม่" ที่ผมอยากจะเรียกว่าการ "เล่นหุ้นตามเซียน" หรือถ้าจะเรียกให้เท่ขึ้นไปหน่อย คือ Celebrity Investment หรือเรียกย่อๆ ว่า CI ซึ่งเป็นการเล่นหุ้นตามคนดังหรือ "เซียน VI"

เรื่องการเล่นหุ้นตามเซียนนี้ ปีเตอร์ ลินช์ เขียนไว้ในหนังสือ One Up on Wall Street ว่า เขาไม่แนะนำให้นักลงทุนซื้อหุ้นตามเซียนหรือตัวเขาเอง เหตุผลมี 3 ข้อ คือ 1. เซียน หรือปีเตอร์ ลินช์ อาจจะผิด 2. แม้ว่าเขาจะถูก คุณก็ไม่มีทางรู้ว่าเขาจะเปลี่ยนใจเกี่ยวกับหุ้นและขายไปเมื่อไร และ 3. คุณมีข้อมูลที่ดีกว่าและมันอยู่รอบตัวคุณ สิ่งที่ทำให้มันดีกว่า ก็คือ คุณสามารถที่จะติดตามมันได้ เช่นเดียวกับที่ ปีเตอร์ ลินช์ ติดตามหุ้นของเขา

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของลินช์นั้น ผมคิดว่าคนจะปฏิบัติตามน่าจะเป็นคนมีความรู้ หรือมีความสามารถหรือมีความตั้งใจสูงที่จะศึกษาวิธีลงทุนแบบ VI ส่วนคนที่ "เล่นหุ้น" คือ คนที่หวังทำกำไรเร็วในระยะเวลาอันสั้น คงจะไม่เห็นด้วยและคิดว่า CI น่าจะให้ผลได้ดีกว่า

การลงทุนแบบ CI นั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ยากโดยเฉพาะในยุคที่ข่าวสารต่างๆ สามารถกระจายไปได้อย่างรวดเร็วผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ต่างๆ วิธี ก็คือ ขั้นแรก ดูว่าใคร คือ "เซียน" นี่ก็คือ การเข้าไปตามเว็บไซต์หรือสื่อต่างๆ ที่มีการกล่าวขวัญถึงว่าใครสามารถซื้อขายหุ้นทำกำไรได้มากมายขนาดไหนในระยะเวลาอันสั้น

นอกจากนั้น การบอกต่อๆ กันในหมู่นักลงทุนเป็นอีกแนวทางหนึ่งมีประสิทธิภาพ เมื่อกำหนดได้แล้วว่าใครคือเซียน สิ่งที่จะต้องทำต่อมาคือ คอยติดตามว่าเซียนกำลังจะเข้าซื้อหุ้นตัวไหน ซึ่งบางทีก็ไม่ยาก เพราะเซียนจำนวนไม่น้อยพยายามบอกต่ออยู่แล้ว ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

ในบางครั้ง ถึงเซียนจะไม่ได้บอก แต่เนื่องจากเซียนได้เข้าซื้อหุ้นบางตัวจนมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งจะถูกรายงานในเว็บไซต์ของตลาดเมื่อมีการปิดบุ๊คเพื่อการประชุมผู้ถือหุ้น แต่ข้อมูลนี้อาจจะไม่เป็นปัจจุบันมากนัก บางกรณีอาจจะเกิดขึ้นมาแล้วเป็นปีก็เป็นได้ เมื่อกำหนดได้แล้วว่าใครคือเซียน CI แต่ละคนดูเหมือนจะรู้ว่าเซียนแต่ละคนนั้น มี "กระบวนท่า" หรือใช้หลักการลงทุนแนวไหน เช่น ชำนาญทางด้านหุ้นโตเร็ว หุ้นวัฏจักร หุ้นฟื้นตัว หุ้นมีสตอรี่ หรืออื่นๆ รวมถึงระดับของพอร์ตหรือเม็ดเงินที่มักจะเข้าซื้อหุ้นด้วย

ประเด็นคือ CI นั้น มักจะซื้อตามเซียนที่มีแนวคิด หรือ "จริต" ที่สอดคล้องกับตัวเองและไม่ตามเซียน ที่มีแนวทางอีกแบบหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ถ้าตนเองนั้นชอบเล่นหุ้นแบบสั้นๆ ไม่เกินปีหรือไม่เกินหนึ่งเดือน โอกาส คือ เขาจะไม่สนใจเซียนที่ชอบลงทุนระยะยาว แต่จะชอบเซียนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่จะมีผลการดำเนินงานในระยะสั้นที่ดีมากกว่า

