หุ้น-พันธบัตรทั่วโลกป่วน! วิตกเฟดถอนคิวอี
หุ้น-พันธบัตรทั่วโลกป่วน! วิตกเฟดถอนคิวอี
ตลาดเงินทั่วโลกผันผวน หุ้นพากันร่วงทุบสถิติในรอบปี รับเฟดยุติคิวอี กลางปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดผันผวนช่วงสั้น
การแถลงของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้นักลงทุนเลิกวิตกกังวลเรื่องความชัดเจนในมาตรการคิวอี แต่คำแถลงการณ์สิ้นสุดของคิวอี ได้ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลก
ตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงตั้งแต่ช่วงเปิดตลาด โดยดัชนีเอ็มเอสซีไอ สำหรับตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก ยกเว้นญี่ปุ่น ร่วง 3.58% แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนพ.ค. ปีที่แล้ว รับข่าวคำแถลงของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการเปิดเผยผลสำรวจเบื้องต้นของเอชเอสบีซี ระบุภาคการผลิตของจีนชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนในเดือนมิ.ย. ขณะที่ยอดสั่งซื้อใหม่หยุดชะงักลง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจจีนชะลอตัวในไตรมาส 2
ตลาดหุ้นโตเกียวปิดตลาดลดลง 230.64 จุด หรือ 1.74% ปิดที่ 13,014.58 โดยร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ที่ 13,245.22 เช่นเดียวกับตลาดหุ้นฮ่องกงปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน โดยดัชนีหั่งเส็ง ร่วงหนัก 604.02 จุด หรือ 2.88% อยู่ที่ 20,382.87 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. 2555
ตลาดหุ้นอาเซียนร่วงทั้งภูมิภาค ตามตลาดหุ้นทั่วโลก ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ปรับตัวลงกว่า 2% เช่นกัน ขณะที่มาเลเซีย และเวียดนามปิดในแดนลบด้วย ส่วนดัชนีหุ้นไทยปิดร่วงลง 2.47% ฉุดดัชนีทำสถิติปิดต่ำสุดรอบปีนี้
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นมีการปรับฐานครั้งใหญ่หลังจากที่เฟดมีแผนจะถอนมาตรการคิวอี ซึ่งการปรับพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติดังกล่าวน่าจะยังคงมีอยู่ต่อเนื่องในวันนี้ด้วย
สำหรับตลาดหุ้นในยุโรป ช่วงเปิดตลาดวานนี้ (20 มิ.ย.) ร่วงกว่า 2% ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน โดยดัชนี FTSEurofirst 300 ของหุ้นกลุ่มบลูชิพทั่วยุโรป ร่วงถึง 2.1% แตะระดับต่ำสุดของวันที่ 1,155.94 ซึ่งใกล้ระดับต่ำสุดรอบ 2 เดือนที่ 1,154.30 ในปลายเดือนเม.ย.
ราคาพันธบัตรญี่ปุ่นร่วงตามสหรัฐ
ราคาพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (เจจีบี) ปรับตัวลงตามราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน และกดดันตลาดหุ้นปรับลดลง
อัตราผลตอบแทน เจจีบี ประเภท 10 ปี ทรงตัวที่ 0.810% หลังจากขึ้นไปแตะจุดสูงสุดวานนี้ 0.850% โดยอัตราผลตอบแทนยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับสถิติต่ำสุดที่ 0.315% ที่ทำไว้หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 4 เม.ย.
นายโทโมฮิสะ ฟุจิกิ นักยุทธศาสตร์การลงทุนอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร บีเอ็นพี พาริบาส์ กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่ออัตราผลตอบแทนเจจีบี
เฟดชะลอคิวอีปีนี้-ปิดฉากปีหน้า
นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน 2 วัน ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้เฟดเริ่มต้นชะลออัตราการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในช่วงต่อไปในปีนี้ และจะยุติลงโดยสิ้นเชิงในช่วงกลางปีหน้า
นายเบอร์นันเก้ ยืนยันว่า เฟดใกล้ที่จะปรับลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรจากระดับ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นและราคาพันธบัตรร่วงหนักและหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน
นายเบอร์นันเก้ กล่าวว่า เศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราปานกลาง น่าจะส่งผลให้ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อไป ในขณะที่แรงกดดันทางเศรษฐกิจลดน้อยลง และเขากล่าวเสริมว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับเป้าหมายระยะยาวที่เฟด ตั้งไว้ที่ 2%
การที่เฟดแสดงความเต็มใจที่จะปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการคิวอี แสดงให้เห็นว่าเฟดมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในความแข็งแกร่งและความยั่งยืนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐ โดยนับตั้งแต่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับใกล้ 0% ในเดือนธ.ค. 2551
"ปัจจุบันนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดคาดว่า จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราการเข้าซื้อพันธบัตรรายเดือนลงในช่วงต่อไปในปีนี้ และถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงต่อไปยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของเราในปัจจุบัน เราก็จะยังคงปรับลดอัตราการเข้าซื้อลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า และยุติโดยสิ้นเชิงในช่วงกลางปีหน้า" นายเบอร์นันเก้ กล่าว
ชี้คิวอีขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐ
นายเบอร์นันเก้ กล่าวอีกว่า อัตราการว่างงานน่าจะลดลงจากระดับ 7.6% ในปัจจุบัน สู่ระดับใกล้ 7% เมื่อถึงเวลาที่เฟดยุติการเข้าซื้อพันธบัตร และหากสถานการณ์ในอนาคตพิสูจน์ให้เห็นว่าเฟดคาดการณ์ในทางบวกมากเกินไป เฟดก็สามารถยุติการปรับลดอัตราการเข้าซื้อพันธบัตร หรืออาจจะปรับเพิ่มอัตราการเข้าซื้อได้อีกครั้ง
นายเบอร์นันเก้ กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่เชื่อว่า เฟดควรจะถือครองสินทรัพย์จำนองที่เคยเข้าซื้อไว้ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบพิเศษต่อไป เมื่อใดก็ตามที่เฟดตัดสินใจจะคุมเข้มนโยบายการเงิน หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเฟดในวันที่ 18-19 มิ.ย. คณะกรรมการเอฟโอเอ็มซี ก็ได้แสดงความเห็นในทางบวกมากยิ่งขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ เมื่อเทียบกับความเห็นที่เคยแสดงไว้ในการประชุมประจำวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.
