วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ฟันธง‘เฟด’ยืดQE ตลาดทั่วโลกดีดกลับ นักวิเคราะห์เชื่อจะทบทวนอีกครั้งตุลาคม แล้วทยอยลดขั้นบันได

ฟันธง‘เฟด’ยืดQE
ตลาดทั่วโลกดีดกลับ
นักวิเคราะห์เชื่อจะทบทวนอีกครั้งตุลาคม แล้วทยอยลดขั้นบันได

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2556 
ผู้เข้าชม : 9 คน 

นักวิเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งสำนักข่าวใหญ่อย่างบลูมเบิร์ก และรอยเตอร์ ฟันธงพร้อมกันว่า เฟดจะไม่มีการลดขนาดใช้มาตรการผ่อนคลาย QE อย่างแน่นอนไปจนถึงเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งจะมีการทบทวนใหม่ ด้วยเหตุผล 2 ประการ การจ้างงานยังอ่อนไหวเพราะจีดีพีสหรัฐต่ำกว่าคาด และเงินเฟ้อสหรัฐต่ำสุดในรอบ 53 ปี และหากเดือนตุลาคมจะลดจริงก็จะเป็นขั้นบันไดเพื่อให้เกิดเสถียรภาพ คาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะเอเชียวันนี้ดีดกลับแรง เพราะกระแสความมั่นใจ หลังจากผันผวนนานหลายวัน แต่อาจจะไม่คึกคักเหมือนต้นปี

