วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สัปดาห์หน้ารู้ใครทุบCPALL ลือก๊วนวีไอเทขายล็อตใหญ่

สัปดาห์หน้ารู้ใครทุบCPALL
ลือก๊วนวีไอเทขายล็อตใหญ่

ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 202 คน 

สัปดาห์หน้ารู้ใครทุบหุ้น CPALL หากเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องแจ้ง ก.ล.ต. ภายใน 3 วัน ด้าน “ดร.นิเวศน์” แจงข่าววีไอขายหุ้น CPALL เป็นแค่ข่าวลือ ระบุพื้นฐานหุ้นดีไม่เปลี่ยนแปลงเน้นถือยาว ค่าเงินบาทอ่อนกระทบดีลซื้อแม็คโครจิ๊บจ๊อย ด้านโบรกฯมองหุ้นซีพีออลล์ร่วงสะท้อนปัจจัยลบหมดแล้ว แนะซื้อถือยาวให้ราคาเป้าหมาย 60 บาท

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้น บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยนับตั้งแต่ช่วงวันที่ 18 มิถุนายน ราคาหุ้นปิดที่ 38.50 บาท ลบไป 2 บาท ต่อมาวันที่ 19 มิ.ย. ราคาหุ้นปิดที่ 37.50 บาท ลบไป 1 บาท และวานนี้ (20 มิ.ย.) ราคาหุ้นปิดที่ 34.50 บาท ลบไป 3 บาท
แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของหุ้น CPALL มีกระแสข่าวลือออกมาว่า นักลงทุนวีไอเทขายหุ้นออกมาล็อตใหญ่ ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และลงมากกกว่าภาวะตลาดฯแบบมีนัยยะ ซึ่งเชื่อว่าหากมีผู้ถือหุ้นใหญ่ขายออกมา จะต้องมีการแจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายใน 3 วันทำการ นับจากวันที่มีการเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมาถือว่าเต็มมูลค่าแล้ว ดังนั้น การปรับตัวลดลงมาจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีนักลงทุนวีไอ 2 คนขายหุ้นบมจ.ซีพีออลล์ หรือ CPALL นั้น เป็นเพียงแค่ข่าวลือ
“เรื่องที่นักลงทุนวีไอขายหุ้นซีพีออลล์ออกมานั้น เป็นเพียงแค่ข่าวลือ ขณะที่มองว่าหุ้นซีพีออลล์พื้นฐานยังไม่เปลี่ยน ยังคงแข็งแกร่งอยู่”
ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า กรณีที่มีนักลงทุนมองว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอาจกระทบต่อดีลซื้อหุ้นแม็คโครนั้น เป็นเพียงแค่ผลกระทบเพียงครั้งเดียวและเป็นระยะสั้น ไม่มีนัยสำคัญแต่อย่างใดต่อราคาหุ้น
โดยในการประชุมผู้ถือหุ้นซีพีออลล์ ที่ผ่านมาผู้บริหารกล่าวกับผู้ถือหุ้นว่า บมจ.แม็คโคร มีรายได้เฉลี่ยปีละ 3-4 พันล้านบาท ก็พอจ่ายดอกเบี้ยได้แล้ว ซึ่งใช้เวลาจัดการเรื่องหนี้ให้เร็วที่สุด จัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นแผนช่วยลดหนี้ทางหนึ่ง ด้านราคาหุ้น CPALL ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กระแสข่าวว่านักลงทุนวีไอรายใหญ่ขายหุ้นออกมา ปัจจุบันนักลงทุนวีไอที่ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ นายพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี ถือหุ้นจำนวน 54,034,000 หุ้น สัดส่วนร้อยละ 0.60 และนางเพาพิลาส เหมวชิรวรากร ภรรยาดร.นิเวศน์ ถืออยู่ 45,000,000 หุ้นสัดส่วนร้อยละ 0.50
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส มองว่าราคาหุ้น CPALL สะท้อนปัจจัยลบระยะสั้นแล้ว แนะ “ซื้อ” ซึ่งฝ่ายวิจัยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อภาพการเติบโตระยะยาวของ CPALL ที่จะแข็งแกร่งมาก จึงยืนยัน “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 60 บาท นอกจากนี้ มูลค่าพื้นฐานในกรณีเลวร้ายสุดยังอยู่ที่ 54 บาท ซึ่งยังมี Upside อยู่มาก
ทั้งนี้ จากประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินบาทช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบธุรกรรมการกู้ยืมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ วงเงินสูงสุด 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ CPALL เพื่อใช้ในการชำระเงินค่าซื้อกิจการ MAKRO ราว 90% ของเงินที่ซื้อ MAKRO ทั้งหมดที่เหลืออีก 10% จะมาจากกระแสเงินสดภายในกิจการ ทั้งนี้ ราคาซื้อหุ้นและราคา Tender MAKRO กำหนดไว้ที่ราคา 787 บาทต่อหุ้น
อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ CPALL ทำข้อตกลงซื้อหุ้น MAKRO จากผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MAKRO อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 28.6181 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผลกระทบของเงินบาทอ่อนค่า ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันมาอยู่ที่ 30.894 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนตัวลงราว 8% ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่า CPALL จะต้องแบกภาระขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมาก หรือแบกรับภาระหนี้ในรูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย
จากการเปิดเผยของบริษัทเบื้องต้น พบว่าวงเงินกู้ 6 พันล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ยอดที่จ่ายให้แก่ผู้ถือใหญ่กลุ่ม SHV (ถือ 64.35%) จะมีการจ่ายเป็นทั้งในรูปดอลลาร์สหรัฐ และรูปเงินบาท โดยการจ่ายในรูปสกุลสหรัฐ จะตกลงจ่ายที่ $27.5 ต่อหุ้น MAKRO คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 28.6181 บาท ทั้งนี้ หากพิจารณาจากโครงสร้างการถือหุ้น MAKRO พบว่า SHV ถือหุ้น MAKRO โดยตรง 36.3% ที่เหลืออีก 28.05% ถือโดยทางอ้อมผ่านบริษัทในไทยส่งผลให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า การชำระค่าหุ้นในรูปเงินสกุลสหรัฐจะมีเพียง 36.3% ของจำนวนหุ้น MAKRO ทั้งหมดเท่านั้น
และ 2.ยอดที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 35.65% จะชำระในรูปเงินบาท โดย CPALL ยืนยันว่ายอดเงินกู้เพื่อชำระค่าหุ้นเป็นสกุลเงินบาทได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้หมดแล้วที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 28.6181 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพราะ ณ เวลาขณะนั้น เงินบาทยังมีแนวโน้มทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนที่จ่ายเป็นดอลลาร์ แม้บริษัทจะไม่ได้เปิดเผยว่าป้องกันความเสี่ยงไว้แล้วเท่าไหร่ แต่หากสมมติกรณีเลวร้ายสุด คือไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้เลย ซึ่งมีอยู่ราว 2,396 ดอลลาร์สหรัฐ (36.3%x240 ล้านหุ้นx$27.5) แต่ภายหลังเงินบาทกลับมีทิศทางอ่อนค่า ทำให้บริษัททยอยปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของการจ่ายเงินในรูปสกุลดอลลาร์ด้วย แต่มีหลายอัตราแลกเปลี่ยนไล่ตั้งแต่ 28.6 บาท ถึงมากกว่า 29 บาท/ดอลลาร์
โดยบริษัทมีเป้าหมายจะที่ป้องกันความเสี่ยงให้ครบ 100% ดังนั้น ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน จะเกิดจากส่วนต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนที่ป้องกันความเสี่ยงในภายหลังที่อัตราสูงกว่าที่ระบุในสัญญาที่ 28.6181 บาท/ดอลลาร์ บวกกับส่วนที่ยังไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้ เฉพาะยอดเงินกู้เพื่อจ่ายในรูปสกุลสหรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ ทุกๆ 1 บาท ที่อ่อนค่า จะทำให้เกิดภาระหนี้ในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นมากสุด 2,396 ล้านบาท ซึ่งกรณีเลวร้ายสุด หากไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงในส่วนดังกล่าวเลย เงินบาทที่อ่อนค่าสู่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ จะเกิดภาระหนี้เพิ่มขึ้นราว 2.38 บาท/ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินที่ต้องซื้อ MAKRO เพิ่มขึ้นราว 3% จากเดิม 1.88 แสนล้านบาท เป็น 1.94 แสนล้านบาท และกดดันกำไรปี 2556 ลดลงราว 1% จากภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในงวด 2Q56 หรืองวด 3Q56 บริษัทอาจมีการบันทึกค่าใช้จ่ายด้านที่ปรึกษาการเงินในการซื้อ MAKRO เกิดขึ้น ซึ่งเบื้องต้นฝ่ายวิจัยคาดไว้ที่ราว 0.5% ของมูลค่า MAKRO หรือราว 944 ล้านบาท ทั้งนี้ หากค่าใช้จ่ายดังกล่าวมากกว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัย รวมถึงผลกระทบของค่าเงินบาทที่อ่อนตัวและทำให้ดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งยังไม่รวมอยู่ในประมาณการ เชื่อว่ากรณีเลวร้ายสุด กำไรสุทธิในปีนี้จะต่ำกว่าประมาณปัจจุบันราว 11% แต่ยังเพิ่มขึ้น 13% YoY

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น