เมื่อพบว่าเซียนได้เข้าซื้ออย่างมีนัยสำคัญแล้ว CI "วงใน" นั่นคือ CI ที่อาจจะคุ้นเคยกับเซียนก็จะซื้อตามก่อน ต่อมาข้อมูลที่ว่าเซียนได้เข้าซื้อแล้วก็จะถูก "ถ่ายทอด" ต่อมายัง CI "วงนอก" ที่อาจจะห่างออกมาหน่อย แต่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนบางกลุ่มเช่นที่ติดตามเว็บไซต์การลงทุนอย่างใกล้ชิดซึ่งจะเริ่มมาซื้อตามหลังจากราคาหุ้นเริ่มเคลื่อนไหวรุนแรงขึ้นพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเนื่องมาจากการที่มีแรงซื้อเพิ่มขึ้นมามาก

กระบวนการนี้จะคล้ายๆ กับสิ่งที่ จอร์จ โซรอส พูดถึง นั่นคือ กระบวนการ Reflexivity หรือกระบวนการที่คนในตลาดซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้พื้นฐานหรือมุมมองต่อหุ้นเปลี่ยนไป ทำให้คนมาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะกลับมาเสริมพื้นฐานหรือมุมมองของหุ้นต่อไปอีกต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ ในบางครั้งกระบวนการนี้ก็อาจจะรุนแรงมากขึ้นจนราคาหุ้นกลายเป็นฟองสบู่ เนื่องจาก CI ชุดสุดท้ายที่เข้ามาเล่น

CI ชุดท้ายๆ ก็คือ นักเล่นหุ้นทั่วๆ ไป ที่ได้ข่าวว่าเซียนได้เข้ามาซื้อหุ้นจากสื่อกระแสหลักเช่นหนังสือพิมพ์และอาจจะบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ พวกเขาจะเข้ามาเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาหุ้นเป็นหลัก ด้วยปริมาณการซื้อขายมโหฬาร เนื่องจากเป็นการซื้อขายเป็นรายวันหรืออาจจะเป็นรายนาทีCI กลุ่มนี้จะไม่สนใจเลยว่าหุ้นนั้นยังมี Value หรือไม่ สิ่งที่พวกเขาคาดหรือจับตานั้นมีเพียงเรื่องเดียว นั่นคือ หุ้นตัวนี้ รายใหญ่หรือสปอนเซอร์ ยังเล่นหรือไม่ ถ้ายังเล่นพวกเขาพร้อมเข้ามาเสี่ยง ถ้าเลิกก็ "ตัวใครตัวมัน" เหนือสิ่งอื่นใด เขาคิดว่าเขาจะ "ออก" ทันเสมอ เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหุ้นเมื่อถึงจุดนี้มีสูงมาก

อย่างไรก็ตาม หลายๆ ครั้ง การตกของหุ้นในจุดนี้จะแรงมากจนหนีไม่ทันก็มี การเป็น CI นั้น ในช่วง 2- 3 ปี มานี้ ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นบูมเป็นกระทิง ดูเหมือนว่าจะเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ทำเงินได้ไม่น้อยสำหรับบางคนโดยเฉพาะที่เป็น CI วงต้นๆ แต่อนาคตหลังจากนี้ หุ้นที่เป็น Value อาจจะเหลือน้อยหรือแทบหมดแล้ว และเซียนก็อาจจะผิดพลาดได้ ดังนั้น CI ที่เข้าไปซื้อตามอาจจะพบว่าการทำเงินนั้นยากลำบากมากขึ้นจนถึงกับขาดทุนก็เป็นไปได้โดยเฉพาะ CI วงหลังๆ สำหรับผมแล้ว การเป็น CI นั้น ยากที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว ดังนั้น สำหรับ VI ที่มุ่งมั่นแล้ว การวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตนเองจะดีกว่าการ "ลอกการบ้าน" แน่นอน แม้ว่าเราจะไม่เก่งเท่าเซียน

*****************************

เล่นหุ้นตามเซียน

โลกในมุมมองของ Value Investor

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

วันที่ 17 พฤษภาคม 2554

ที่มา : http://bit.ly/iUDgof

ขอบคุณแหล่งข้อมูลครับ