การประชุม 2 วันของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งตลาดทุนทั่วโลกจับตามมอง มีกำหนดเสร็จสิ้นในเช้าวันที่ 20 มิถุนายน ตามเวลาในประเทศไทย แต่ระหว่างที่การประชุมยังไม่ยุติ บรรดา “แหล่งข่าววงใน” และนักวิเคราะห์ของสำนักการเงินต่างๆ เริ่มมีข้อสรุปในลักษณะฟันธงในทิศทางเดียวกันว่า ที่ประชุมของเฟดจะยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE 3 ต่อไปอีกจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคมปีนี้ จึงจะมีการทบทวนอีกครั้งว่าจะลดการใช้มาตรการดังกล่าวลง
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก และรอยเตอร์ สอบถามความเห็นจากหลายแหล่ง เพื่อทำการประมวลผลข้อสรุปที่ค่อนข้างตรงกันว่า มีความเชื่อมั่นอย่างถึงที่สุดว่า การที่มีปัจจัยสำคัญ 2 ประการในระบบเศรษฐกิจสหรัฐคือ อัตราการว่างงานที่แม้จะดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ล่าสุดต่ำกว่า 2% ในปีนี้ถือต่ำสุดในรอบ 53 ปี นับแต่สมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้ ทำให้ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการ QE3 ต่อไป
มาตรการ QE3 หมายถึงการที่เฟดทำการพิมพ์ธนบัตรออกมาเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเข้าซื้อพันธบัตรกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในการลดการว่างงานตามเป้าหมายให้เหลือ 7.4% ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับใกล้ 0% นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2008 แต่ส่งผลเสียเพราะทำให้งบดุลของเฟดมีขนาดเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า สู่ 3.3  ล้านล้านดอลลาร์
ล่าสุด นักวิเคราะห์ของธนาคารบาร์เคลย์ส คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐอาจเติบโตในปีนี้ในระดับแค่ 2.3% ต่ำกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้ ว่าจะอยู่ที่ 2.6% ซึ่งหากเป็นระดับดังกล่าว การจ้างงานของสหรัฐจะต่ำลง และไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายลดการว่างงงานในสหรัฐลงเหลือแค่ 7.4% ตามที่ตั้งเอาไว้
ตลอดเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน มีสัญญาณชัดเจนว่า อัตราการการจ้างงานในสหรัฐเติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และผู้บริโภคยังคงจับจ่ายใช้สอยต่อไป แต่แรงกดดันจากมาตรการปรับขึ้นภาษีและปรับลดงบรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของสหรัฐอยู่ในภาวะไร้ทิศทาง ไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก โดยที่เฟดระบุว่า จะอยู่ที่ระดับ 1.3% ในไตรมาสที่สามและ 1.5% ในไตรมาสที่สี่ ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานโดยตรง 
นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของสหรัฐ 83 คน ให้ข้อมูลร่วมกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า การว่างงานของสหรัฐในระยะนี้ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.6%  จะไม่ลดลงถึงระดับ 7.4%         จนกว่าจะถึงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ในเดือนตุลาคม ซึ่งเฟดจะทำการทบทวนมาตรการ QE3 พอดี
แรงผลักดันที่จะให้เฟดลดมาตรการ QE3 มาจากเหตุสำคัญอย่างเดียวคือ งบดุลของเฟดมีขนาดเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า สู่ 3.3  ล้านล้านดอลลาร์ โดยผ่านทางการเข้าซื้อพันธบัตร ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อความน่าเชื่อถือทางการเงินของเฟดโดยตรง เพราะการพิมพ์ปริมาณเงินออกสู่ตลาดมากเกินขนาด อาจจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวอย่างสุ่มเสี่ยง จนกระทั่งนายเบอร์นันเก้ ประธานเฟด ต้องออกมาแถลง ในเดือนพ.ค. ซึ่งถูกมองว่ากระตุ้นการคาดการณ์ของนักลงทุนที่ว่า เฟดอาจจะปรับลดขนาด QE ลง ส่งผลให้ตลาดทุนทั่วโลกผันผวนอย่างหนักต่อเนื่อง
                 นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์การลงทุนในสหรัฐหลายเสียง ระบุพร้อมกันว่า หลังการประชุมเฟดรอบนี้   นายเบอร์นันเก้มีแนวโน้มที่จะกล่าวย้ำถึงคำว่า การชะลออัตราการเข้าซื้อพันธบัตร ซึ่งหมายความว่า เฟดจะยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป แตกต่างจากคำว่าการคุมเข้มนโยบายการเงิน  ซึ่งหมายความว่าเฟดตัดสินใจยุติการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว
จากสถานการณ์ในที่ประชุมเฟด ทำให้นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้ว่าเฟดจะยังคงใช้มาตรการ QE3 ต่อไป ก็อาจจะวางพื้นฐานสำหรับการปรับลดขนาดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรในการประชุม FOMC หลังจากผ่านกลางเดือนตุลาคมไปแล้ว
ระยะเวลาสำรับการทบทวนมาตรการ QE3 นั้น มีความเห็นแตกต่างกัน กล่าวคือในผลสำรวจของรอยเตอร์ระบุว่า จะไม่ก่อนการประชุมต้นเดือนมกราคมปีหน้า แต่บลูมเบิร์กกลับระบุชัดเจนว่า น่าจะเป็นเดือนตุลาคมที่จะถึง
แม้จะแตกต่างกันในเงื่อนเวลา แต่ทั้งสองสำนักข่าวก็ระบุตรงกันว่า มาตรการลดการใช้ QE3 จะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง เพราะจากเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จะลดลงเหลือ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แล้วทยอยลดแบบขั้นบันไดเมื่อการว่างงานทะลุเป้าหมาย 7.4% แล้ว
ท่าทีเชิงบวก ทำให้คาดกันว่า หลังจากนายเบอร์นันเก้ประกาศทิศทางของเฟดในเช้าวันนี้เสร็จแล้ว จะส่งผลให้ตลาดวอลล์สตรีทปรับตัวพุ่งสูงขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อตลาดเอเชีย เนื่องจากมีการคาดเดากันว่า หากต่ออายุการใช้    QE3 ออกไปจนถึงปลายปีนี้ แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในการเก็งกำไรจะกลับมาในเอเชียระลอกใหม่ แม้จะไม่แรงเท่ากับต้นปีนี้ แต่จะส่งผลดีให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือกว่าภาวะพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ไทยหลายสำนักประเมินว่า ความเป็นไปได้ 2 ทางในกรณีนี้คือ หากเป็นการใช้ QE3         ต่อไป จนถึงปลายปี 2556 แรงซื้อของต่างชาติในไทยที่มีเหลือไม่มากในเวลานี้ จะกลับเข้ามาหนุนเนื่องให้ดัชนีเดินหน้าทะลุแนวต้าน 1,450 จุด ไปสู่จุดเหนือ 1,500 จุดได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนยังแข็งแกร่งอย่างมาก และค่าพี/อีตลาดหุ้นไทยปัจจุบันอยู่แค่เพียง 15%    และค่าพี/อีล่วงหน้าอยู่ที่เพียง 13 เท่า เทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วยังต่ำอยู่มากโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารนั้น ปัจจุบันค่าพี/อีอยู่ที่ระดับ 12  เท่า และพลังงานอยู่ที่ 10  เท่า เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น