นายเบอร์นันเก้ ย้ำว่าการเข้าซื้อพันธบัตรในอัตราที่ลดลงจะยังคงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกล่าวว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกนานก่อนที่เฟดจะตัดสินใจเริ่มต้นยุติการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นายเบอร์นันเก้กล่าวอีกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
"เกณฑ์ตัวเลขที่ตั้งไว้นี้ เป็นเพียงปัจจัยที่จะทำให้เฟดพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่จะบีบบังคับให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย"
ชี้ตลาดผันผวนจากเงินไหลกลับสหรัฐ
นายแอกเซล เมิร์ค ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทเมิร์ค อินเวสต์เมนท์ กล่าวว่า นายเบอร์นันเก้ ต้องการจะสื่อว่าการทำเช่นนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการคุมเข้มนโยบายการเงิน แต่ตลาดอาจจะไม่ได้มองในแบบเดียวกัน
ด้านนายยูจิ ไซโตะ ผู้อำนวยการฝ่ายอัตราแลกเปลี่ยนจากเครดิต อะกริโคล กล่าวว่านายเบอร์นันเก้ให้ความชัดเจนมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่พุ่งขึ้นจะกระตุ้นให้มีแรงซื้อดอลลาร์โดยรวม ขณะที่ทิศทางของดอลลาร์ในขณะนี้ถูกกำหนดไว้แล้ว
"ความผันผวนอาจจะยังคงอยู่ในระดับสูง จนกว่าพันธบัตรและหุ้นจะมีเสถียรภาพ แต่ทันทีที่ปฏิกิริยารอบแรกบรรเทาลง ตลาดก็จะมีทิศทางที่ชัดเจน"
นายเบอร์นันเก้ได้เสนอแนวคิดเรื่องการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วกว่าคาดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วน โดยเฉพาะตลาดของประเทศเกิดใหม่ ขณะที่โครงการซื้อพันธบัตรจำนวนมหาศาลของเฟดเป็นปัจจัยที่ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงพุ่งขึ้นทั่วโลก
นักลงทุนรู้สึกกังวลกับแนวโน้มของเศรษฐกิจ และสินทรัพย์เสี่ยงของประเทศเกิดใหม่ อาทิ หุ้น ซึ่งกำลังประสบกับปริมาณเงินทุนไหลออก ขณะที่เฟดได้ลดมาตรการกระตุ้น แต่นักลงทุนอีกหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งขึ้นจะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเศรษฐกิจโลกในที่สุด
นักวิเคราะห์กล่าวว่าความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นคืนกลับมา แต่อาจเห็นความผันผวนในระยะสั้น ขณะที่เม็ดเงินอาจไหลออกไปยังตลาดสหรัฐ
น้ำมันร่วงหลุด 98 ดอลล์
ราคาน้ำมันดิบสหรัฐร่วงลงต่ำกว่าระดับ 98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากเฟดส่งสัญญาณอาจจะปรับลดคิวอี โดยในช่วงเช้าวานนี้ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือนก.ค. ที่ตลาดนิวยอร์กดิ่งลง 0.96 ดอลลาร์ มาที่ 97.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากปิดวันก่อน ลดลง 0.20 ดอลลาร์ มาที่ 98.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่ขยับแตะระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 9 เดือนที่ 99.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ที่ตลาดลอนดอนร่วงลง 1.12 ดอลลาร์ อยู่ที่ 105.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากปิดวานนี้ ขยับขึ้น 0.10 ดอลลาร์ อยู่ที่ 106.12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น