หุ้นไทยร่วงสวนโลก!
‘ชนิตร’เตือนสตินักลงทุน
10 หุ้นเข้า FTSE Mid-Cap ฝรั่งสับขาขายท้ายตลาด
ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2556 ผู้เข้าชม : 17 คน
หุ้นไทยทำพิลึก เช้าบวกแต่บ่ายร่วงหนักกว่า 43 จุด สวนตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกแห่ง “ชนิตร” เรียกสตินักลงทุนรายย่อยใช้ข้อมูลพื้นฐานบจ.เป็นหลัก อย่าตัดสินซื้อขายหุ้นโดยใช้อารมณ์ เทียบสถิติที่ผ่านมาบจ.ไทยมีสถานะทางการเงินแกร่งขึ้น โดยตัวเลข “เงินสดหรือรายการเทียบเท่า” เพิ่มขึ้นเป็น 9 แสนล้าน เทียบปี 40 มีสูงสุดไม่เกิน 8 หมื่นล้าน รอบนี้มี 10 หุ้น FTSE Mid-Cap แนวรับ 1,426-1,422 จุด
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย วานนี้ (18 มิ.ย.) ปิดที่ 1427.42 จุด ลดลง 43.62 จุด หรือ 2.97% มูลค่าการซื้อขาย 61,645.81 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบัน ซื้อสุทธิ 1,318.99 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ -623.84 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ -1,836.50 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 1,141.36 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติในช่วงครึ่งเช้าซื้อสุทธิ 370 ล้านบาท แต่ภายหลังจากปิดตลาดรายงานตัวเลขเป็นขายสุทธิ 1,836 ล้านบาท
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ความผันผวนในตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยในช่วงนี้เกิดจากความกังวลเรื่องการลดทอน (Tapering) มาตรการของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกและไม่ได้ทำให้พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เปลี่ยนแปลง
“อยากให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนช่วงนี้ และอยากให้ใช้ข้อมูลพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนเป็นตัวตัดสิน โดยไม่อยากให้ใช้อารมณ์ในการลงทุน เนื่องจากหุ้นไทยส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จากการสะสมมายาวนานนับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 การที่ราคาหุ้นร่วงหนักในช่วง 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมาไม่ได้หมายความว่าพื้นฐาน บจ.เปลี่ยนแปลง แต่เป็นเรื่องปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบมากกว่า” นายชนิตร กล่าว
โดยเฉพาะด้านผลการดำเนินงานและฐานะการเงิน ซึ่งนักลงทุนควรแยกแยะผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ออก ทั้งนี้ งบดุล (Balance sheet) บจ.ไทยยังแข็งแกร่ง ดูจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) (ไม่รวมกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน) ณ ไตรมาส 1/2556 ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.29 เท่า เทียบกับช่วงวิกฤติปี 2540 ที่ 5.08 เท่า
“หากเทียบระดับค่า D/E แสดงให้เห็นสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น เทียบช่วงปี 40 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน บจ.ไทย (SET และ mai) มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดสูงถึง 908,080 ล้านบาท คิดเป็น 4.05% ของสินทรัพย์รวม เทียบกับช่วงวิกฤติปี 2540 ที่มีเพียง 70,000-80,000 ล้านบาท ประมาณ 2.20% ของสินทรัพย์รวม” นายชนิตร กล่าว
ทั้งนี้ หลังวิกฤติปี 2540 ผู้ประกอบการ บจ.ไทยมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา การรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้อยู่ในระดับสูงและคงสัดส่วนหนี้สินในระดับต่ำ ทำให้ บจ.ไทยแข็งแรง สามารถผ่านเหตุการณ์ความผันผวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังเห็นผู้ประกอบการ บจ. ทยใช้ความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้เกิดประโยชน์ต่อการควบรวมกิจการผ่านการกู้ยืมเงิน (Leverage) ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กิจการเติบโตและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ขณะที่โครงสร้างการเงินยังอยู่ในระดับเหมาะสม ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) มีการประกาศการควบรวมกิจการโดยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนไม่เกิน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารและสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ถ้านำการกู้ยืมเงินดังกล่าวไปรวมคิดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของ บจ. โดยรวมอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นไม่มาก จาก 1.29 เท่า มาที่ประมาณ 1.34 เท่า
“ราคาหุ้นที่ผันผวนในช่วงนี้ ปัจจัยพื้นฐานของ บจ. ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง บจ.ไทยยังมีโครงสร้างการเงินที่เหมาะสม มีสภาพคล่องทางการเงินและศักยภาพในการเติบโตที่ดีอยู่ อย่างไรก็ตาม หากราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานก็เป็นโอกาสสำหรับ บจ. ในการพิจารณาโครงการการซื้อหุ้นคืน” นายชนิตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีการประกาศการประชุม Fed เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2556 เสร็จสิ้นลง ทำให้เกิดความกังวลเรื่องการลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) รวมกับการลดพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศโดยต่อเนื่อง ทำให้ SET Index และ mai Index ปรับตัวลงแรงในช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบัน (ณ 14 มิ.ย. 2556) SET Index อยู่ที่ 1,465.27 จุด ลดลงจากจุดสูงสุดของปี (1,643.43 จุด) ถึง 178.16 จุด หรือลดลง -10.84% ขณะที่ mai Index อยู่ที่ 428.24 จุด ลดลงจากจุดสูงสุดของปี (510.44 จุด) ถึง 82.20 จุด หรือลดลง -16.10%
โดยยอดขายของนักลงทุนต่างประเทศที่สูง บางวันขายสุทธิสูงถึง 5-6 พันล้านบาท รวมถึงดัชนีที่ลดลงเร็วทำให้นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกและรีบขายหุ้นออก (Panic) โดยเฉพาะกับหุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 และยังส่งผลกระทบถึงหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Non-SET50 และ mai) ทำให้ราคาหุ้นหลายตัวปรับลดลงไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มการเติบโต
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ และฟุตซี่ กรุ๊ป (FTSE) ผู้จัดทำดัชนีระดับสากล ประกาศผลการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ชุดใหม่ที่ใช้ในการคำนวณ FTSE SET Index Series สำหรับรอบครึ่งหลังของปี 2556 โดยกำหนดรายชื่อหุ้นที่จะเข้าคำนวณ FTSE SET Mid-Cap Index รวม 10 บริษัท ดังนี้
หุ้นบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC, หุ้นบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, หุ้นบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA, หุ้นบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK, หุ้นบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART, หุ้นบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS
หุ้นบริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL, หุ้นบริษัท ยูนิ เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV, หุ้นบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE และหุ้นบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF
นายสมชาย เอนกทวีผล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า วันนี้คาดว่าดัชนีจะทรงตัวในกรอบจำกัด หลังจากที่มีการปรับตัวลงแรงวานนี้ ประกอบกับยังรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามและส่งผลระยะยาวต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย คือ การรอดูท่าทีของรัฐบาลหลังการรายงานการขาดทุนจำนำข้าว ซึ่งก่อนหน้านี้มูดี้ส์ออกมาเปิดเผยว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของไทย แต่ในอนาคตปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อดัชนีอย่างแน่นอน
ด้านกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้ถือ แต่หากจะลงทุนก็ต้องระมัดระวังความผันผวนของตลาดฯ ทั้งนี้ ประเมินแนวรับ 1,426-1,422 จุด และแนวต้านที่ 1,450-1,470 จุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น